‘ธีระชัย’ สวน ‘วิกรม’ อุตสาหกรรมที่ทำลายแหล่งอาหาร ก็ไม่ต่างกับการตัดมือตัวเอง

เมื่อวันที่ 25 ส.ค. นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวแสดงความเห็น กรณี นายวิกรม กรมดิษฐ์ ประธานกรรมการบริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) ออกมาระบุว่าประเทศไทยต้องพึ่งกลุ่มทุน ดึงนักลงทุนผลักดันการพัฒนาประเทศ ชี้สร้างเม็ดเงินได้ 1.7 ล้านล้านบาท โดยเชื่อว่า กลุ่มค้าน EEC เป็นคนนอกพื้นที่ มั่นใจคนไทยต้องการพัฒนาเมืองอัจฉริยะมากกว่าทำการเกษตร

นายวิกรมกล่าวว่า “ชาวบ้านที่ค้าน แค่คนไม่เกิน 10 คน ไม่ใช่คนในท้องที่ จึงอยากให้ไปรับฟังชาวบ้านจริงๆ ว่าเขาต้องการทำเกษตร หรือต้องการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ”

ผมตั้งข้อสังเกต หนึ่ง ต้องไม่ตัดมือตัวเอง

ถึงแม้การจูงใจนายทุนต่างชาติมาลงทุนอุตสาหกรรม เป็นเรื่องสำคัญ แต่ผู้ที่แลกด้วยการทำลายแหล่งผลิตลูกพันธุ์อาหารทะเลหลักของชาติ ก็ไม่ต่างอะไรกับตัดมือตัวเอง

Advertisement

อุตสาหกรรมจะต้องไม่ไปเบียดบังเกษตรกรรม เพราะยังไงๆ คนไทยก็ยังต้องกินข้าวปลาอาหาร

รัฐบาลลุงตู่ต้องไม่ปล่อยให้อุตสาหกรรมรุกไล่แหล่งผลิตลูกพันธุ์อาหารทะเลหลักของชาติ(บริเวณรอยต่อฉะเชิงเทรากับชลบุรี) ซึ่งผลิต 50% ของลูกกุ้งกุลา ลูกปลากระพง 1,000 ล้านตัว/ปี ลูกปลานิล 2,000 ล้านตัว/ปี

สอง แหล่งผลิตลูกพันธุ์อาหารทะเลย้ายไม่ได้

Advertisement

โรงงานอุตสาหกรรมย่อมอยากอยู่ใกล้ท่าเรือแหลมฉะบัง เพื่อลดค่าขนส่ง

แต่รัฐควรวางนโยบายผลักดันให้วางตัวลึกเข้าไปเล็กน้อย เช่น จังหวัดสระแก้ว ปราจีนบุรี โคราช และบุรีรัมย์

ส่วนแหล่งผลิตลูกพันธุ์อาหารทะเลนั้น จำเป็นต้องอยู่ใกล้ทะเล ไม่สามารถย้ายได้

สาม เมืองอัจฉริยะนั้น กินไม่ได้

เมืองอัจฉริยะจะน่าอยู่ ก็ต่อเมื่อมีแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์ ซึ่งแหล่งผลิตลูกพันธุ์อาหารทะเลที่ทำหน้าที่นี้ ก็มีขนาบกรุงเทพอยู่ ทั้งฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก

สี่ คนนอกพื้นที่ย่อมมีสิทธิจะแสดงความเห็น

ข้อพิจารณาว่า ชาวบ้านที่ค้านมีไม่กี่คน ส่วนคนที่คัดค้านนั้น ไม่ใช่คนในท้องที่ เป็นการหลงประเด็น เพราะคนทั้งประเทศถูกผลกระทบด้านอาหาร ดังนั้น ทุกคนจึงมีสิทธิแสดงความเห็น

ห้า อมตะนครทั้ง 1 และ 2 ตั้งอยู่ในจุดที่ก่อประโยชน์ หรือก่อโทษ แก่ประเทศ?

ในการวางผังเมืองภาพรวม นอกจากรัฐจะต้องเว้นที่สำหรับแหล่งอาหารแล้ว ยังต้องมีพื้นที่กันชน buffer zone เพื่อกั้นสารปนเปื้อนอีกด้วย ซึ่งพื้นที่กันชนจำเป็นต้องกว้างขวางพอควร

กรณีโครงการอมตะนคร 1 ซึ่งมีข่าวว่าถูกร้องเรียนมีการสร้างอาคารปิดเส้นทางน้ำสาธารณะ และอยู่ระหว่างตรวจสอบนั้น อาจเป็นจุดที่สมควรจะเป็นพื้นที่กันชน buffer zone มากกว่าจะอนุญาตเป็นนิคมอุตสาหกรรม

ส่วนจุดที่ตั้งของโครงการอมตะนคร 2 ซึ่งถูกวิจารณ์ว่าขวางทางน้ำหลักของพื้นที่เกษตรนั้น รัฐควรตรวจสอบให้ชัดเจนเสียก่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image