ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ : ว่าด้วยการเลือกตั้ง 24 มีนาคม

วันนี้ (26 มี.ค.) นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำกลุ่มก้าวต่อเพื่อประชาธิปไตย อดีตแกนนำพรรคเไทยรักษาชาติ โพสต์ข้อความทางเฟสบุ๊ก หลังการเลือกตั้ง โดยระบุว่า

ว่าด้วยการเลือกตั้ง 24 มีนาคม

มิพักต้องกล่าวถึงกติกาอัปลักษณ์ การใช้อำนาจรัฐ อำนาจเงิน และวิธีการสารพัดรูปแบบเพื่อสร้างความได้เปรียบของฝ่ายผู้มีอำนาจ เพราะมีคนพูดถึงมากมายต่อเนื่องอยู่แล้ว รวมทั้งคำถามเรื่องความโปร่งใส ชอบธรรมในการจัดการเลือกตั้งของกกต. ซึ่งควรมีคำตอบที่ชัดเจนให้ประชาชนโดยเร็วที่สุด

มองแค่ผลคะแนนตามที่กกต.แถลงอย่างไม่เป็นทางการเพียงมิติเดียว ก็พอเห็นอะไรที่จะแลกเปลี่ยนกันได้บ้าง

Advertisement

ผมพูดมาตลอดสิบกว่าปีกระทั่งหลังการยึดอำนาจรอบนี้ เมื่อมีวงประชุมให้ไปแสดงความเห็นเรื่องความปรองดอง ก็ชี้ชัดต่อหน้าแม่ทัพนายกองทั้งหลายว่า ความขัดแย้งทางการเมืองที่เป็นอยู่ ไม่ใช่เรื่องเพื่อไทยกับประชาธิปัตย์ ไม่ใช่เสื้อแดงกับเสื้อเหลืองหรือนกหวีด

ทั้งหมดเป็นการต่อสู้กันระหว่างแนวคิดอนุรักษ์นิยมกับเสรีนิยม

กลุ่มมวลชนฝ่ายต่างๆไม่ใช่เหตุ แต่เป็นผลของความขัดแย้งนี้

ผลคะแนนที่ออกมาน่าจะอธิบายข้อสรุปดังกล่าวได้ ว่าฝ่ายอนุรักษ์นิยมเทคะแนนส่วนใหญ่ไปที่พรรคพลังประชารัฐ เพื่อสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี ขณะที่ฝ่ายเสรีนิยมลงคะแนนให้พรรคการเมืองที่ประกาศจุดยืนต่อต้านการสืบทอดอำนาจ โดยมีพรรคเพื่อไทยและอนาคตใหม่ยืนเป็นหลัก

ขั้วตรงกลางหรือทางเลือกที่สามไม่มีอยู่จริง พรรคประชาธิปัตย์จึงถูกปฏิเสธจากทั้งสองฝ่าย เหลือเพียงฐานมวลชนของพรรคที่ยังสนับสนุน

ลุงกำนัน ไม่ใช่ผู้นำจิตวิญญาณของมวลชนกปปส. แม้โค้งสุดท้ายจะปลุกพลังนกหวีดขึ้นสู้ แต่ผลคะแนนก็เป็นอย่างที่ทราบ

การเมืองหลังจากนี้ยังคงเป็นการต่อสู้กันของคู่ปรับเดิม เบื้องต้นเป็นการช่วงชิงจัดตั้งรัฐบาล หลังจากนั้นไม่ว่าฝ่ายใดได้อำนาจบริหาร เกมหักล้างกันในรัฐสภาจะเข้มข้นและเป็นกระแสสูง อาจมีนอกสภาสนับสนุนทั้งสองฝ่ายบ้าง แต่การขับเคลื่อนมวลชนขนาดใหญ่ในบริบทนี้ไม่น่าจะเกิดขึ้น

ทั้งนี้ หากเป็นรัฐบาลสืบทอดอำนาจ ฝ่ายค้านจะต่อสู้ในสภาซึ่งจำนวนเสียงก้ำกึ่งเป็นด้านหลัก แต่ถ้าเป็นรัฐบาลซีกประชาธิปไตย ฝ่ายค้านมีแนวโน้มจะใช้กลไกนอกรัฐสภาตามที่รัฐธรรมนูญออกแบบไว้ และหรือวิธีนอกรัฐธรรมนูญเข้าจัดการ

