สภาสูงประชุมรับทราบแผนปฏิรูป ส.ว. รุมขู่ ยื่นถอดถอน พวกเกียร์ว่าง งานปฏิรูป

สภาสูงประชุมรับทราบแผนปฏิรูป ส.ว. รุมขู่ ยื่นถอดถอน พวกเกียร์ว่างงานปฏิรูป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมวุฒิสภา ที่มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา เป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณารับทราบรายงานความคืบหน้าในการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 270 ประจำเดือนมกราคม-มีนาคม 2562 โดย ส.ว.ส่วนใหญ่อภิปรายให้ความเห็นทั้งข้อเสนอแนะ และการปรับการทำงานเพื่อไม่ให้แผนปฏิรูปประเทศที่ประกาศใช้ช่วงเดือนเมษายน พ.ศ.2561 ล้มเหลว และเร่งรัดให้ดำเนินการตามกรอบเวลาที่รัฐธรรมนูญกำหนด โดยนายวันชัย สอนศิริ ส.ว. อภิปรายว่า แผนการปฏิรูปประเทศคือสิ่งที่ชี้วัดผลงานของรัฐบาล และเป็นภารกิจที่รัฐบาลต้องปฏิบัติให้สำเร็จภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญ หมวดว่าด้วยการปฏิรูปกำหนดคือ 5 ปี นับจากที่รัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ ทั้งนี้ เวลาปฏิบัติเหลือเพียง 3 ปีเศษ ดังนั้นในการดำเนินงานต้องเร่งดำเนินการ ส่วนบทบาทของ ส.ว.ที่รัฐธรรมนูญกำหนดที่เริ่มจากหน้าที่ลงมติเลือกนายกฯ ในที่ประชุมรัฐสภา เพื่อให้นายกฯ สานต่องานปฏิรูปให้แล้วเสร็จ

“แผนดำเนินการต่างๆ ต้องเชื่อมโยง บทบาทสำคัญของ ส.ว.ว่าด้วยการติดตามงานปฏิรูป หากพบความไม่คืบหน้า หรือหน่วยงานไม่ทำ สามารถส่งเรื่องไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อให้ถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่ง ขณะที่การปฏิรูปว่าด้วยการเมืองที่วางโจทย์ให้การเมืองโดยเฉพาะการเลือกตั้งโปร่งใส สุจริต แต่การเลือกตั้ง ส.ส.ที่ผ่านมาพบว่าประเด็นร้องเรียนกว่า 500 เรื่อง ดังนั้นตนเชื่อว่าการเลือกตั้งพบการซื้อสิทธิ ขายเสียงจำนวนมาก เพราะขาดการปฏิรูปและปฏิบัติตามกฎหมายที่กำหนดไว้” นายวันชัยกล่าว

นายตวง อันทะไชย ส.ว. อภิปรายว่า แผนการปฏิรูปด้านการศึกษาไร้ความคืบหน้า แม้จะมีกฎหมายว่าด้วยกองทุนการศึกษาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำของคนในช่วงวัยที่ควรได้รับการศึกษา แต่ไม่สามารถปฏิบัติใช้ได้ นอกจากนั้นงานปฏิรูปการศึกษาที่เป็นหัวใจของงานปฏิรูป ตามที่กำหนดให้มีกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ ยังไม่พบการออกกฎหมายทั้งที่รัฐธรรมนูกำหนดให้ใช้เวลาพิจารณา 1 ปี ทำให้คุณภาพของการศึกษาที่เน้นการกระจายอำนาจไม่เกิดขึ้น นอกจากนั้นยังพบปัญหาการทุจริตในสถาบันการศึกษา คือมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติที่พบบุคคลที่ต้องการตำแหน่งแต่งตั้งตนเองเข้าไปทำหน้าที่ซึ่งขัดต่อกฎหมาย ดังนั้น หากไม่ทำประเด็นดังกล่าวให้ถูกต้อง ส.ว.อาจใช้สิทธิยื่น ป.ป.ช.

Advertisement

ขณะที่ พล.อ.ต.นพ.เฉลิมชัย เครืองาม ส.ว. อภิปรายว่า การปฏิรูปถูกมองว่าเป็นวาทกรรมตามกระแสสังคม ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรรุมหาว่าการปฏิรูปเหลว ทั้งๆ ที่รัฐบาลที่ผ่านมามีผลงานปฏิรูปประเทศเป็นจำนวนมาก แต่เพราะขาดการประชาสัมพันธ์ที่ดี ซึ่งตนก็ไม่ทราบว่าเป็นความผิดพลาดหรือบกพร่องจากหน่วยงานส่วนราชการใด เพราะผลงานปฏิรูปที่เป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน คือการประกาศใช้ พ.ร.บ.ระบบสุขภาพแบบปฐมภูมิ เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2562 เป็นการปฏิรูประบบสุขภาพของประเทศไทยครั้งยิ่งใหญ่ หรือนับเป็นการเปลี่ยนโฉมหน้าระบบรักษาพยาบาล เพื่อแก้ปัญหาความแออัดในการรอพบแพทย์และใช้ระยะเวลานาน โดยการนำเอาแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวเข้ามารับบทบาทดูแลระบบสุขภาพแบบปฐมภูมิ และเป็นการทำงานแบบสหสาขาวิชาชีพร่วมกันลงไปเยี่ยมผู้ป่วยเข้าถึงชุมชน เข้าถึงตามบ้าน แต่ก็ยังเห็นว่ามีปัญหาในเรื่องของวิธีการรายงาน ทำให้ประชาชนเข้าใจยาก จึงเสนอให้มีการปรับปรุงรูปแบบรายงานและคณะที่มาชี้แจง

ผู้สื่อข่าวรายว่า ส.ว.บางส่วนยังได้อภิปรายท้วงติง คือผลงานที่ไม่คืบหน้าของการปฏิรูปด้านกระบวนการยุติธรรม เพื่อให้กระบวนการยุติธรรม ซึ่งเป็นงานที่อำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชนไม่ล่าช้า และถูกมองว่าความล่าช้าที่เกิดขึ้นในคดีของประชาชนคือความไม่ยุติธรรมด้วย ด้านนายดนุชา พิชยนันท์ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฐานะผู้ชี้แจงรายงานความคืบหน้า กล่าวชี้แจงว่า การบัญญัติกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปการศึกษาอยู่ระหว่างการจัดทำ และต้องรอให้คณะรัฐมนตรีชุดใหม่พิจารณา หลังจากคณะกรรมการปฏิรูปด้านการศึกษานั้นหมดวาระแล้ว ขณะที่กลไกและข้อเสนอแนะของ ส.ว.ทั้งหมดนั้นตนจะรับไปพิจารณาเพื่อหารือและแก้ไขต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image