หวั่นเลือกตั้งโมฆะ เซฟตี้โซนที่ไม่มีใครกล้าเสี่ยง

ทั้งๆ ที่ความคลุมเครือตามบทเฉพาะกาล มาตรา 268 ของรัฐธรรมนูญปัจจุบันจะเป็นสิ่งที่ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.สมุทรสาคร พรรคประชาธิปัตย์ จุดขึ้นแล้วจุดขึ้นอีกตั้งแต่สมัยที่ยังดำรงตำแหน่งกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แล้ว

“ให้ดำเนินการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญนี้ให้แล้วเสร็จภายใน 150 วัน นับแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญตามมาตรา 267 (1) (2) (3) และ (4) มีผลบังคับใช้”

กล่าวคือ กกต.จะต้องจัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 150 วันนับตั้งแต่วันที่ พ.ร.ป.ประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งมีผลบังคับครบทั้ง 4 ฉบับนั้น คำว่า “ให้แล้วเสร็จ” ภายใน 150 วัน กินความหมายแค่ไหน อย่างไร?

แค่วันหย่อนบัตร หรือรวมกระบวนการการประกาศผลด้วย

Advertisement

ถามผู้เกี่ยวข้องดังๆ ผ่านสื่อมวลชนหลายครั้ง

ถามเป็นลายลักษณ์อักษรในฐานะ กกต.ถึงคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่มี นายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน

ถามเป็นลายลักษณ์อักษรในฐานะ กกต.ถึง “มือกฎหมายแห่งรัฐ” สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยเฉพาะ คณะที่ 1 ที่มี นายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน

Advertisement

อีกทั้ง นายสมชัย ศรีสุทธิยากร ยังได้ยกมือถาม นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในห้องเรียนหลักสูตรพิเศษด้วย

ถามจนกระทั่งโดน ม.44 ปลดจากตำแหน่ง กกต.ก็ยังถามอยู่

แน่นอนว่า คำตอบน่ะมี แต่ไม่มีใครกล้ายืนยันเลยว่า “ให้แล้วเสร็จภายใน 150 วันกินความหมายแค่วันหย่อนบัตร ยังไม่รวมการประกาศผล” นั้น เป็นคำตอบที่ถูกต้องหรือไม่

เพราะอำนาจในการชี้ขาดความคลุมเครือของบทบัญญัติรัฐธรรมนูญอยู่ที่ “ศาลรัฐธรรมนูญ” แต่เพียงผู้เดียว

แน่นอนว่า หากการเลือกตั้งยังเป็นไปตามกำหนดเดิม วันที่ 24 กุมภาพันธ์ ไม่มีเหตุต้องเลื่อนออกไปอีก คำถามที่ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร พยายามเพียรถาม อาจจะเป็นประเด็นที่ไม่ต้องการคำตอบอีกแล้วก็ได้

เพราะกฎหมายกำหนดให้ กกต.ต้องประกาศผลภายใน 60 วันนับจากวันเลือกตั้ง หากเลือกตั้งวันที่ 24 กุมภาพันธ์ กกต.ก็ยังทำได้ทันภายใน 150 วันได้หรือก่อนวันสุดท้าย 9 พฤษภาคมได้ โดยไม่ต้องกังวลในเรื่องความคลุมเครือของมาตรา 268

หรือจะขยับออกไปเป็นวันที่ 10 มีนาคม ก็ยังถือว่าอยู่ในกรอบ

แต่บังเอิญมีข่าวออกมาเป็นระยะๆ ว่า รัฐบาลคสช.เล็งที่จะขยายเวลาการเลือกตั้งออกไป 1 เดือน ไปเป็นวันที่ 24 มีนาคม อีกทั้งยังสำทับด้วยมือกฎหมายรัฐบาล คสช. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ออกมาระบุด้วยว่า เป็นวันที่เหมาะสม

เป็นความเหมาะสมของรัฐบาลที่ดันไปสวนทางกับรายงานข่าวที่ “ไม่คอนเฟิร์ม” ที่ออกมาจากฝั่ง กกต. โดยระบุว่า 7 เสือเคาะ 10 มีนาคม เป็นวันเลือกตั้งใหม่

