วิษณุชี้รัฐเล็งเปิดกว้างให้ปชช.พูดมากกว่ารธน. บอกสื่ออย่ารบเร้านายกฯมาก

“วิษณุ” เผย รบ. มีแนวคิด จัดเวทีรับฟัง ปชช. ที่ไม่ใช่เรื่องรัฐธรรมนูญ โบ้ย คสช.ตัดสินใจ คลายคำสั่ง พรรคการเมืองทำกิจกรรม บอกสื่ออย่ารบเร้าเป็นประเด็น ชี้ นปช.ทำศูนย์ปราบโกงประชามติได้ ไม่ผิด ยันไม่มีเรื่องนำไปสู่ล้มประชามติได้

เมื่อเวลา 14.30 น. วันที่ 25 พฤษภาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะจัดเวทีเพิ่มว่า ยังไม่ได้มีการติดต่อกับ กกต. แต่ในส่วนของรัฐบาลยอมรับว่ามีความคิดนี้อยู่ ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับ กกต.แต่อย่างใด เนื่องจากการจัดเวทีเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคมที่ผ่านมา ถือเป็นบทเรียนที่ดี ส่วนตัวแล้วชื่นชมบรรยากาศและความสร้างสรรค์ในวันนั้นที่ฝ่ายการเมืองเข้าร่วมกว่า 70 พรรค ซึ่งบางคำถามอาจจะดูไม่เป็นชิ้นเป็นอัน แต่อย่างน้อยก็ทำให้รู้ว่าเขาคิดอะไรอยู่ บางอย่างเป็นคำถามที่ไม่ต้องการคำตอบ เป็นการบ่น เป็นการปรารภบ้าง แต่ก็ดีกว่าไม่มีที่ให้ระบาย ตนก็อยากเห็นการจัดเวทีในรูปแบบนี้ และไม่จำเป็นต้องเชิญพรรคการเมืองอย่างเดียว เนื่องจากถ้าให้เขาพูดบ่อยเขาก็ไม่อยากมา วันนั้นต้องขอบคุณบุคคลหลายคน เช่น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) รวมทั้งนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ และนางธิดา ถาวรเศรษฐ แกนนำนปช. ที่ร่วมอยู่รับฟังกันถึง 5 ชั่วโมง จนกระทั่งเวลา 1 ทุ่ม

นายวิษณุกล่าวว่า แนวทางต่อไปหากประชาชนสนใจ ทางรัฐบาลก็อาจจะจัดเวทีอีก แต่อาจไม่ใช่เรื่องรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นเรื่องของ กกต. ส่วนประเด็นในการจัด ก็คงเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาล และประเด็นที่ประชาชนสนใจ เช่น พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) อุ้มหาย หรือคดีความต่างๆ เหมือนอย่างที่สื่อมวลชนถามตนอยู่ทุกวัน แค่เปลี่ยนจากสื่อมวลชนเป็นประชาชนถามเท่านั้น ซึ่งตนเคยปรารภกับผู้ใหญ่ และหลายคนก็เห็นด้วย แต่คำถามคือใครจะเป็นผู้ตอบคำถามประชาชน เนื่องจากปัญหามีอยู่คือเราไม่ทราบว่าประชาชนจะถามเรื่องอะไร จึงไม่รู้จะส่งใครไปตอบ จะให้คณะรัฐมนตรีไปนั่งตอบก็เสียเวลา ไม่เหมือนเวที กกต. ที่รู้ประเด็นว่าจะถามเรื่องร่างรัฐธรรมนูญ และการทำประชามติ ซึ่งก็ต้องจัดผู้ที่เกี่ยวข้องไปตอบคำถาม หรืออาจจะให้ตนเป็นผู้ตอบคำถามก็ได้ แต่ถ้าเป็นเรื่องที่ตนไม่รู้จะทำอย่างไร

เมื่อถามถึงกรณีที่นายอภิสิทธิ์ถามถึงการผ่อนคลายคำสั่ง คสช. ที่ให้พรรคการเมืองสามารถทำกิจกรรมทางการเมืองได้ มีความคืบหน้าอย่างไรบ้าง นายวิษณุกล่าวว่า เรื่องนี้เป็นหน้าที่ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อย่ารบเร้าอะไรมาก ที่มีเรื่องมากเป็นเพราะสื่อชอบถาม หากสื่ออยู่เฉยๆ ผู้ที่มีหน้าที่พิจารณาก็จะทำหน้าที่ไปโดยไม่รู้สึกกดดัน จะสังเกตได้ว่า เวลาสื่อถามทีไร นายกฯเป็นต้องฉุนทุกที จนกระทั่งมีคนมาวิเคราะห์ว่า ทางผู้สื่อข่าวคงไม่อยากให้เกิดการผ่อนคลาย จึงถามประเด็นนี้ขึ้นมา เพื่อให้ตัดไปเลย ซึ่งตนก็คิดว่าจะถามทำไม

Advertisement

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่นายจตุพรเตรียมตั้งศูนย์ปราบโกงประชามติ สามารถทำได้หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่มีข้อห้าม ใครก็สามารถตั้งได้ไม่มีปัญหาอะไร ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี แต่ข้อควรจะระวังคือการที่จะไปจับว่าเขาทำผิดซึ่งมีโทษจำคุก 10 ปี นั้น ต้องมีหลักฐานพิสูจน์ได้ว่าผิดจริง ไม่อย่างนั้นจะถูกฟ้องกลับ ตนคิดว่าการกระทำช่วยกันจับตาดูการทุจริตเลือกตั้ง ส.ส. จะยิ่งดีใหญ่ เพราะในส่วนของการลงประชามติไม่มีอะไรที่เป็นเดิมพันที่ต้องจับกันมาก สมมุติว่าหากพบว่ามีการผิดโฆษณาเชิญชวนต่างๆ ถามว่าจะสามารถนำไปสู่เรื่องการทำให้ประชามติผ่านหรือหรือไม่ผ่าน หรือจะล้มง่ายๆ หรือ คนไทยรู้สึกว่ามาบอกแล้วเชื่อกันง่ายๆ อย่างนั้นหรือ เพราะฉะนั้นจะเห็นว่ากฎหมายประชามติ ไม่มีเรื่องยกเลิกประชามติแล้วทำใหม่ เพราะมีแค่ผ่านกับไม่ผ่าน ถ้าผิดตรงไหนก็ซ่อมใหม่ที่หน่วยนั้น เนื่องจากไม่มีคะแนนที่ยึดโยงกันทั่วประเทศ ซึ่งต่างจากการเลือกตั้งที่มีล้มทั้งประเทศแล้วจัดใหม่ทั้งหมดทั่วประเทศเพราะคะแนนยึดโยงกันหมด จึงมีการล้มแล้วจัดการเรื่องตั้งทั้งประเทศอีกทีหนึ่ง เวทีเลือกตั้งจึงควรจับตาดูมากกว่า

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image