รมว.แรงงานเชิญหน่วยเกี่ยวข้อง เร่งขับเคลื่อน ม.83 ตามมติ ครม. เดินหน้าแก้ปัญหาแรงงานประมง

เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน ที่ห้องประชุม ศ.นิคม จันทรวิทุร ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมการขับเคลื่อนมาตรการเร่งด่วนชั่วคราว (มาตรา 83) เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานประมงทะเล โดยมี นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน นางเพชรรัตน์ สินอวย รองปลัดกระทรวงแรงงาน รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการจัดหางาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นต้น ร่วมประชุม ทั้งนี้ มีการประชุมทางไกลผ่านทางจอภาพ (Video Conference) ใน 22 จังหวัดชายทะเล ด้วย

พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคประมงทะเล โดยมอบหมายให้กระทรวงแรงงานเป็นหน่วยงานหลักในการประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยกระทรวงแรงงานเสนอใน 3 แนวทางคือ แนวทางที่ 1 ขยายระยะเวลาการทำงานให้กับแรงงานประมงทะเลที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรและได้รับอนุญาตทำงานตามมาตรา 83 แห่งพระราช-กำหนดการประมง พ.ศ.2558 กลุ่มที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติ จำนวน 11,000 คน ซึ่งระยะเวลาการอยู่ในราชอาณาจักรจะหมดอายุในวันที่ 30 กันยายน 2561 ออกไปอีก 2 ปี ถึงวันที่ 30 กันยายน 2563 อนุญาตครั้งละ 1 ปี ดำเนินการในลักษณะศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) ใน 22 จังหวัดชายทะเล มีแรงงานต่างด้าวมายื่นขอขยายระยะเวลาการทำงานจำนวนทั้งสิ้น 6,082 คน เป็นกัมพูชามากที่สุดจำนวน 4,565 คน รองลงมาเป็นเมียนมา 1,397 คน และลาว 120 คน โดยจังหวัดที่มีผลการดำเนินการมากที่สุด 5 อันดับคือ 1. ระยอง 2. ตราด 3. ชลบุรี 4. ปัตตานี 5. สงขลา แนวทางที่ 2 นำเข้าแรงงานต่างด้าวในกิจการประมงจากประเทศกัมพูชา ลาว เมียนมา เป้าหมาย 42,000 คน ผลการดำเนินการ ยื่นคำร้องขอนำเข้าแรงงาน 14,322 คน ส่งเรื่องไปดำเนินการสถานทูต 9,614 คน ยื่นขอรับใบอนุญาตทำงานแล้ว 1,772 คน ส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างดำเนินการ แนวทางที่ 3 มาตรการเร่งด่วนชั่วคราว (ม.83) อนุญาตให้แรงงานต่างด้าวที่ถือหนังสือเดินทาง (Passport) หนังสือเดินทางชั่วคราว (Temporary Passport) หนังสือรับรองสถานะบุคคล (Certificate of Identity) เอกสารใช้แทนหนังสือเดินทาง (Travel Document) ที่ยังไม่หมดอายุ อยู่ในราชอาณาจักรเพื่อทำงานในกิจการประมงทะเล เป็นเวลา 1 ปี โดยใช้หนังสือคนประจำเรือ (Seabook) เป็นใบอนุญาตทำงาน

เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ครม.ได้มีมติเห็นชอบแนวทางการดำเนินการแก้ไขปัญหาตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอคือ ออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเพื่อให้แรงงานประมงทำหนังสือคนประจำเรือ ตามมาตรา 83 แห่ง พรก.การประมง ออกประกาศกระทรวงมหาดไทย เพื่อให้คนต่างด้าวมายื่นขอรับ Seabook เพื่ออยู่ในราชอาณาจักรไทยตามมาตรา 17 แห่ง พ.ร.บ.คนเข้าเมือง โดยคุณสมบัติคนต่างด้าวต้องมีหนังสือเดินทางหนังสือเดินทางชั่วคราว เอกสารรับรองบุคคล หรือเอกสารเดินทางที่ยังไม่หมดอายุ โดยแรงงานจะได้รับหรือไม่ได้รับอนุญาตหรือการอนุญาตสิ้นสุดแล้วก็ตาม มีระยะเวลาดำเนินการรวม 60 วัน โดยเริ่มดำเนินการให้นายจ้างมาลงทะเบียนแจ้งความต้องการจ้างแรงงานตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน 2561 และดำเนินการครบทุกขั้นตอนในศูนย์ OSS เป็นเวลา 60 วัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 3 ธันวาคม –31 มกราคม 2562 ณ สำนักงานประมงจังหวัด 22 จังหวัดชายทะเล

Advertisement

เพื่อให้มติ ครม.ดังกล่าวเกิดการขับเคลื่อน กระทรวงแรงงานจึงได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุมเพื่อพิจารณาแนวทางการดำเนินการ ซึ่งที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาขั้นตอนการดำเนินการดังนี้ 1. จัดทำทะเบียนประวัติ โดยสำนัทะเบียนอำเภอหรือท้องถิ่น 2. ตรวจสุขภาพ โดยโรงพยาบาลที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด 3. ตรวจสอบสัญญาจ้าง โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน 4. สแกนม่านตา โดยสำนักงานจัดหางาน 5. ทำ Seabook ชั่วคราว ใช้ร่วมเป็นใบอนุญาตทำงาน (Work Permit) โดยสำนักงานประมงจังหวัด 6. รับบัตรสีชมพู ที่สำนักทะเบียน (ต้องมีใบรับรองแพทย์ ทร.38/1 และ Seabook มาแสดง)

รมว.แรงงาน กล่าวในตอนท้ายว่า การประชุมในวันนี้จะเป็นการซักซ้อมความเข้าใจให้กับผู้ปฏิบัติงาน และผู้ที่เกี่ยวข้องของหน่วยงานต่างๆ เพื่อสร้างการรับรู้และเข้าใจ เพื่อให้การแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานประมงเป็นไปด้วยความเรียบร้อยต่อไป

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image