‘บิ๊กฉัตร’ เดินหน้าโครงการสร้างประตูระบายลำน้ำพุง-น้ำก่ำ แก้ท่วม-แล้งที่ จ.สกลนคร

เมื่อเวลา 09.10 น. วันที่ 7 มีนาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และนายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เดินทางโดยเครื่องบินฝนหลวง ไปตรวจเยี่ยมโครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำลำน้ำพุง-น้ำก่ำ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่ อ.โคกศรีสุพรรณ จ.สกลนคร

โดย พล.อ.ฉัตรชัยได้เดินทางไปพบปะประชาชนในพื้นที่ และเยี่ยมชมแบบจำลองเส้นทางน้ำ ของ จ.สกลนคร พร้อมทั้งมอบนโยบาย ที่ โรงเรียนอนุบาลโคกศรีสุพรรณ โดยมีนายวิทยา จันทร์ฉลอง ผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และประชาชนในพื้นที่ให้การต้อนรับอย่างล้นหลาม มีเด็กนักเรียนโรงเรียนอนุบาลโคกศรีสุพรรณกล่าวต้อนรับเป็นภาษาอังกฤษและมอบพวงมาลัยให้กับรองนายกฯ เป็นการต้อนรับ

จากนั้น เวลา 10.30 น. พล.อ.ฉัตรชัยเดินทางไปดูโครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำ ลำน้ำพุง-น้ำก่ำ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่ ต.ตองโขบ อ.โคกศรีสุพรรณ จ.สกลนคร สภาพพื้นที่เป็นดิน สัญจรลำบาก เนื่องจากอยู่ในขั้นตอนการเตรียมพื้นที่ ซึ่งได้มีการกำหนดขอบเขตงานไว้เรียบร้อยแล้ว

โอกาสนี้ พล.อ.ฉัตรชัยยังได้บันทึกเทปรายการพิเศษ และรายการเดินหน้าประเทศไทย ในพื้นที่โครงการอีกด้วย

Advertisement

พล.อ.ฉัตรชัยกล่าวว่า วันนี้ได้ลงมาติดตามการทำงานการแก้ปัญหาเรื่องน้ำท่วมและภัยแล้งที่หนองหาร ซึ่งล่าสุดในปี พ.ศ.2560 ก็ได้ประสบปัญหาเรื่องน้ำท่วมเนื่องจากเจอพายุและฝนตกบริเวณเทือกเขาภูพาน และไหลลงมายังหนองหาร ซึ่งยังเป็นปัญหาอยู่ ทำให้เกิดความเสียหายกับประชาชนทั้งภาคเกษตรและในเมือง จากน้ำท่วมปี พ.ศ.2560 ท่านนายกฯ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ได้สั่งการให้หาทางแก้ไขปัญหาเพื่อลดผลกระทบจากน้ำท่วมรวมถึงเรื่องภัยแล้ง
“คณะทำงาน ประกอบด้วยท่านเลขาธิการทรัพยากรน้ำ ท่านอธิบดีกรมชลประทาน และอีกหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร ได้ร่วมพูดคุย แล้วพบว่าเรื่องนี้ ในหลวงรัชกาลที่ 9 รับสั่งไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2535 พี่น้องประชาชนรอมามากกว่า 25 ปี อยากเห็นพื้นที่ตรงนี้ได้รับการแก้ไขปัญหา ตามที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 9 รับสั่งไว้ ว่าต้องขยายลำน้ำ และทำอาคารบังคับน้ำเพื่อที่ไม่ให้น้ำลงไปเติมหนองหารในกรณีที่น้ำจากภูพานลงมามาก”


พล.อ.ฉัตรชัยกล่าวว่า เราได้นำแนวทางของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 มาร่วมคิดและปรับเปลี่ยนเพิ่มเติมตามสภาวะภูมิประเทศที่มีการใช้พื้นที่ที่เปลี่ยนไป จึงนำเรื่องนี้เสนอเข้าคณะรัฐมนตรี ท่านนายกฯก็อนุมัติให้แก้ปัญหา โดยใช้วงเงินประมาณ 2,100 ล้านบาท ซึ่งได้ดำเนินการใน 4 เรื่อง คือ 1.สร้างประตูระบายน้ำหัวงานและอาคารประกอบ สำหรับบังคับน้ำ 2.ทำระบบส่งน้ำและอาคารประกอบ 3.ทำคลองผันน้ำและอาคารประกอบ จำนวน 3 สาย จากที่มีอยู่แล้วจากเดิม 2 คลอง ทั้งร่องช้างเผือกและห้วยยางที่มีความต่อเนื่องกัน โดยขยายและเพิ่มประสิทธิในการรับน้ำให้มากขึ้น จากเดิมรับน้ำได้ไม่ถึง 10 ลูกบาศก์เมตร ก็ขยายเป็น 40 กว่าลูกบาศก์เมตร ส่วนน้ำข้างล่างจากเดิมกักเก็บน้ำได้เพียงเล็กน้อย ก็ขยายเป็น 100 กว่าลูกบาศก์เมตร เพื่อรับน้ำจากลำน้ำพุงลงมารวมที่ห้วยยาง และขยายต่อให้รับน้ำลงไปที่น้ำก่ำ เข้าสู่ระบบระบายน้ำตามปกติ วิธีการนี้จะตัดน้ำออกเพื่อไม่ให้เข้าสู่หนองหารได้
และ 4.ทำคลองส่งน้ำ สำหรับกรณีที่ต้องการให้หนองหารมีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นในช่วงหน้าแล้ง สิ่งที่ตามมาจากแนวทางนี้คือสามารถป้องกันน้ำท่วมได้พอสมควร นอกจากนี้ ลำน้ำทั้ง 3 เส้นหากมีปริมาณน้ำมากขึ้น ประชาชนในบริเวณนี้ 78,358 ไร่ 10,857 ครัวเรือน ก็จะได้รับประโยชน์ในการทำการเกษตรเนื่องจากเกษตรสามารถเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากน้ำเพื่อทำการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

