พิชญ์-อุเชนทร์’ ถกการเมืองเผด็จการสู่เผด็จการภาคปชช. ชี้ทางออกต้องสร้างปชต.คุณภาพ

‘พิชญ์-อุเชนทร์’ แตกปมการเมืองสู่เผด็จการภาค ปชช. ชี้ทางออกคือการมี ปชต.ที่มีคุณภาพ

เมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 28 ตุลาคม ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ จัดงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 23 และ เทศกาลหนังสือเด็กและเยาวชน ครั้งที่ 12 เป็นวันสุดท้าย ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก เหล่านักอ่านทยอยเดินทางเข้างานต่อเนื่องทั้งวัน ด้านเวทีเทรียมจัดเสวนา “จากการเมืองวิทยาถึงเผด็จการภาคประชาชน” วิยากรโดย ผศ.ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เขียน “เผด็จการวิทยา” และนายอุเชนทร์ เชียงเสน  อาจารย์ สำนักวิชารัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ผู้เขียน “การเมืองภาคประชาชน”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีผู้สนใจรับฟังเสวนาจำนวนมาก รวมถึง นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ น.ส.พรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรคอนาคตใหม่ นางวีรพร นิติประภา นักเขียนดับเบิลซีไรต์ ร่วมฟังด้วย

ผศ.ดร.พิชญ์กล่าวว่า หนังสือเล่มนี้ถูกเขียนมาก่อนและถูกเขียนซ้ำ เพราะเคยเขียนเป็นตอนต่างๆ ลงในมติชนรายวัน ตนเขียนขึ้นก่อนการรัฐประหารไม่กี่เดือน ภายหลังการรัฐประหารมีความเข้มข้นขึ้นโดยมีธีมที่ชัดเจนขึ้น จากนั้นมีมีโอกาสไปเรียนหนังสือ ได้เรียนวิชาเปลี่ยนระบอบจากแถวอเมริกา ว่าด้วยการเปลี่ยนผ่าน แต่ข้อถกเถียงไกลขึ้น กลายเป็นงานที่อธิบายว่าทำไมเผด็จการถึงกลับมาและคงทน เป็นธีมใหญ่ที่ตนอาศัยจังหวะเขียนแต่ละสัปดาห์ หนังสือเล่มนี้ถูกรวมเล่มราว 2 ปีแล้ว สุดท้ายเสร็จด้วยลูกศิษย์ช่วยคัด ปรับใหม่ ร้อยใหม่ สร้างธีมใหม่ พร้อมอธิบายสั้นๆ ง่ายๆ ว่า การศึกษาเรื่องเผด็จการมีความสำคัญในโลกมากขึ้น เราไม่ออกเผด็จการง่ายๆ ประการที่สองคือ ต้องการให้คำว่าเผด็จการเป็นคำที่ใครๆ ก็พูดได้ เป็นอาการอย่างหนึ่งของระบอบการเมือง ไม่ใช่ระบอบการเมืองที่ตรงข้ามกับประชาธิปไตย

Advertisement

“ที่ศึกษาลึกซึ้งเพราะเผด็จการมีตรรกะของมัน ไม่สามารถเข้าใจได้ง่ายๆ ผมไม่เคยเชื่อว่าสังคมไทยมีวิธีคิด หรือมีความเป็นไปอย่างวงจรอุบาทว์ ในทุกๆ รอบที่เราวนกลับ เพื่อนำไปสู่สิ่งใหม่ เราไม่เคยคิดว่าจะมีระบอบแบบประยุทธ์ ไม่เคยคิดว่าผู้นำที่ตลกแบบนี้อยู่มาได้ถึง 4 ปี หรือถามกลับกันว่าเราเคยมีผู้นำที่ตลกเช่นนี้หรือไม่ มันเปลี่ยนไปเร็ว เราไปสู่สิ่งที่เรียกว่า ประเทศเราหลุดจากดาวพลูโตไปแล้ว ทุกคนอยู่ในยานที่ไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น หรือคนบนยานจะลุกขึ้นมาทำอะไร ผมอยากให้ทุกคนเชื่อเฉยๆ ว่า สิ่งที่ผมพูดเป็นเรื่องตลกเพราะเราอยู่ในสังคมตลก เวลาเราพูดถึงเผด็จการอย่าพูดถึงความชั่วร้าย แต่มีหลายเรื่องที่มีความสำคัญ

