ภท.ชูธงแก้กม.ประมูล 5G ก่อนผู้ประกอบการถอดใจ เหตุราคาสูงไร้เหตุผล

ภท.ชูธงแก้กม.ประมูล 5G ก่อนผู้ประกอบการถอดใจ เหตุราคาสูงไร้เหตุผล แนะ ไทยต้องเตรียมทรัพยากรให้พร้อม ไม่ให้ตกขบวนยุคดิจิทัล

เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม ที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ โฆษกพรรคภูมิใจไทย(ภท.) และอดีตรองประธาน กสทช.กล่าวในงานสัมมนาวารสารวิชาการ หรือ NBTC Journal 2018 เรื่อง “5G นำไทยสู่ไทยแลนด์ 4.0” ว่า ในฐานะที่อยู่ในทีมยุทธศาสตร์ด้านดิจิทัลของพรรค และมีประสบการณ์โดยตรงในด้านนี้ คิดว่าการเปลี่ยนผ่านสู่ 5G เป็นเรื่องที่ลึกซึ้งในเชิงเศรษฐกิจและสังคม ต่างจากการเปลี่ยนแปลงจากยุค 1G, 2G, 3G และ 4G ซึ่งระบบ 5G ไม่เพียงแต่ทำให้การส่งข้อมูลรวดเร็วขึ้นอย่างก้าวกระโดดเท่านั้น แต่จะทำให้ตัวเราเชื่อมต่อกับอุปกรณ์และสิ่งของต่างๆ รอบตัวเราได้ จนทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูลอย่างชาญฉลาดจนทำให้มนุษย์สามารถทำงานได้อย่างอัตโนมัติและเรียลไทม์มากขึ้น ซึ่งประเทศที่สามารถสร้างเครือข่าย 5G และใช้ประโยชน์จากมันได้ก่อน ก็จะกลายเป็นประเทศที่ก้าวไปสู่เศรษฐกิจใหม่ได้เร็วกว่าประเทศอื่น

พ.อ.เศรษฐพงค์กล่าวต่อว่า ประเทศไทยมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องแก้ไขกฎหมายการจัดสรรคลื่นความถี่ 5G อย่างเร่งด่วนให้สำเร็จก่อนปี พ.ศ.2562 ซึ่งประเทศต่างๆ ทั่วโลกได้มีการเริ่มขยายโครงข่ายระบบ 5G กันแล้ว ซึ่งอาจจะทำให้ประเทศไทยตกขบวน และไม่สามารถนำพาประเทศไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 ได้ เนื่องจากหากยังมีการประมูลคลื่นในรูปแบบเดิมที่จะทำให้ราคาคลื่น 5G สูงมากแบบไร้เหตุผลในการทำธุรกิจ และจะทำให้ไม่มีผู้ประกอบการรายใดเข้าร่วมประมูล 5G เลย ในส่วนของพรรค ภท.โดยทีมยุทธศาสตร์ดิจิทัล เรามีแนวคิดด้านดิจิทัลเวิลด์ที่ได้เตรียมเรื่องการแก้ไขกฎหมายในการจัดสรรคลื่นความถี่ 5G ไว้แล้ว 

“ทั่วโลกจะเริ่มปูพรม 5G ตั้งแต่ปี 2019 จะทำให้เกิดบริษัทเล็กๆ แต่ชาญฉลาด และมีพนักงาน คนรุ่นใหม่โดยมีการเชื่อมต่อตลอดเวลาอย่างเรียลไทม์ จนเกิดธุรกิจรูปแบบใหม่ ที่ให้บริการดีกว่า ถูกกว่า เร็วกว่า ดังนั้น นโยบายและยุทธศาสตร์ของประเทศควรที่จะให้ความสำคัญกับการสร้างทักษะใหม่ของแรงงานให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีได้อย่างเท่าทัน ซึ่งเราไม่สามารถปฏิเสธและหยุดยั้งความก้าวหน้าของมันได้” โฆษกพรรค ภท.กล่าว

Advertisement

พ.อ.เศรษฐพงค์กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดคำถาม เช่น คนทำงานในโรงงานและพนักงานออฟฟิศที่มีทักษะที่เหมาะสมกับตลาดแรงงานนั้นจะเปลี่ยนไปหรือไม่ พวกเขาเตรียมพร้อมรับมือกับสภาพการจ้างงานที่มาพร้อมกับคำว่า ยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 หรืออุตสาหกรรม 4.0 แล้วหรือยัง ยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาทักษะของทรัพยากรมนุษย์รูปแบบใดที่ประเทศต่างๆ ควรนำมาใช้ในการพัฒนาแรงงานในศตวรรษที่ 21 จึงเป็นความท้าทายของผู้นำและผู้บริหารในวันนี้ ดังนั้นเราจึงต้องการผู้นำและผู้บริหารที่เห็นอนาคต และเตรียมการเพื่ออนาคตได้อย่างชัดเจน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image