‘จาตุรนต์’ชี้ปลดล็อกนักการเมืองไปนอก ไม่ใช่เรื่องต้องขอบคุณ เหตุยังมีเงื่อนไขอื่นอยู่

แฟ้มภาพ

เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และแกนนำพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้นักการเมืองไปต่างประเทศได้ โดยไม่ต้องขออนุญาต คสช. ยกเว้นบุคคลที่มีคดีความต้องขออนุญาตศาล ว่า ไม่ได้ช่วยผ่อนคลายสิทธิเสรีภาพของผู้ที่แสดงความเห็นต่างที่ถูกจำกัด ซึ่งคำสั่งนี้ใช้ส่วนใหญ่กับผู้ที่ให้ไปรายงานตัว ถูกควบคุมตัว ผู้ที่ถูกเรียกมาปรับทัศนคติแล้วยังไม่หยุดวิจารณ์ ที่ถูกใช้เป็นเงื่อนไขข้อหนึ่งในการปล่อยตัว และเหตุผลจริงๆ ของเงื่อนไขนี้ เพื่อไม่ให้มีการวิจารณ์ พล.อ.ประยุทธ์และ คสช. ทำให้หลายร้อยคนที่อยู่ภายใต้เงื่อนไขไม่กล้าวิจารณ์ เลี่ยงการไม่ได้รับอนุญาตไปต่างประเทศ ซึ่งถือว่ามาตรการนี้ได้ผลในแง่ที่ทำให้มีวิจารณ์ พล.อ.ประยุทธ์และ คสช.น้อยลงมาก การไม่อนุญาตแต่ละครั้งจะใช้วิธีแจ้งอย่างกะทันหัน คือเพียงไม่กี่ชั่วโมงก่อนเดินทาง หรือเมื่อถึงเวลาเดินทางแล้วก็ยังไม่แจ้ง ทำให้เกิดความเสียหายในเรื่องของค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ที่พัก ทั้งผู้ที่ขออนุญาตและผู้ที่ต้องเดินทางไปด้วย

“เรื่องนี้ถือเป็นผลเสีย พล.อ.ประยุทธ์ ทำให้ไม่ฟังเสียงที่แตกต่างเท่าที่ควร บริหารประเทศด้วยความเข้าใจผิด ได้ข้อมูลแบบผิดๆ ได้ยินแต่คำเยินยอ ไม่ค่อยได้ยินความเห็นที่แตกต่างมาตลอด 2 ปี ดังนั้น การบอกว่าการยกเลิกมาตรการนี้ไม่ค่อยได้เป็นประโยชน์เท่าไหร่ นอกจากนี้ ยังมีมาตรการอื่นๆ ที่ คสช.ใช้จัดการอยู่อีก เช่น ระงับธุรกรรมการเงิน ดำเนินคดีต่อคนที่เรียกมาปรับทัศนคติแล้วยังไม่หยุดแสดงความคิดเห็น การดำเนินคดีสามารถใช้ข้อหาได้ง่าย ทั้งๆ พ.ร.บ.ความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ และความผิดทางอาญามาตรา 116 เกี่ยวกับความมั่นคง นอกจากนั้น การลงประชามติก็มีการใช้กฎหมายลงประชามติ ตีความเกินเนื้อหาของกฎหมาย และยังมีการขู่ใช้คำสั่ง คสช.กับผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ ดังนั้น การยกเลิกการเดินทางไปต่างประเทศโดยไม่ต้องขออนุญาต คสช.จึงกลายเป็นเรื่องจิ๊บจ๊อย เพราะมีมาตรการอื่นอยู่อีกหลายอย่างที่จะจำกัดการแสดงความคิดเห็นของประชาชนผู้ที่มีความเห็นต่าง การยกเลิกตรงนี้จึงไม่ใช่เรื่องของผู้ที่ถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพ จะต้องขอบคุณอะไร คสช. เพราะที่ผ่านมา คสช.ได้ใช้อำนาจตามอำเภอใจ ป่าเถื่อนมาโดยตลอด” นายจาตุรนต์กล่าว

เมื่อถามว่า ถ้ายังข้อจำกัดในเรื่องอื่นๆ อยู่อีก มองเจตนาการยกเลิกตรงนี้คืออะไร นายจาตุรนต์กล่าวว่า จริงแล้วการที่ คสช.ยกเลิกคำสั่งตรงนี้ มาจากแรงกดดันเรื่องสิทธิมนุษยชนในประเทศและเวทีต่างประเทศ อย่างเวทียูพีอาร์ สหประชาชาติ ซึ่งวิจารณ์หนักมากอย่างไม่เคยมีมาก่อน ทำให้ฐานะประเทศไทยตกต่ำไปมาก คสช.พยายามทำให้ดูดีขึ้น และถือเป็นเรื่องเล็กน้อยมาก ในขณะที่การจำกัดสิทธิเสรีภาพอื่นๆ ที่คนทั้งโลกนี้เขาห่วงใยอยู่ ยังไม่ได้รับการปรับปรุงใดๆ ทั้งสิ้น

เมื่อถามว่า หากข้อจำกัดอื่นๆ ยังมีอยู่ มองสถานการณ์ในวันข้างหน้าอย่างไร โดยเฉพาะกับการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ นายจาตุรนต์กล่าวว่า จะเป็นการลงประชามติที่ไม่เป็นธรรมอย่างยิ่ง ขาดความชอบธรรมอย่างร้ายแรง วันข้างหน้าทำให้เกิดการไม่ยอมรับร่างรัฐธรรมนูญ หรือการปกครองหลังประชามติ และกลายเป็นความขัดแย้งทางสังคมที่หาทางออกได้ยาก ที่สำคัญยังคาดหวังได้ยากว่ามาตรการอื่นๆ จะได้การผ่อนปรนจากหัวหน้า คสช. เพราะไม่มีแนวโน้มยอมรับฟังคำวิจารณ์จากในและต่างประเทศ และเข้าใจว่า คสช.มุ่งร่างรัฐธรรมนูญผ่านให้ได้ โดยไม่คำนึงถึงความถูกต้องชอบธรรมอีกต่อไปแล้ว

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image