‘อธิบดีสถ.’ตรวจเยี่ยมโครงการอาหารกลางวัน ร.ร.แม่เมาะ แนะหลัก 3 ช.จัดการขยะ

เมื่อวันที่ 15 มกราคม นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น(สถ.) ลงพื้นที่จังหวัดลำปาง ตรวจเยี่ยมโครงการอาหารกลางวันเด็กนักเรียนของโรงเรียนเทศบาลแม่เมาะ สังกัดเทศบาลตำบลแม่เมาะ จังหวัดลำปาง โดยมีนายชูชีพ บุนนาค นายกเทศมนตรีตำบลแม่เมาะ หัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหารและครูโรงเรียนเทศบาลแม่เมาะให้การต้อนรับ

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า เมนูอาหารกลางวันของโรงเรียนควรมีเมนูไข่ เช่น ไข่ต้ม ไข่ดาว ไข่เจียว ไข่น้ำ ไข่พะโล้ เพิ่มเติมจากเมนูหลักในแต่ละวันด้วย โดยไข่นั้น ก็ให้มาจากการเลี้ยงไก่ไข่ของเด็กนักเรียนคนละ2 ตัว ซึ่งทางด้านนายกเทศมนตรีตำบลแม่เมาะ ก็เห็นว่าสามารถทำได้โดยใช้เครือข่ายของผู้ปกครองที่ทางโรงเรียนมีการแต่งตั้งไว้แล้ว และยังให้ทางเทศบาลแนะนำโรงเรียนในสังกัดพิจารณานำ ระบบแนะนำสำรับอาหารกลางวันสำหรับโรงเรียนแบบอัตโนมัติ (Thai School Lunch : TSL) มาใช้ในสถานศึกษา เพื่อให้มั่นใจว่าโปรแกรมอาหารกลางวันที่ทำไว้ล่วงหน้าเป็นเดือนนั้นมีสารอาหารที่เหมาะสม ซึ่งโปรแกรมนี้ เป็นโปรแกรมความร่วมมือระหว่างสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล และศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์จัดทำขึ้น เพื่อให้มีความครอบคลุมทั้งในด้านคุณค่าทางโภชนาการตามหลักวิชาการ และความสอดคล้องกับสภาพภูมิสังคมหรือบริบทของแต่ละสถานศึกษา สถานศึกษาใดใช้วิธีการจัดหาโดยซื้อวัตถุดิบมาประกอบอาหารกลางวันเอง ก็ขอให้ประชาชนและชุมชนในพื้นที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบด้วยทุกครั้ง และเพื่อความโปร่งใสและเสริมสร้างการมีส่วนร่วมในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตงบประมาณอาหารกลางวัน ก็ให้มีการปิดประกาศรายการอาหารและจำนวนวัตถุดิบสำคัญที่ใช้ประกอบอาหารในแต่ละวัน รวมถึงให้ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหมั่นตรวจติดตามการจัดซื้อจัดจ้างอาหารกลางวัน ให้เป็นไปตามระเบียบกฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยแต่งตั้งคณะทำงานสุ่มตรวจ หรือลงพื้นที่ในการสุ่มตรวจเองเป็นระยะ ส่วนการแต่งตั้งกรรมการตรวจรับพัสดุนั้น ก็ให้มีการหมุนเวียนสับเปลี่ยนบุคลากรมาทำหน้าที่ดังกล่าวด้วย

นายสุทธิพงษ์ กล่าวอีกว่า ต้องมีการรณรงค์สร้างจิตสำนักให้เด็กนักเรียนได้ตระหนักรู้ถึงการบริการจัดขยะที่ดี ช่วยกันคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง และจัดทำถังขยะอินทรีย์ หรือถังขยะเปียกครัวเรือนเพิ่มเติม โดยใช้หลักการ 3 Rs หรือ 3ช : Reduce (ใช้น้อย) Reuse (ใช้ซ้ำ) และ Recycle (นำกลับมาใช้ใหม่) ไปใช้เป็นแนวทางในการจัดการขยะต้นทาง เพื่อให้โรงเรียนเป็นอีกหนึ่งของศูนย์การเรียนรู้ให้แก่ผู้ปกครองและเด็กนักเรียน รวมถึงให้ท่านผู้บริหารร่วมกันดูแลเด็กเล็กให้ได้รับการพัฒนาทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา มีความพร้อมที่จะเข้าศึกษาต่อในระดับการศึกษาขั้นต่อไป ให้เด็กสามารถเติบโตเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณค่าของประเทศชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะเด็กเล็กที่อายุระหว่าง 0-5ปี เป็นช่วงที่สำคัญที่สุดของการพัฒนาชีวิต จึงแนะนำให้มีการจัดทำ “สนามเด็กเล่นสร้างปัญญา” ที่มีลักษณะเป็นการเล่นในธรรมชาติ กิจกรรมต่างๆจะยึดธรรมชาติเป็นหลัก มาปรับใช้กับสนามเด็กเล่นของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กของ อปท. ด้าน ซึ่งการเล่นจะเสริมสร้างสมาธิให้แก่เด็ก เกิดความสามัคคีกัน ให้เด็กมีสังคมแห่งมิตรภาพ มีความเป็นจิตอาสา และจุดเริ่มต้นของพัฒนาการที่ดี นอกจากนี้ควรต้องนำต้นไม้ที่มีอยู่รอบโรงเรียนและสวนสาธารณะของเทศบาลตำบลแม่เมาะ มาต่อยอดสนองแนวพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีฯ ด้วยการจัดทำเป็นศูนย์อนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันจะช่วยสร้างความรัก ความใส่ใจในเรื่องต้นไม้และสิ่งแวดล้อมให้แก่เด็ก และบุคคลทั่วไปด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image