Brain Talk : Gerrymandering

เกิดคำถามขึ้นอย่างมากสำหรับการแบ่งเขตเลือกตั้งที่เพิ่งประกาศออกมา หลายพรรคการเมืองออกมาท้วงติง ว่าพื้นที่ในหลายจังหวัดมีการแบ่งเขตการเลือกตั้งที่ผิดปกติ บางจังหวัดมีลักษณะกระจุยกระจาย ผิดไปจากเดิมอย่างมาก ยกตัวอย่างเช่น นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต. ตั้งข้อสังเกต จ.สุโขทัย เขต 2 พื้นที่ต่อเนื่องระหว่าง อ.ทุ่งเสลี่ยม และ อ.บ้านด่านลานหอย เป็นพื้นที่แคบๆ กว้าง 200-300 เมตร เป็นภูเขา ไม่มีเส้นทางคมนาคม ก็ถูกเอามานับรวมเป็นเขตเลือกตั้ง

หรือกรณี นายประเสริฐ จันทรรวงทอง อดีต ส.ส.นครราชสีมา ตั้งข้อสังเกต ในเขต อ.เมืองนครราชสีมา ถูกซอยย่อยออกเป็น 4-5 เขตเลือกตั้ง ขณะที่ อ.ปากช่อง ที่มีจำนวนประชากรเท่ากับ 1 เขตเลือกตั้ง กกต.ไปตัดบางตำบลออก หรือที่ จ.อุบลราชธานี ที่ นายอิสระ สมชัย รอง หน.ปชป. ระบุว่าไม่ควรนำ อ.ม่วงสามสิบ และ อ.เขื่องใน 2 อำเภอใหญ่ รวมกัน

ทั้งนี้ การรุมตั้งคำถามจากหลายฝ่ายที่เกิดขึ้นอย่างมาก ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการใช้อำนาจแบ่งเขตหลังมีคำสั่ง ม.44 ขยายเวลาและคุ้มครอง กกต. ให้ประกาศถือเป็นที่สิ้นสุดและไม่ผิดกฎหมาย จนหลายฝ่ายชี้ว่า เป็นกรณีที่มีศัพท์ภาษาอังกฤษเรียกว่า เจอร์รีแมนเดอริง (Gerrymandering) หมายถึง การแบ่งเขตเลือกตั้งแบบพิลึกกึกกือ หรือเอาเปรียบ

ต้นกำเนิดของศัพท์นี้ ย้อนกลับไปในปี 1812 ในการเลือกตั้งวุฒิสภาของรัฐแมสซาชูเซตส์ เอลบริดจ์ เจอร์รี่ (Elbridge Gerry) ผู้ว่าการรัฐในขณะนั้น ได้ออกกฎหมายเปลี่ยนแปลงเขตเลือกตั้งวุฒิสภาเพื่อประโยชน์แก่เพื่อนสมาชิกพรรค จนถูกสื่อมวลชนวาดการ์ตูนล้อเลียน โดยเขตเลือกตั้งใหม่รูปร่างดูเหมือนตัวซาลาแมนเดอร์ (Salamander) จึงมีการเอาชื่อมาผสมกันเรียกใหม่ว่า เจอร์รี่แมนเดอร์ (Gerry-mander) เพื่ออธิบายการแบ่งเขตเลือกตั้งที่มีรูปร่างพิลึกกึกกือดังกล่าว

Advertisement

จะขอยกตัวอย่างอธิบายเพื่อให้เห็นว่า เจอร์รีแมนเดอริง ทำงานได้อย่างไร

สมมุติว่ามีเมืองๆ หนึ่ง ประชาชนมีความคิดทางการเมืองแบ่งเป็น 2 ขั้ว 60% ของจำนวนประชากรสนับสนุนพรรคสีขาว และอีก 40% สนับสนุนพรรคสีดำ เมืองๆ นี้แบ่งเขตเลือกตั้งเป็น 5 เขต สามารถแบ่งเขตเลือกตั้งได้ 3 ทางเลือก

ทางเลือกแรก คือ การแบ่งตรงตามสัดส่วนประชากร จากวิธีนี้ ส.ส. 5 คน จะมาจากพรรคสีขาว 3 คน และมาจากพรรคสีดำอีก 2 คน วิธีนี้จัดว่ายุติธรรมที่สุด ไม่ใช่วิธีการแบบเจอร์รีแมนเดอริง

Advertisement

ทางเลือกต่อมา คือ เจอร์รีแมนเดอริง แบบเข้าข้างพรรคสีขาว กรณีนี้คือพรรคสีขาวมีอำนาจควบคุมการแบ่งเขตเลือกตั้ง โดยขีดเส้นแบบกระจายให้ทุกเขต มีฐานเสียงของพรรค เหนือกว่าพรรคสีดำ เมื่อยึดหลักเสียงข้างมากเกิน 50% ของผู้มาใช้สิทธิ แม้พรรคสีขาวมีประชาชนเลือก 60% ก็สามารถกวาดที่นั่ง ส.ส. ทั้ง 5 คนได้ โดยที่พรรคสีดำ แม้มีประชาชนเลือก 40% ก็ไม่ได้ ส.ส.แม้แต่คนเดียว

อีกหนึ่งทางเลือก คือ เจอร์รีแมนเดอริง แบบเข้าข้างพรรคสีดำ ใช้วิธีตรงกันข้าม แม้พรรคสีดำจะมีประชาชนหนุน 40% แต่มีอำนาจควบคุมการแบ่งเขตเลือกตั้ง ก็ขีดเส้นให้ประชากรที่หนุนพรรคสีขาวไปกระจุกตัวอยู่ใน 2 เขตเลือกตั้ง จนชนะขาดลอย ได้ ส.ส. 2 คน ส่วน 3 เขตเลือกตั้งที่เหลือ ขีดเส้นแบ่งแบบกระจาย ก็ให้ประชากรหนุนพรรคสีดำมีคะแนนเหนือกว่า แม้ไม่ชนะขาดลอยเหมือน 2 เขตที่พรรคสีขาวชนะ แต่ด้วยกติกาประชาธิปไตยที่ยึดเสียงข้างมาก เกิน 50% ก็ทำให้พรรคสีดำสามารถกวาด ส.ส. ได้ถึง 3 ที่นั่ง จาก 5 ที่นั่งนั่นเอง

ทั้งนี้ เจอร์รีแมนเดอริง ไม่ใช่เรื่องใหม่ในประวัติศาสตร์การเลือกตั้ง โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกาเกิดขึ้นมานานมากกว่า 200 ปี ในประเทศเจริญแล้วอย่างในฝรั่งเศส เยอรมนี แคนาดา ก็มี ล่าสุดที่โด่งดังคือการเลือกตั้งในมาเลเซีย (ที่แม้แบ่งเขตเลือกตั้งแบบพิลึกกึกกือแต่ก็ยังแพ้เลือกตั้ง)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image