นี่จึงทำให้ความคลุมเครือที่ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร เพียรสงสัยเป็นประเด็นใหญ่ขึ้นมาระหว่าง “ความไม่ชัดเจน” ในเรื่องวันเลือกตั้งใหม่ที่จนป่านนี้ล่วงเลยกรอบตามไทม์ไลน์เดิมกว่า 1 สัปดาห์แล้ว ก็ยังไม่มีใครกล้าฟันธง

กระทั่งได้กลายเป็นเรื่อง “ยึกยัก” วันเลือกตั้งกันไปมาระหว่างรัฐบาล กับ กกต.ในสายตาประชาชนไป

“หากมีการเลือกตั้งวันที่ 10 มีนาคม ตามที่มีกระแสข่าวออกมาจาก กกต. ถือว่าอยู่ในช่วงเวลาที่ปลอดภัย หรือเซฟตี้โซน เพราะ กกต.สามารถจัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จและประกาศผลได้ก่อนวันที่ 9 พฤษภาคมได้ โดยไม่ต้องกังวลว่า จะมีมือดีนำไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญว่าการเลือกตั้งชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะหากมีการร้องแล้วศาลชี้ว่ามิชอบ การเลือกตั้งก็จะเป็นโมฆะ งบประมาณจะสูญเปล่าและ กกต.จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ”

เป็นสิ่งที่นายสมชัยเตือนดังๆ ไปยังกกต.รุ่นน้อง

เช่นเดียวกับ นายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมาย พรรคเพื่อไทย ก็ออกมาให้ความเห็นว่า รวมการประกาศผลด้วย

โดยเห็นว่า “การให้ดำเนินการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 150” ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 268 คงต้องพิจารณาถ้อยคำ “ดำเนินการ” และ “แล้วเสร็จ” รัฐธรรมนูญมิได้ใช้ถ้อยคำว่า “ให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร…” เหมือนมาตราอื่นๆ

นอกจากนี้ ถ้าจะได้พิจารณามาตราอื่นๆ ของรัฐธรรมนูญ เช่น มาตรา 102, 103 กรณีเลือกตั้งทั่วไปให้ตรา พ.ร.ฎ.ให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรภายใน 45 วัน ถ้าจะเลือกตั้งเพราะยุบสภาให้ กกต.ประกาศให้มีการเลือกตั้งภายใน 45 วัน แต่ไม่เกิน 60 วัน นับแต่มี พ.ร.ฎ.ยุบสภาผู้แทนราษฎร

นายชูศักดิ์ ชี้ว่า ทั้ง 2 กรณีเห็นได้ชัดเจนว่า ไม่นับระยะเวลาประกาศผลภายใน 60 วันของ กกต.เข้าด้วย จึงให้จัดการเลือกตั้ง โดยให้เวลา 45-60 วัน เพื่อให้พรรคการเมืองมีเวลาหาเสียง

จึงค่อนข้างเห็นได้ชัดว่า การที่รัฐธรรมนูญมาตรา 268 กำหนดให้ดำเนินการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จ โดยให้เวลาไว้ถึง 150 วัน แสดงว่าต้องการให้จัดการเลือกตั้งและประกาศผลเลือกตั้งด้วย จึงให้เวลาไว้มากถึง 150 วัน มิใช่ 45-60 วันเฉพาะการเลือกตั้ง โดยไม่รวมการประกาศผลดังที่กล่าวมา

“ที่สำคัญที่สุด ระยะเวลาพวกนี้เป็นระยะเวลาเร่งรัด ยิ่งเขียนไว้ในบทเฉพาะกาลยิ่งชัดเจนว่า เขาต้องการให้มีสภาผู้แทนชุดใหม่ภายในเวลานั้น” นายชูศักดิ์ระบุ

หลังจากข้อถกเถียงเริ่มหนักขึ้นๆ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ แม้จะยังเห็นว่า 150 วัน เป็นเพียงกรอบเวลาจัดการเลือกตั้งเท่านั้น ไม่รวมการรับรองผลการเลือกตั้ง