รัฐบาลหลังการเลือกตั้งจะขาดเสถียรภาพ อายุงานคงไม่ยาว เรื่องครบเทอมไม่ต้องเอามาพูดกัน

มองจากผลคะแนน เชื่อว่าทิศทางของประเทศยังคงมีความหวังสำหรับฝ่ายประชาธิปไตย เพราะอีกฝ่ายใช้ทุกวิธีการแล้วยังพ่ายแพ้ต่อพรรคการเมืองที่ประกาศต่อต้านการสืบทอดอำนาจ

ยิ่งรวมคะแนนทั้งหมดยิ่งชัดว่า อำนาจเผด็จการเอาชนะประชาชนในการเลือกตั้งไม่ได้

อย่างไรก็ตาม การต่อสู้นี้ไม่มีชัยชนะเด็ดขาด ยึดอำนาจกี่ครั้งเลือกตั้งกี่หน ก็ไม่มีฝ่ายใดสลายพลังของอีกฝ่ายให้หมดไปได้

มีทางเดียวคือสร้างดุลยภาพทางการเมืองเพื่ออยู่ร่วมกันอย่างสันติ หากทำเรื่องนี้ได้ประเด็นอื่นจะเป็นเรื่องง่าย แต่ถ้าแก้เรื่องการเมืองไม่ได้ เราจะติดกับดักตัวเองอยู่อย่างนี้ อีกสิบปีข้างหน้าก็ยังต้องสู้กันเรื่องเดิมในสภาพบ้านเมืองที่เสียหายหนักขึ้นทุกที

ผู้มีอำนาจควรยอมรับความพ่ายแพ้ การอ้างผลคะแนนรวมของประชาชนทั้งที่จำนวนส.ส.น้อยกว่า และส่งผู้สมัครมากกว่าพรรคเพื่อไทยถึง 100 เขตเป็นท่าทีของคนกระหายอำนาจ มากกว่ามุ่งแก้ไขปัญหาของประเทศ

ส่วนพรรคเพื่อไทยก็ไม่ควรคิดว่าชนะ แต่พึงตระหนักว่านี่คือโอกาสอีกครั้งที่ประชาชนหยิบยื่นให้ เพราะชัยชนะที่แท้จริงอยู่ที่การนำพาประชาชนพ้นวิกฤติเศรษฐกิจ ความขัดแย้ง ยาเสพติด การทุจริตคอร์รัปชัน ไปสู่อนาคตที่ดีกว่าให้ได้ และต้องรอดพ้นเกมสมคบคิดเพื่อโค่นล้มแบบเดิมๆให้ได้ด้วย

การบ้านข้อใหญ่อีกเรื่องคือ ผลการเลือกตั้งครั้งนี้สะท้อนว่าพลังทางการเมืองของพรรคเพื่อไทยลดลงหรือไม่ ?

จะมีบทสรุปเพื่อก้าวเดินต่อไปท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงนี้อย่างไร ?

การเหยียดยืนขึ้นของพรรคอนาคตใหม่เป็นเรื่องน่าทึ่ง แม้หลายพื้นที่ซึ่งได้รับชัยชนะอาจมีผลจากการหายไปของพรรคไทยรักษาชาติ แต่การตั้งข้อสังเกตุดังกล่าวในวันสำเร็จของอนาคตใหม่คงเป็นเรื่องไม่งาม

การแสดงความยินดีเป็นเรื่องพึงกระทำ อนาคตใหม่จะเผชิญความเป็นจริงทางการเมืองและมีพัฒนาการต่อไปอย่างไรเป็นเรื่องน่าติดตาม

อนึ่ง เกมต่อรองทางการเมืองแบบเก่ายังมีอยู่ การเสนออามิสจูงใจส.ส.ให้ย้ายพรรค หรือยกมือตามที่ต้องการก็ยังมี นักการเมืองหักเหลี่ยมกันเอง นักการเมืองหักหลังประชาชนจะยังไม่หมดไป กลุ่มคนที่ประกาศตัวว่าสะอาดกว่าใครอาจเป็นฝ่ายที่ใช้วิธีสกปรกที่สุดในสถานการณ์นี้

นี่เป็นภาพที่มองเห็นได้ด้วยตาเปล่าและจะชวนคุยไว้เท่านี้ก่อน หลังจากนี้คงใช้สิทธิ์สนทนากันเรื่อยๆ

ประชาชนเขาจะคุยกัน คงไม่มีใครห้ามนะครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image