วงเสวนาเอ็นจีโอ รุมวิพากษ์สิทธิที่หายไปใน ร่างรธน.ฉบับมีชัย

วันนี้ เวลา 15.00 น. ได้มีการจัดเสวนาโต๊ะกลม “เหลียวหลังแลหน้า พัฒนาการและข้อจัดกัดสิทธิด้านต่างๆ จากรัฐธรรมนูญ 2540 , 2550 และร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ 7 สิงหาคม 2559” โดย นายไพโรจน์ พลเพชร นากสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ผู้อำนวยการสถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม นางสุนี ไชยรส ผู้ประสานงานร่วมขบวนผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย นายสรุพงษ์ กองจันทึก ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและการพัฒนา นายสมชาย กระจ่างแสง กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค นายทวีป กาญจนวงศ์ ประธษนกรรมการมูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย นายสมชาย หอมลออ เลขาธิการมูลนิธิสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา และ นายปราเมศ เหล็กเพ็ชร์ อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

นายไพโรจน์กล่าวว่า ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ไม่ได้หมายถึงคนไทยเท่านั้นแต่หมายถึงทุกคนในสังคม และเกี่ยวกับสิทธิทั้งหมดใน รธน. การให้สิทธิเสรีภาพประชาชนมากเท่าไหร่ยิ่งยกระดับคุณค่าความเป็นมนุษย์มากเท่านั้น ใน รธน. ปี 40 และ 50 เชื่อมโยงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างชัดเจนที่สุด ไม่ว่าจะเป็นสถาบันใดที่ใช้อำนาจรัฐมีหน้าที่เคารพความเป็นมนุษย์ มีเขียนใน รธน. ปี 40 และ 50 ว่าเราทุกคนในสังคมไทยสามารถใช้สิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ได้ รวมถึงยกประเด็นนี้ต่อสู้ในศาลได้ด้วย แต่รธน.ปัจจุบันไม่มีหลักการนี้ การหายไปเช่นนี้ เป็นเจตนาตั้งแต่ต้นของการร่าง รธน. แล้ว

“ในเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ไม่แต่เพียงพลเมืองไทยเท่านั้น แต่ยังหมายถึงกลุ่มชาติพันธุ์และแรงงานต่างๆ ที่ต้องได้รับความเคารพเช่นกัน แต่ รธน. ใหม่ไม่มีสิ่งเหล่านี้” นายไพโรจน์กล่าว

ด้านนายบัณฑูร กล่าวว่า กระบวนการร่างนโยบายสาธารณะ การตัดสินใจในโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวพันกับชีวิตของผู้คนโดยตรง เช่น การสร้างเขื่อน เป็นต้น เป็นการเมืองของภาคประชาชน แต่การริเริ่มนโยบายสาธารณะนั้น ทุกวันนี้อยู่ในมือของรัฐ โดยการลงประชามติเป็นกระบวนการสำคัญในระบอบประชาธิปไตยเพื่อช่วยคลี่คลายความขัดแย้งต่างๆ

Advertisement

“อยากเห็นการเมืองภาคประชาชนเติบโตขึ้นไปกว่านี้ และคิดว่าน่าจะเป็นได้เพราะการเมืองประชาชนนั้น ฝังรากและค่อยๆ เติบโตมาตั้งแต่พฤษภาคมปี 2535 แล้ว” นายบัณฑูรกล่าว

นางสุนี กล่าวว่า มีการเรียกร้องประชาธิปไตยที่ผู้คนมีส่วนร่วมในทุกมิติ นั่นคือสิทธิสตรีคือสิทธิของประชาชน จึงไม่ได้เรียกร้องแต่สิทธิของผู้หญิง ความเสมอภาคระหว่างเพศเป็นแกนหลักมาตั้งแต่ รธน ปี 40 แต่ รธน ปี 59 มีการจำกัดการรับฟังความเห็นอย่างมาก และสิ่งที่กระบวนการสตรีเสนอคือ ในร่าง รธน นี้ ประเด็นความรุนแรงทางเพศหายไป ดังนั้น จุดโหว่ของ รธน นี้คือกลไกของคณะกรรมการสิทธิที่บิดเบี้ยวไปเพราะกำหนดอำนาจหน้าที่ไม่ชัด

