สติธร จี้ กกต.ตีความให้ชัด กรณีไพบูลย์ ระวัง พรรคเล็กเอาอย่าง ยุบแล้วย้ายซบพรรคใหญ่

“สติธร” ชี้ “โมเดลไพบูลย์” อาจทำส.ส.พรรคเล็กทิ้งพรรคตัวเองซบพรรคใหญ่ สร้างความเป็นอมตะไม่มีวันตาย แนะ กกต.ตีความกฎหมายให้ชัด

เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม ที่สถาบันพระปกเกล้า นายสติธร ธนานิธิโชติ รักษาการผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า กล่าวถึงกรณีที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน ขอยุบเลิกพรรคประชาชนปฏิรูปต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่าการเลิกกิจการพรรคหรือทำให้พรรคสิ้นสภาพทำได้ตามกฎหมาย ซึ่งเปิดช่องไว้และกฎหมายก็ให้ความคุ้มครองสถานภาพของส.ส. เมื่อพรรคถูกยุบแล้ว ต้องสังกัดพรรคการเมืองภายใน 60 วัน ส่วนสมาชิกคนอื่นๆขึ้นอยู่กับว่า จะสมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดหรือไม่ ทั้งนี้ ประสบการณ์ในอดีตพรรคการเมืองที่ใหญ่กว่าเวลาต้องการเสียงสนับสนุนในสภามากกว่าเดิม เขาก็จะใช้วิธีการควบรวมพรรคการเมืองอื่นๆที่มีขนาดเล็กกว่า เพียงแต่ว่ากรณีนี้ไม่ถือว่าเป็นการควบรวม แต่นัยยะก็ถือเป็นการเพิ่มจำนวนส.ส.ให้กับพรรคการเมืองที่มีขนาดใหญ่กว่า เท่ากับว่าผลลัพธ์ออกมาเหมือนกัน

เมื่อถามว่า กรณีนี่จะทำให้พรรคการเมืองอื่นดำเนินการตามหรือไม่ นายสติธร กล่าวว่า มีแนวโน้มว่าพรรคเล็กจะใช้วิธีเดียวกับกรณีของนายไพบูลย์ ซึ่งในส่วนของส.ส.เขตไม่น่าจะมีปัญหา แต่ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ อาจจะเป็นปัญหาที่ต้องถกเถียงกัน เพราะรัฐธรรมนูญคุ้มครองสถานะของส.ส. แต่คะแนนจะเป็นปัญหา และเมื่อนำคะแนนไปรวมกับพรรคใหม่ก็จะมีปัญหาการเลื่อนลำดับบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองนั้น ซึ่งจะเป็นปัญหาว่าแล้วคุณจะไปแทรกอยู่ตรงไหนของบัญชีรายชื่อ

“แปลว่า พรรคเล็กอื่นๆอาจจะอยากทำตาม แต่พรรคที่พรรคเล็กจะเข้าไปสมัครอาจจะไม่ชอบ เพราะว่าบัญชีรายชื่อเดิมของเขาอาจจะเสียไป และได้คนจากพรรคเล็กเข้าไปแทน โดยที่คนเหล่านี้อยู่นอกบัญชีรายชื่อ 150 คน แล้วมันจะเกิดปรากฎการณ์ว่า ส.ส.ที่มาจากระบบย้ายเข้า จะกลายเป็นส.ส.อมตะ ไม่มีวันตาย คือพูดง่ายๆว่าคนอื่นๆเมื่อมีการเลือกตั้งใหม่ ในเขตที่มีการทุจริตการเลือกตั้ง และต้องมีการคำนวณคะแนนใหม่ คนอื่นมีโอกาสหลุดออกจากบัญชี แต่คนที่ลอยมาจากพรรคอื่นอยู่นอกบัญชีแปลว่าสถานะเขาคงที่ตลอดไป ทั้งๆที่ถ้าเขาอยู่พรรคเดิมอาจหลุดจากการเป็นส.ส. ถ้ามีการคำนวณคะแนนใหม่ ” นายสติธร กล่าว

Advertisement

นายสติธร ยังกล่าวอีกว่า สำหรับกรณีปมปัญหานี้ กกต.ในฐานะผู้ถือกฎหมายต้องตีความและเทียบเคียงกฎหมายให้เกิดความชัดเจน เพราะกฎหมายไม่ได้พูดถึงการโอนคะแนนจากพรรคการเมืองหนึ่งไปสู่พรรคการเมืองหนึ่ง ตามสถานภาพของ ส.ส.ที่ย้ายจากพรรคหนึ่งไปอีกพรรคหนึ่ง และไม่ได้พูดว่าให้ทิ้งคะแนนแล้วไปคำนวณใหม่ เมื่อกฎหมายไม่ได้พูดถึง จะมาทำแบบนี้ก็คงไม่ได้ วิธีการที่เป็นไปได้มากที่สุดก็คือการเทียบเคียงกับระบบที่วางเอาไว้ แต่เราไม่ควรตีความกฎหมายที่สร้างความจูงใจให้พรรคเล็กทำตาม แต่ควรตีความและสร้างแนวปฏิบัติให้เกิดแนวบรรทัดฐาน ซึ่งเรื่องดังกล่าวต้องยอมรับว่าเกิดความไม่ชัดเจนจากข้อกฎหมาย ซึ่งยังมีอีกหลายมาตราที่ไม่ได้ระบุไว้ โดยคนที่ลองทำอาจจะอยากให้เกิดการตีความแล้วเกิดแนวปฏิบัติ อย่างไรก็ตามต้องรอดูกกต.จะพิจารณาอย่างไร ซึ่งผลออกมาถ้านายไพบูลย์ พอใจเรื่องก็จบ แต่ถ้าไม่พอใจในฐานะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง ก็อาจจะยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าขัดกฎหมาย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image