“อนาคตใหม่” ลุย “อมก๋อย” ฟังเสียงชาวบ้านคัดค้านเหมืองแร่ หวั่นไร้ที่ทำกิน

“อนาคตใหม่” ลุย “อมก๋อย” ร่วมฟังเสียงชาวบ้านคัดค้านเหมืองแร่ หวั่นไร้ที่ทำกิน กระทบสิ่งแวดล้อม

เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ นำทีมผู้บริหารพรรค สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรค อาทิ น.ส.เยาวลักษณ์ วงษ์ประภารัตน์ นายสุรชัย ศรีสารคาม น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ นายนิติพล ผิวเหมาะ และนายณัฐพล สืบศักดิ์วงศ์ เดินทางรับทราบข้อมูลโครงการเปิดเหมืองแร่ถ่านหิน ในพื้นที่ อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ โดยบริษัทเอกชนรายหนึ่งได้เข้ามาสำรวจ พร้อมทั้งขอประทานบัตรไว้ตั้งแต่เมื่อปี 2543 บนพื้นที่กว่า 284 ไร่ จากกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ รวมถึงที่ผ่านมามีการทำประชาคมหมู่บ้าน และรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยคณะกรรมการสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีมติเห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ เมื่อปี 2554 ซึ่งระบุหลักฐานการประชาคมหมู่บ้านว่าประชาชนในพื้นที่ ลงชื่อ และลายนิ้วมือ ให้การเห็นชอบการทำเหมืองด้วย แต่อย่างไรก็ตามล่าสุด ประชาชนใน อ.อมก๋อย ลงชื่อคัดค้านโครงการดังกล่าว ตลอดจนร่วมตัวกันก่อตั้งเครือข่ายยุติเหมืองแร่อมก๋อย ด้วย

ทั้งนี้ จากการพูดคุยกับชาวบ้านในหมู่บ้านกะเบอะดิน ต.อมก๋อย ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากโครงการดังกล่าว ประชาชนในพื้นที่เปิดเผยว่า แม้โครงการนี้จะมีมานานแล้ว แต่พวกเขาแทบไม่ทราบเรื่องกระบวนการต่างๆ ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะการมีส่วนร่วม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือการทำประชาคมหมู่บ้านแต่อย่างไร มารู้ตัวอีกทีก็จากประกาศที่อำเภอว่าจะมีการทำเหมืองแร่ถ่านหินในพื้นที่นี้ จึงร่วมกันลงชื่อและคัดค้าน ทั้งนี้ มีความกังวลนอกจากเรื่องคนในชุมชนของตนเองที่อาจต้องย้ายที่อยู่โดยตรงและก็ไม่รู้ว่าจะต้องไปอยู่ที่ไหนแล้ว ยังกังวลเรื่องสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของชาว อ.อมก๋อยที่จะตามมาด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทีมงานพรรคอนาคตใหม่ได้รับทราบข้อมูลโครงการ ข้อกังวล และความเดือดร้อนของประชาชนจากคณะทำงานในพื้นที่ จากนั้น เดินทางไปพบปะกับประชาชนที่คาดว่าจะได้รับผลงกระทบจากโครงการดังกล่าวที่บ้านกะเบอะดิน ตลอดจนเดินทางไปยังบริเวณซึ่งจะเปิดทำเหมืองด้วย โดยพบว่า พื้นที่ดังกล่าวยังเป็นพื้นที่ป่าที่อุดมสมบูรณ์ นอกจากนี้ยังมีประชาชนพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ที่อยูู่มาหลายชั่วอายุคนใช้พื้นที่ทำกิน ทำนา ปลูกผักต่างๆ ขณะที่บริเวณลำห้วยเป็นแหล่งต้นน้ำสำคัญ ซึ่งมีความกังวลกันว่า ถ้ามีการเปิดเหมืองจริง ไม่เพียงแต่หมู่บ้านกะเบอะดินซึ่งมีประชาชนอาศัยอยู่ราว 200 หลังคาเรือนเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ หากแต่ยังรวมถึง หมู่บ้านอื่นๆ อีกจำนวนมาก ที่อาจต้องย้ายออกไปเนื่องจากต้องมีการขยายถนนเพื่อให้รถบรรทุกวิ่งเข้ามาเอาแร่ออกไปได้ รวมถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้นในจากการทำเหมืองแร่ดีบุก ใน อ.อมก๋อย รวมถึงใน จ.เชียงใหม่ด้วย

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image