‘รสนา’ข้องใจ ครม.อนุญาตโฆษณากัญชา แต่ไม่อนุญาตคนไทยปลูก เพื่อนำเข้าจากบริษัทต่างชาติหรือไม่

รสนา โตสิตระกูล

วันที่ 20 มิถุนายน นางสาวรสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา กทม. อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช. โพสต์แสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวกรณีคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบหลักการร่างกฎกระทรวง ของกระทรวงสาธารณสุข เรื่องขออนุญาต ออกใบอนุญาตโฆษณากัญชา โดยวางหลักเกณฑ์ 6 ข้อ โดยระบุว่า เหตุใดต้องรีบร้อนออกกฎกระทรวงเรื่องนี้ ทั้งที่เวลานี้ยังไม่อนุญาตให้คนไทยปลูก จึงมีคำถามว่าที่รีบอนุมัติการออกกฎกระทรวงโฆษณากัญชา เพื่อสอดรับกับการนำเข้ายากัญชาเพื่อการค้าจากบริษัทยาต่างชาติ ใช่หรือไม่

“อาจเป็นไปได้หรือไม่ว่า การอนุมัติโฆษณากัญชาสอดคล้องกับการให้สัมภาษณ์ของรองเลขาธิการ อย. ที่ผ่านมาว่า จากข้อมูลผู้มาแจ้งครอบครองมีประมาณ 22,000 คน ร้อยละ 90 แจ้งว่าเป็นผู้ป่วย เบื้องต้นน่าจะประมาณ 2,000-3,000 คน ที่มีความจำเป็นต้องใช้กัญชาเร่งด่วน โดยเป็นการนำเข้ากัญชาในช่วงสั้นๆ ตามข้อสั่งการของคณะกรรมการขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์จากกัญชาเพื่อการศึกษาวิจัยและประโยชน์ทางการแพทย์ ได้สั่งการให้สามารถนำเข้ากัญชาได้ หากมีความจำเป็นในการนำมาให้ผู้ป่วยระหว่างที่รอผลผลิตตามกฎหมาย

ที่จริงภารกิจของ อย.น่าจะรีบสนับสนุนให้กลุ่มนักวิจัยได้รับอนุญาตเพื่อเดินหน้าการวิจัยต่อไปโดยเร็ว หมอยาพื้นบ้านหรือตำรับยาพื้นบ้านควรจะได้รับการรับรองโดยเร็ว การรับรองตำรับยาแผนไทย ควรผลักดันให้มีการผลิตยากัญชาเพื่อการพึ่งพาตนเองในประเทศก่อน ไม่ใช่เตรียมการนำเข้า และวิสาหกิจชุมชนหรือสหกรณ์การเกษตรควรจะได้รับอนุญาตให้ปลูกวัตถุดิบกัญชาโดยเร็ว แต่ถึงขณะนี้ยังไม่มีการออกประกาศหลักเกณฑ์ให้คนไทยสามารถปลูกกัญชาได้ และยังไม่มีหน่วยงานใดที่มีงานวิจัยกัญชา ที่สามารถผลิตเป็นยาออกมาใช้กับผู้ป่วยได้

การรีบร้อนออกกฎกระทรวงในการโฆษณากัญชานั้น จึงถูกตั้งข้อสงสัยว่า น่าจะเป็นการเกื้อหนุนการโฆษณาในทางการค้าของบริษัทยาต่างชาติ ที่มีความพร้อมในการนำเข้าตามกฎกระทรวง 6 ข้อดังกล่าว บางบริษัทเคยขอสิทธิบัตรกัญชา และถูกคัดค้านจากประชาชน จน คสช.ต้องออกมาตรา 44 ให้กรมทรัพย์สินทางปัญญายกเลิกคำขอสิทธิบัตรกัญชาของบริษัทดังกล่าว ใช่หรือไม่

Advertisement

“เมื่อไม่สามารถเปิดทางให้บริษัทต่างชาติได้สิทธิบัตรกัญชาก่อนคนไทย ก็ให้นำเข้ายาของบริษัทเหล่านั้นมาใช้ หลังจากนั้นบริษัทยาอาจจะอ้างสิทธิว่ายาที่นำเข้ามาใช้เป็นยามีสิทธิบัตรที่นักวิจัยไทยไม่สามารถพัฒนาตำรับยาในแบบเดียวกับเขา และอาจจะถูกกล่าวหาฟ้องร้องว่าลอกเลียนสิทธิบัตรของเขาได้หรือไม่ ยังเป็นเรื่องที่หน่วยงานรัฐต้องตอบคำถามนี้ โดยสุจริตและอย่างตรงไปตรงมา”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image