แต่ยอมรับตรงๆ แล้วว่า กรณีดังกล่าวเป็นปัญหาจริง อย่างที่มีข้อสงสัย เพราะเกี่ยวข้องกับ 2 มาตราในรัฐธรรมนูญ

นั่นคือ มาตรา 85 และ 268 โดยมาตรา 85 อยู่ในบทถาวร บัญญัติว่า ต้องประกาศผลการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จไม่เกิน 60 วัน ตั้งแต่วันเลือกตั้ง แต่ในบทเฉพาะกาลมาตรา 268 เขียนว่าในการเลือกตั้งครั้งแรก ให้จัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 150 วัน

เป็นปัญหาขนาดที่ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ โดย นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองเลขาธิการนายกฯ และโฆษกประจำสำนักนายกฯ ออกมาเผยพูดแทนว่า เพื่อให้ได้ข้อยุติในเรื่องที่ถกเถียงกันอยู่ขณะนี้

“ท่านอยากฟังเจตนารมณ์ของ กรธ.ในฐานะที่เป็นผู้ยกร่าง”

แต่ปัญหาของ กรธ.ในฐานะผู้ยกร่างในขณะนี้ก็เป็นอย่างที่ นายเจษฎ์ โทณะวณิก ประธานหลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต วิทยาลัยบัณฑิตเอเชีย อดีตที่ปรึกษา กรธ.ให้ความเห็นกับ “มติชน” ไว้

แม้ กรธ.จะเคยชี้เจตนารมณ์ของมาตรา 268 ตามรัฐธรรมนูญไปหลายครั้งแล้วว่า เป็นบทบัญญัติที่หมายถึงเพียงแค่วันหย่อนวันเลือกตั้งเท่านั้น โดยไม่นับรวมไปถึงกระบวนการประกาศผล

แต่ อ.เจษฎ์ ชี้ว่า ตามรัฐธรรมนูญผู้ที่มีอำนาจชี้ขาดคือศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ กรธ.ในฐานะผู้ร่าง

ที่ผ่านมา มีหลายต่อหลายกรณีที่เคยเกิดขึ้นเป็นตัวอย่างบอกแล้วว่า เมื่อพบปัญหาในเรื่องการตีความบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ จะมายึดเพียงแค่เจตนารมณ์ของ กรธ.เพียงฝ่ายเดียวแล้วจะถูกต้องเสมอไป

อย่าง กรณีเซตซีโร่กรรมการในองค์รอิสระ เป็นตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจน เพราะ กรธ.ยืนยันเจตนารมณ์มาโดยตลอดว่า กรรมการองค์กรอิสระจะทำหน้าต่อไปเพียงใดให้ยึดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด

แต่เมื่อเรื่องไปถึงศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้วินิจฉัยยืนยันตามเจตนารมณ์ของ กรธ. แต่ศาลชี้ให้คนที่มีคุณสมบัติไม่ครบ หรือมีลักษณะต้องห้ามทำหน้าที่ต่อ

“ในทรรศนะส่วนตัวจึงคิดว่า สิ่งที่นายสมชัยยกขึ้นมาจึงมีประเด็น เพราะเมื่ออำนาจชี้ขาดเป็นของศาลรัฐธรรมนูญ จึงควรถามศาลรัฐธรรมนูญให้ชัดเจนไปเลย จะไม่เกิดเหตุร้องกันในภายหลัง” นายเจษฎ์ระบุ

ก็อย่างที่รับรู้กัน วันนี้ครั้นจะถามศาลรัฐธรรมนูญก็ยังมีข้อถกเถียงกันอีกว่า “เมื่อเหตุยังไม่เกิด” แล้วศาลรัฐธรรมนูญจะรับตีความหรือไม่ แล้วถ้ายื่น วันเลือกตั้งจะต้องเลื่อนออกไปอีกเท่าไหร่ เพราะศาลท่านต้องใช้เวลาพิจารณา

กรณีมาตรา 268 จึงเป็นอีกปมร้อนของรัฐธรรมนูญปัจจุบันในเรื่องความคลุมเครือของบทบัญญัติ

เป็นความคลุมเครือที่น่ารอดู รอชมว่า จะมีผู้ที่เกี่ยวข้องใดกล้าฝืน “เซฟตี้โซน” หรือไม่?

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image