นายสุรพงศ์กล่าวว่า ถ้ารัฐลดการอุดหนุนการศึกษามาถึงแค่ระดับชั้นม.3 หรืออายุ 15 ปี สิ่งที่จะตามมาคือ ปัญหาเรื่องแรงงานเด็ก การค้ามนุษย์ ปัญหาทางเพศ ยาเสพติด ก็มีโอกาสเพิ่มขึ้นอีกมหาศาลเพราะรัฐไม่ให้การคุ้มครองเด็ก และประเด็นกลุ่มชาติพันธุ์ รธน. ปี 2559 เป็น รธน. แรกที่พูดเรื่องนี้ไว้ แต่กลับไว้ในหมวดนโยบายแห่งรัฐแทนที่จะไว้ในหมวดหน้าที่ของรัฐซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดาย รวมถึงมีการพยายามตีความว่าพลเมืองคือคนไทยเท่านั้น และจะเห็นอีกว่าการตัดสิทธิสวัสดิการในหลายๆ เรื่องเป็นเรื่องของงบประมาณทั้งนั้น โดยส่วนตัวเห็นว่ารัฐบาลควรไปตัดเรื่องอื่นก่อนจึงจะมาตัดเรื่องสิทธิของประชาชน

Advertisement

นายสมชาย กล่าวในหัวข้อสิทธิในการรักษาพยาบาลและการเข้าถึงระบบบริการสาธารณะสุขว่า การดูแลรักษาสุขภาพจากคนไทยเป็นวิธีซื้อมาขายไป คือถ้าหากประชาชนเจ็บป่วยต้องจ่ายเงินเพื่อซื้อการรักษา คนจนจึงตายเพราะไม่มีเงิน ซึ่งรับว่าเป็นการเสียชีวิตที่ขาดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ แต่ รธน. ปี 40 ระบุให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเสนอกฎหมายภาคประชาชนได้ จึงมีการรณรงค์จนร่าง พรบ. ประกันสุขภาพได้ แต่ปัจจุบัน ร่าง รธน. นี้กลับมีความพยายามจะเอาออกไปอีกซึ่งต้องถามกันอีกครั้งว่าเหมาะสมหรือไม่

น.ส.สารี กล่าวว่า รธน. ฉบับนี้เป็นฉบับแรกที่สิทธิพลเมืองถดถอยไป ทั้งที่ที่ผ่านมามีความก้าวหน้าอยู่ตลอดเวลา และรธน. นี้ไม่สอดคล้องกับพัฒนาการของสังคมไทย เช่น สิทธิประกันสุขภาพที่ล้าหลังไปเช่นเดียวกับสิทธิการศึกษา ร่าง รธน. ปัจจุบันจึงถอยหลังอยู่หลายประการ และบั่นทอนความเป็นพลเมืองของผู้คน รวมถึงไม่ยกระดับปัญหาปัจจุบันใดๆ ทั้งสิ้น จึงดูไม่ค่อยมีความหวัง โดยเฉพาะเรื่องสิทธิของประชาชนและพลเมือง

นายทวีป กล่าวว่าเรื่องการแปรรูป เป็นเรื่องที่มักมีผู้ไปร้องเรียนเมื่อมีการร่าง รธน. และโดยเฉพาะเรื่องสิทธิเสรีภาพในการชุมนุม แต่ปัจจุบันมี พรบ. การชุมนุมที่ทำให้เสี่ยงต่อการเข้าคุก เพราะหากเข้าข่ายการชุมนุมโดยมิชอบก็จะผิด พรบ. ทั้งนี้ เสรีภาพในการรวมตัวกันเป็นสมาคมก็เช่นกัน อย่างไรก็ดี คนทำงานต้องการการทำงานที่มั่นคง มีความปลอดภัยในการทำงาน ได้รับค่าจ้างที่เป็นธรรม จึงอยากให้มีการพูดถึงประเด็นนี้อย่างจริงจัง

