เผย คสช.ถกออกคำสั่งยืดจ่ายค่าใบอนุญาตคลื่น 900 ให้ 3 ค่ายมือถือ-ไร้หารือคัดตัวส.ว.

แฟ้มภาพ

“วินธัย” เผย ประชุมคสช. ถกออกคำสั่งยืดจ่ายค่าใบอนุญาตคลื่น 900 ให้ 3 ค่ายมือถือ-ไร้หารือคัดตัวส.ว.

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 26 กุมภาพันธ์ ที่ทำเนียบรัฐบาล พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคสช.ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. เป็นประธาน ว่า ที่ประชุมไม่ได้หารือถึงการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) 194 คน แต่ได้พิจารณาเรื่องการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่งตามที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เสนอ แต่ขณะนี้ยังไม่มีรายละเอียดออกมา

ทั้งนี้ มีรายงานว่า กรณีที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เสนอต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่งนั้น เป็นเรื่องที่ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (โอเปอเรเตอร์) 3 ราย ได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (เอดับบลิวเอ็น) ในเครือบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส, บริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (ทียูซี) ในเครือบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือทรู และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค ได้ยื่นหนังสือถึง คสช. เพื่อขอให้ขยายระยะเวลาการชำระค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ งวดสุดท้าย มิฉะนั้น อาจส่งผลกระทบกับเงินลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับ 5G

สำหรับค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ งวดสุดท้าย ของเอไอเอส มีมูลค่า 59,574 ล้านบาท ขณะที่ ทรู มีมูลค่า 60,218 ล้านบาท โดยทั้ง 2 ราย ยื่นหนังสือขอขยายระยะเวลาการชำระค่าใบอนุญาตออกไป 7 งวด (7 ปี) ส่วน ดีแทค ยื่นหนังสือขอขยายระยะเวลาการชำระค่าใบอนุญาตออกไป 15 งวด (15 ปี) โดยมีค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ งวดสุดท้ายที่ต้องชำระ 30,024 ล้านบาท

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image