Advertisement

พล.อ.ฉัตรชัยเปิดเผยว่า เส้นทางก่อสร้างโครงการประตูระบายน้ำได้ทำการเปิดประมูลไปและได้ผู้รับจ้างแล้ว โดยตนได้กำชับถึงวิธีการทำงานอย่างโปร่งใส ผลที่ตามมาคือได้ผู้รับจ้างที่ราคาต่ำกว่าราคาประเมินประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ ทำให้เงินที่เหลือสามารถนำไปใช้ประโยชน์กับพี่น้องประชาชนได้อีกด้วย

ด้าน นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า โครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำ ลำน้ำพุง-น้ำก่ำ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นวิธีจัดการปัญหาอุทกภัยและฤดูแล้ง โดยเบี่ยงน้ำจากลำน้ำพุงมาลงลำน้ำก่ำ ในขณะเดียวกันก็สามารถใช้ประโยชน์จากการทำอาคารบังคับควบคุมน้ำไว้สำหรับเก็บกักน้ำได้อีกด้วย อีกส่วนคือการทำประตูควบคุมน้ำที่จะเข้าคลอง ต้องใช้อาคารประกอบในการยกระดับน้ำ และให้ไหลไปตามระบบ ทำให้เกิดประโยชน์กับพื้นที่ต่างๆที่ได้รับน้ำจากระบบดังกล่าวกว่า 78,358 ไร่ ในลำน้ำก่ำซึ่งมีประตูอยู่แล้ว5 ประตู ตลอดต้นทางจนถึงปลายทางจะมีการควบคุมปริมาณน้ำให้สอดคล้องกัน สามารถลดปริมาณน้ำด้านท้าย ด้านเหนือได้ และยังได้ประโยชน์ทั้งสองฟากฝั่ง

“นี่คือหลักในการบริหารจัดการน้ำให้เกิดประโยชน์ เพราะจะทำให้กักเก็บน้ำได้มากกว่าเดิม 3-4 เท่า จากเดิมที่ไม่เกิน 10 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ก็จะเพิ่มประสิทธิภาพในการเก็บกักน้ำไว้ได้ถึง 4 เท่าจากของเดิมที่มีอยู่ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในเรื่องของการชะลอ กักเก็บและระบายน้ำ”

นายทองเปลวกล่าวว่า ประตูระบายน้ำมีทั้งหมด 7 ช่อง สามารถระบายน้ำได้ถึงประมาณ 963 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ส่วนการออกแบบก็ให้สอดรับปริมาณน้ำที่มีอยู่ เพื่อจะลดต้นทุนในการก่อสร้าง และเพื่อความเหมาะสมกับภูมิประเทศ ซึ่งหน้าตาของประตูระบายน้ำก็เป็นอัตลักษณ์ของจังหวัดสกลนคร เพราะออกแบบเป็นปราสาทผึ้ง ซึ่งคาดว่าจะเป็นแลนด์มาร์กและเป็นที่ท่องเที่ยวของ จ.สกลนครได้อีกแห่งหนึ่ง” นายทองเปลวกล่าว และว่า
ประชาชนรับรู้โครงการตั้งแต่ปี พ.ศ.2556 และอีกครั้งในปี พ.ศ.2560-2561 ซึ่งประชาชนมีความต้องการให้เกิดโครงการนี้อย่างมาก เนื่องจากรอคอยมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2535 คือ 27 ปีแล้ว การเกิดโครงการในปี พ.ศ. 2562 ถือเป็นการเติมเต็มความต้องการที่มีอยู่มานาน

นายทองเปลวกล่าวว่า โครงการนี้กระทบกับพื้นที่ที่มีการขุดขยายประมาณ 1,985 ไร่ หรือประมาณ 880 แปลง โดยขณะนี้การดำเนินงานมีการสำรวจ กันเขต และจ่ายค่าที่ดินให้ประชาชนเจ้าของพื้นที่ โดยจะเริ่มที่ร่องช้างเผือกในปีนี้เป็นที่แรก และทั้งโครงการใช้เวลาก่อสร้าง 5 ปี ระหว่างปี พ.ศ.2562-2566

จากนั้นในเวลา 13.00 น. พล.อ.ฉัตรชัยยังได้เดินทางไปที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลโพนทองวัฒนา (รพ.สต.) ต.แมดนาท่ม อ.โคกศรีสุพรรณ เพื่อติดตามผลการพัฒนาสุขภาพระดับจังหวัดอีกด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image