“อิทธิพร”เผย มติกกต.ส่งศาลรธน.ฟันปม รมต.ในรัฐบาลคสช.ถือหุ้น ขัดกฎหมาย

“อิทธิพร” เผย กกต.มีมติส่งศาลรธน.วินิจฉัยปม 3 รมต. กับ1อดีตรมต.ปมถือหุ้นสัมปทานรัฐขัดรธน. ไม่ขอเปิดเผยมติเสียงข้างมากหรือเอกฉันท์

เมื่อวันที่ 11 มกราคม ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวยอมรับว่า กกต. ได้มีมติส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีของม.ล.ปนัดดา ดิศกุล อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และนพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ สิ้นสุดลงหรือไม่ จากกรณีถือหุ้นสัมปทานรัฐ เข้าข่ายกระทำการขัดกันแห่งผลประโยชน์ขัด รัฐธรรมนูญ มาตรา 186 ประกอบมาตรา 184 วรรคหนึ่ง (2)และมาตรา170 วรรคสาม แต่ขอที่จะไม่เปิดเผยว่าเป็นการเห็นตามที่คณะกรรมการไต่สวนเสนอหรือไม่และกกต.มีมติเป็นเอกฉันท์หรือเสียงข้างมาก

“ในการพิจารณา ไม่ได้มีปัญหาอะไร เป็นการพิจารณาไปตามเนื้อหา รายละเอียดทุกประเด็นที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะเมื่อมีประเด็นใหม่ที่ศาลรัฐธรรมนูญพึ่งได้ตัดสินไป กกต.ก็คำนึงถึง ศาลรัฐธรรมนูญ และเหตุผลในคำวินิจฉัยนั้นด้วย อันไหนเป็นกรณีเหมือนกัน เราก็ต้องมองไปตามที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มองเอาไว้ กรณีไหนคล้ายกันแต่ไม่ใช่โดยแท้ ก็จะถือว่ายังไม่เกี่ยวข้อง และอาจจะเป็นประเด็นที่เราเห็นว่า ยังไม่มีบรรทัดฐานชัดเจน ก็เป็นสิ่งที่ดีกว่า ที่จะให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้ชี้ขาด”

เมื่อถามว่า กรณีนี้ข้อเท็จจริงต่างจาก กรณีการถือครองหุ้นของนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ที่ศาลรัฐธรรมนูญได้เคยวินิจฉัยไปแล้วว่าไม่ผิด และศาลรัฐธรรมนูญยังไม่มีคำวินิจฉัยชัดเจนใช่หรือไม่ ประธานกกต.กล่าวว่า คงสรุปอย่างนั้นไม่ได้ แต่ละกรณีมีหลายประเด็น บางประเด็นก็เกี่ยวพัน หรือคล้ายกัน ส่วนระยะเวลาการยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญนั้น เป็นเรื่องตามหลักปฏิบัติโดยปกติ เมื่อผ่านเป็นมติกกต.แล้ว ทางสำนักงานกกต.ก็ดำเนินการในขั้นตอนต่อไปโดยเร็ว

Advertisement

ด้าน พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง เปิดเผยว่า การประชุมกกต. เมื่อวันอังคารที่ 8 มกราคม ที่ประชุมได้พิจารณาสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริงฯ และมีมติให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยให้ความเป็นรัฐมนตรีจำนวน 4 ราย คือ ม.ล. ปนัดดา ดิศกุล นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ สิ้นสุดลงตามมาตรา 170 วรรคสาม ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างสำนักงาน กกต. ดำเนินการยกร่างคำวินิจฉัยเพื่อยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยต่อไป โดยรายละเอียดเนื้อหาในสำนวนการไต่สวนเปิดเผยไม่ได้เนื่องจากสำนวนการไต่สวนเป็นความลับและคดีดังกล่าวยังไม่ถึงที่สุด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับกรณีดังกล่าวนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ได้ยื่นคำร้องขอให้กกต.ตรวจสอบ เมื่อเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ 2561โดยตามคำร้องระบุว่า ม.ล.ปนัดดา ได้แสดงรายการทรัพย์สินหนี้สินต่อป.ป.ช.ว่ามีหุ้นของบริษัทท่าอากาศยานไทย หรือทอท. กว่า 6 พันหุ้น แม้จะพ้นจากตำแหน่งไปแล้ว แต่เหตุผลที่นายเรืองไกรอ้างในการยื่นกกต.ตรวจสอบย้อนหลังเพราะรัฐธรรมนูญ บัญญัติในลักษณะต้องห้ามของการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีไว้ว่า หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าขาดคุณสมบัติ จะต้องเว้นวรรคการดำรงตำแหน่ง 2 ปี ตามมาตรา 160 ประกอบ 187

ส่วนนายสุวิทย์ คำร้องระบุถือหุ้นในบริษัท GPSC หรือบริษัทโกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) 9 หมื่นหุ้น ซึ่งบริษัทดังกล่าวเป็นบริษัทโฮลดิ้งที่รวมบริษัทลูกของ ปตท. ที่เป็นคู่สัญญาสัมปทานกับรัฐ

Advertisement

ขณะที่นายไพรินทร์ และคู่สมรส ถือหุ้นที่เป็นคู่สัญญาสัมปทานกับรัฐโดยถือหุ้นใน บมจ. GPSC 5 หมื่นหุ้น บมจ. IRPC 2.4 แสนหุ้น บมจ ปตท. 5 พันหุ้น บมจ. พีทีที โกลบอล เคมีคอล 6 หมื่นหุ้น บมจ.ไทยออย 4 หมื่นหุ้น บมจ. กัลฟ์ เอนเนอร์จี ดีเวลลอปเมมท์ 3 แสนหุ้น บมจ.บ้านปู พาวเวอร์ หมื่นหุ้น บมจ.อินทัช โฮลดิ้ง 2.6 หมื่นหุ้น

นพ.ธีระเกียรติ ถือหุ้นสัมปทาน SCG ของบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) จำนวน 5,000 หุ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image