นายสมชาย หอมลออ กล่าวว่า รธน. ฉบับนี้ มีการตัดเรื่องสัดส่วนหญิงชายออกไป พบว่าการแก้ไข พรบ. คณะกรรมการสิทธิฯ ในร่างที่จะเสนอสภาปฏิรูปประเทศก็ตัดสิ่งนี้ออกไป เรื่องสิทธิมนุษยชนและกระบวนการยุติธรรม สิ่งที่คาดหวังสำหรับ รธน. ฉบับใหม่คือในแง่สิทธิมนุษยชนต้องดีกว่า รธน. ปีก่อนๆ แต่เท่าที่เห็นคิดว่า รธน ฉบับนี้เป็นไปในทิศทางตรงกันข้าม ถ้ามองแง่กระบวนการยุติธรรม รธน ปี 40 วางหลักเรื่องนี้ไว้อย่างมากจนก่อให้เกิดการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม การตัดเรื่องนี้ไปจาก รธน. ฉบับนี้เป็นการลดทอนสิทธิของประชาชนในกระบวนการยุติธรรมอย่างแน่นอน

“ถ้าไม่กำหนดหลักการสำคัญไว้ใน รธน. ก็จะมีการออกกฎหมายธรรมดามาริดรอนจำกัดเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนได้” นายสมชายกล่าว และว่า กฎหมายที่จะออกมาที่จัดทำโดย สปท. ซึ่งกำหนดไว้ในมาตรา 249 เกี่ยวกับการปฏิรูประบวนการยุติธรรม ซึ่งสิ่งเหล่านี้ยังอยู่ในอากาศ และยังไม่สามารถมีความหวังอะไรได้มากเนื่องจากในตัวร่าง รธน. เน้นกระบวนการบริหารจัดการกระบวนการยุติธรรมเสียมากกว่า ประเด็นที่น่าพิจารณาคือร่าง รธน. นี้มีลักษณะถดถอยเป็นหลัก

“แต่สิ่งที่น่าตกใจคือมาตรา 276 ซึ่งกำหนดว่าประกาศหรือคำสั่งของ คสช. ที่แม้จะขัดกับหลักกระบวนการยุติธรรมหรือรธน. นั้นให้มีผลบังคับใช้ต่อไปโดยถือว่าชอบด้วย รธน. ซึ่งหมายถึงการให้อำนาจเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารด้วย” นายสมชายกล่าวปิดท้าย

นายปราเมศ กล่าวว่า ภาพรวมเรื่องสิทธิเสรีภาพต่างๆ ถูกรัฐทวงคืนหมดแล้ว ประชาชนจำเป็นต้องทวงสิทธิเหล่านี้คืน การสืบทอดอำนาจนับเป็นบรรยากาศมาคุที่ทำให้สิทธิต่างๆ ของทุกฝ่ายถูกทอนโดยรัฐ ในปี 2535 ก่อนมีการเลือกตั้ง มีการแก้ไขกฎหมายแพ่ง อาญา เรื่องการเพิ่มโทษโดยเฉพาะสื่อมวลชน ในปัจจุบัน มีประกาศจาก คสช ที่เกี่ยวกับสื่อมวลชนและกฎหมายดิจิตอลที่สื่อและประชาชนไม่รู้กฎหมายอย่างแท้จริงและเป็นการเพิ่มอำนาจให้เจ้าหน้าที่ ดังนั้น หากไม่ต่อสู้เพื่อได้มาซึ่งสิทธิ สิทธิเหล่านี้ก็จะหายไปอย่างแน่นอน

จากนั้นเวลา 18.00 น. ที่สวนสันติพร อนุสรณ์สถานพฤษภาประชาธรรม ราชดำเนิน ได้มีการจัดกิจกรรมศิลปวัฒนธรรมพฤษภาประชาธรรม ดนตรีเพื่อชีวิตรำลึก 24 ปีพฤษภา นำโดย ศิลปิน น้าหว่อง คาราวาน (มงคล อุทก และเพื่อนมิตรศิลปิน) พร้อมกับการแสดงและการละเล่น ลำตัด หนังลุง มโนราห์ ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมรวมไปถึงมหกรรมปล่อยหนังสือ (แจกหนังสือฟรี) และการออกร้านขายของนักศึกษา-ประชาชน โดยจะจัดตลอดทั้งเดือน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image