‘พรเพชร’ มั่นใจ ‘บิ๊กตู่’ คุณสมบัติไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ไม่ห่วงเสียงปริ่มน้ำ โว ส.ว.หนุนเต็มที่

“พรเพชร” มั่นใจ “บิ๊กตู่” คุณสมบัติ ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ไม่ห่วงเสียงปริ่มน้ำ มี ส.ว.หนุนเต็มที่

เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน ที่หอประชุมใหญ่ทีโอที นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ฐานะรองประธานรัฐสภา ให้สัมภาษณ์ว่า พล.อ.ประยุทธ์​ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เสียสละทุกอย่างและลงตัวทุกอย่าง ไม่ต้องพูดว่าปริ่มน้ำ เพราะขณะนี้มีเสียงข้างมาก และ ส.ว.หนุนเต็มที่ เสียง ส.ว.ยืนยันได้ว่าไม่ได้จัดตั้งให้เลือกใครอย่างที่กล่าวหา เป็นความรู้สึกของสมาชิก ส่วนกรณีที่สังคมภายนอกมองว่า พล.อ.ประยุทธ์จะลำบากต่อการบริหารประเทศหลังจากนี้ เพราะมีความขัดแย้งนั้น เชื่อมั่นในความสามารถของ พล.อ.ประยุทธ์​ อย่าลืมว่าความเจริญก้าวหน้าประเทศอยู่กับปฏิรูปประเทศ แผนยุทธศาสตร์ชาติ รัฐธรรมนูญเปิดช่อง ให้ ส.ว.มีส่วนร่วม กับสภาผู้แทนฯ นี่คือ จุดสำคัญ อย่ามองแต่งตั้งอย่างเดียว ทั้งนี้ ส.ว.เข้าใจบทบาทหน้าที่ของตนเอง เรื่องเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศ ส่วนกฎหมายต้องผ่านตามปกติ

เมื่อถามถึงฝ่ายการเมืองจองกฐินตรวจอสบคุณสมบัติ พล.อ.ประยุทธ์​ หลังได้รับการโหวต นายพรเพชรกล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ผ่านมาหมดแล้วทุกอย่าง ที่พูดกันนั้นเป็นความข้องใจคำพูดของบางคนที่ยังเอามาพูดอยู่ แต่ในกระบวนการทางกฎหมายนั้น ได้ส่งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กกต.ผู้ตรวจการแผ่นดิน และเทียบเคียงกับคำพิพากษาศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งท่านไม่มีปัญหาแล้วเรื่องคุณสมบัติ ทั้งนี้ ตนเชื่อว่ากรณีดังกล่าวจะไม่เป็นเหตุให้กระบวนการนำขึ้นทูลเกล้าฯ จะต้องชะลอออกไป

“ตามกฎหมายแล้วเมื่อสมาชิกรัฐสภาลงมติเลือก พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ แล้ว กระบวนการต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯ แต่งตั้ง เพราะการใช้สิทธิของฝ่ายนิติบัญญัติถือเป็นหนึ่งในอำนาจสูงสุดของ 3 อธิปไตยเช่นกัน ดังนั้นหากไม่คำนึงต่อประเด็นดังกล่าว ประเทศจะลำบากเพราะไม่รู้ว่าแบบไหนกันแน่ที่มีอำนาจ อย่างไรก็ดี การอภิปรายที่เกิดขึ้นเรื่องคุณสมบัติ ฝ่ายนิติบัญญัติ ไม่มีอำนาจวินิจฉัยต่อสิ่งที่สมาชิกอภิปราย” นายพรเพชรกล่าว

Advertisement

เมื่อถามว่า ฝ่ายการเมืองเตรียมจองกฐิน ร้องศาลต่อการลงมติของ ส.ว.ที่หนุนให้หัวหน้า คสช.เป็นนายกฯ เหตุผลประโยชน์ขัดกัน นายพรเพชรกล่าวยืนยันว่า ไม่มีผลประโยชน์ที่ขัดกัน เพราะเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย และรัฐธรรมนูญ เป็นหน้าที่ปกติที่ต้องใช้ และให้อำนาจ ส.ว.ทำได้ ส่วนที่ระบุว่าบทกำหนดในมาตรฐานจริยธรรมเขียนไว้เรื่องการใช้อำนาจที่ไม่มีผลประโยชน์ขัดกันเพราะลงมติให้กับคนที่แต่งตั้งมานั้น ในสากลทั่วโลก เช่น สหรัฐอเมริกา ช่วงประธานาธิบดี ริชาร์ด นิก สัน ที่แต่งผู้พิพากษาสูงสุด แต่เมื่อมีคดีวอร์เตอร์เกต การทำหน้าที่ของผู้พิพากษาสูงสุดยังทำหน้าที่ได้โดยอิสระ ซึ่งยืนยันว่าการลงมติของ ส.ว.นั้นเป็นการปฏิบัติหน้าที่ไม่มีประเด็นที่ขัดต่อมาตรฐานจริยธรรมตรงไหน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image