‘ทวี’ ฉะ กอ.รมน.ภาค 4 ละเมิดสิทธิมนุษยชน บังคับ ปชช. 3 จชต. – 5 อำเภอสงขลา

เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ (ปช.) กล่าวถึงกรณีที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าได้ส่งข้อความให้ผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา ลงทะเบียนซิมด้วยระบบตรวจสอบใบหน้า/อัตลักษณ์เพื่อตรวจสอบสถานะว่า พรรค ปช.สนับสนุนให้แก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยหลักนิติธรรม สนับสนุนให้หน่วยงานด้านความมั่นคงบูรณาการทำงานร่วมกับภาคประชาชน เพื่อความสงบสุขของพื้นที่ โดยปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายสูงสุด บุคคลทุกคนต้องได้รับการคุ้มครอง และถูกบังคับใช้กฎหมายอย่างเสมอภาค กรณีการบังคับลงทะเบียนซิมโทรศัพท์และพิสูจน์อัตลักษณ์นั้น มีประเด็นน่าจะขัดรัฐธรรมนูญ หมวดสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย มาตรา 26 การจํากัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลจะกระทำไม่ได้ เว้นแต่มีบทบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และมาตรา 36 เสรีภาพในการติดต่อสื่อสารถึงกัน การกระทําด้วยประการใดๆ เพื่อให้ล่วงรู้หรือได้มาซึ่งข้อมูลที่บุคคลสื่อสารถึงกันจะกระทํามิได้ เว้นแต่มีคําสั่งหรือหมายของศาล หรือมีเหตุอย่างอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ และเห็นว่าระเบียบสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ไม่ใช่กฎหมายและมีศักดิ์ต่ำกว่ากฎหมาย

พ.ต.อ.ทวีกล่าวว่า กอ.รมน.หรือรัฐ มีความจำเป็นตรวจสอบใบหน้าและอัตลักษณ์จากซิมมือถือ รัฐบาลต้องบัญญัติเป็นฏหมาย โดยให้รัฐสภาซึ่งเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ (ประกอบด้วย ส.ส.จำนวน 500 คน และ ส.ว.จำนวน 250 คน) เพื่อได้ร่วมกันพิจารณาบัญญัติเป็นกฎหมายตามรัฐธรรมนูญต่อไป รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ซึ่งมีศักดิ์สูงกว่าระเบียบ กสทช. พรรค ปช.จะนำประเด็นดังกล่าวให้คณะทำงานฝ่ายกฎหมายของพรรค ซึ่งประกอบด้วย พล.ต.ท.อนุรุต กฤษณะการะเกตุ ที่ปรึกษา, พล.ต.ท.ไพฑูรย์ ชูชัยยะ ที่ปรึกษา, นายวิทยา พานิชพงศ์ ที่ปรึกษา และนายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ เป็นประธานคณะทำงาน มีผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายรวม 10 ท่านเป็นคณะทำงาน ได้พิจารณาเพื่อเสนอเข้าที่ประชุมผู้บริหารพรรคประชาชาติ ในวันอังคารที่ 25 มิถุนายนนี้ ผลการประชุมจะส่งให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.)ของพรรคได้เป็นข้อมูลใช้ในสภาผู้แทนราษฎร และนำไปประสานกับหน่วยงานรัฐ กอ.รมน.และประชาชนในพื้นที่ เพื่อสร้างความเข้าใจที่ดีต่อกัน รวมทั้งเป็นการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มาตรา 26 ระบุว่าการตรากฎหมายที่มีผลเป็นการจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญในกรณีที่รัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติไว้กฎหมายดังกล่าวต้องไม่ขัดต่อหลักนิติธรรมไม่เพิ่มภาระหรือจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุและจะกระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลมิได้รวมทั้งต้องระบุเหตุผลความจำเป็นในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพไว้ด้วย กฎหมายตามวรรคหนึ่งต้องมีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไปไม่มุ่งหมายให้บังคับใช้แก่กรณีใดกรณีหนึ่งหรือแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเจาะจง
มาตรา 36 บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการติดต่อสื่อสารถึงกันไม่ว่าทางใดๆ การตรวจ การกัก หรือการเปิดเผยข้อมูลที่บุคคลสื่อสารถึงกัน รวมทั้งการกระทำด้วยประการใดๆ เพื่อให้ล่วงรู้หรือได้มาซึ่งข้อมูลที่บุคคลสื่อสารถึงกัน จะกระทำมิได้ เว้นแต่มีคำสั่ง หรือหมายของศาล หรือมีเหตุอย่างอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image