“เผด็จการไม่ใช่จุดที่เรามาโยนด่าอย่างเดียวว่าเขาเป็นเผด็จการ แต่ต้องถามต่อว่าเป็นเผด็จการอย่างไร คิดยังไง เราจะอยู่ ต่อรอง หรือเปลี่ยนสิ่งนี้อย่างไร แต่ตอนแรกต้องเข้าใจมันก่อน สิ่งที่เราต้องการไม่ใช่ประชาธิปไตย ทางออกของเผด็จการคือประชาธิปไตยที่มีคุณภาพ เช่น ประชาธิปไตย+สวัสดิการ เป้าหมายของประชาธิปไตยเชิงหลักวิชาคืออิสระ แต่ความอิสระไม่ใช่สิ่งเดียวที่ทำให้คุณอยู่ในโลกได้ บางครั้งมนุษย์ต้องการความมั่นคง โดยเฉพาะถ้าไม่เอาทหารแบบที่เป็นอยู่ คุณจะอธิบายประชาธิปไตยที่สร้างความมั่นคงได้อย่างไร จะอธิบายได้อย่างไรว่าประชาธิปไตยนำไปสู่ความมั่นคงได้เช่นกัน ประชาธิปไตยไม่ใช่เรื่องของการเลือกตั้ง แม้การเลือกตั้งจะเป็นจุดตั้งต้นที่ต้องมี แต่ต้องมากกว่านั้น เช่น สิทธิเสรีภาพ การคุ้มครองเสียงข้างน้อย ผมพยายามใช้คำง่ายๆ คือศีลของประชาธิปไตย เป็นศีลที่จะไม่ละเมิดมัน” ผศ.ดร.พิชญ์กล่าว

นายอุเชนทร์กล่าวว่า ขอบคุณมติชนที่ตัดสินใจพิมพ์ ซึ่งหนังสือเล่มนี้มาจากวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโทที่จบไปแล้วเมื่อปี 2555 ทั้งนี้ ก่อนรู้ว่าต้องขึ้นเวทีกับ ผศ.ดร.พิชญ์ ผมพยายามทำความเข้าใจกับหนังสือเผด็จการวิทยา โดย ผศ.ดร.พิชญ์พยายามอธิบายว่า โลกไม่ได้เปลี่ยนผ่านเผด็จการไปสู่ประชาธิปไตย ซึ่งโลกไม่ได้อยู่ในทิศทางนี้ ของผมสนใจในลักษณะเดียวกัน แต่เป็นอีกมุมหนึ่ง เรามีความเชื่ออย่างหนึ่งว่าประชาสังคมซึ่งหมายถึงสมาคม การรวมตัวของกลุ่มคนต่างๆ จะเป็นพลังสำคัญที่ทำให้เราออกจากเผด็จการหรือทำให้เป็นประชาธิปไตยได้ แต่หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 สิ่งที่ปรากฏในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมา เป็นประจักษ์พยานให้เราอย่างหนึ่งว่า การเข้มแข็งของประชาสังคมไม่ได้เป็นในทิศทางนั้น อย่างไรก็ตาม สังคมไทยไม่ได้เริ่มจากความรุนแรง แต่เริ่มจากเชิดชูสิทธิเสรีภาพ เชิดชูความเสมอภาค เชิดชูประชาธิปไตย แต่แล้ววันหนึ่งกลายมาเป็นอีกอย่างหนึ่ง นั่นคือ สิ่งที่เป็นพันธมิตรเพื่อประชาชนและประชาธิปไตย และ กปปส.กลายเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ประชาธิปไตยไทยเราเป็นแบบนี้ แต่การด่าหรือประณามเขาแบบนี้ไม่ช่วยอะไรเลย ต้องศึกษา และพยายามเข้าใจเขา

Advertisement

“ผมพยายามเข้าใจเขาผ่าน 3 ทางคือ ดูว่าพื้นฐานคนเหล่านี้เป็นอย่างไร ซึ่งเขามีข้อจำกัดบางอย่าง โดยข้อจำกัดนั้นคือโครงสร้างที่เรียกว่าการเมืองภาคประชาชน อยู่ภายใต้ความใฝ่ฝันที่สูงส่ง อยากเปลี่ยนแปลงสังคม เมื่อเจอข้อจำกัดดังกล่าวทำให้เขาไปไหนไม่ได้ 2.ดูอุดมการณ์และความคิดของพวกเขา เชื่อว่าความคิดบางอย่างถูกปิดไว้ และ 3.ดูปฏิสัมพันธ์ กับการเปลี่บนแปลงทางการเมือง” นายอุเชนทร์กล่าว

นายอุเชนทร์กล่าวต่อว่า ตอนนี้ขบวนการเคลื่อนไหวยังมีอยู่ แต่การเมืองภาคประชาชน ซึ่งเป็นวาทกรรม เป็นความหมายที่ถูกยึดโยงโดยคนกลุ่มหนึ่งกลับไม่ได้รับความสำคัญแล้ว เมื่อก่อนเราเห็นการเมืองภาคประชาชนก็ยังมีความหวังว่าจะรุ่งเรือง เป็นประชาธิปไตย อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวชอบเพลงประเทศกูมี เนื่องจากภายใต้สังคมเผด็จการ ตัวอย่างของเพลงนี้เป็นสิ่งที่ให้ความหวังกับเรา การมีคนรุ่นใหม่ซึ่งเป็นใครก็ไม่รู้ แต่ส่งผลสะเทือนได้ถึงระดับนี้ ด้านหนึ่งบอกว่าเผด็จการไม่ได้เข้มแข็งจริง ด้านหนึ่งบอกว่าไม่ได้มี ผศ.ดร.พิชญ์ ไม่ได้มีแค่ผมที่ต่อต้านเผด็จการ แต่มีคนเหล่านี้เต็มไปหมด

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image