กกต.ไม่หนุนองค์กรเอกชนเข้าสังเกตการณ์ประชามติ แนะใช้แอพตาสับปะรดแทน

แฟ้มภาพ

“สมชัย”ลั่น เอาจริงกับเพจดังนำเสนอเพลงโน้มน้าวประชามติ แนะผู้ไม่เกี่ยวข้องไปลงบันทึกประจำวันไว้ ยันเดินหน้า ไม่หยุดรอฟังคำวินิจฉัยศาลรธน.ระบุ ปชช.รวมตัวสอดส่องทำประชามติได้ แต่ต้องไม่เข้าไปในหน่วยออกเสียง –ขัดขวางกปน.-ก่อความวุ่นวาย

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 8 มิถุนายน ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการ กกต. กล่าวว่า ที่ประชุม กกต.ได้รับทราบกรณีที่มีเพจเฟซบุ๊กเผยแพร่เพลงที่มีข้อความหยาบคายโน้มน้าวจูงใจให้ประชาชนไปออกเสียงในทางใดทางหนึ่งและได้มอบหมายให้คณะทำงานของสำนักงาน กกต.ไปศึกษาว่าเข้าข่ายมีความผิดหรือไม่ตามที่ได้ให้ข่าวไปก่อนหน้านี้ ซึ่งคาดว่าภายในหนึ่งสัปดาห์น่าจะได้ข้อมูล ทั้งนี้ ตนอยากฝากถึงบุคคลที่ปรากฏในคลิปเพลงดังกล่าวว่าหากไม่รู้เห็นหรือกระทำการก่อนที่ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติมีผลบังคับ ก็ควรไปแจ้งลงบันทึกประจำวันว่าไม่มีส่วนรู้เห็นหรือสนับสนุนให้มีการเผยแพร่คลิปดังกล่าวหลัง พ.ร.บ.ประชามติมีผลใช้บังคับ เพราะไม่ฉะนั้นจะถือว่ามีความผิดไปด้วยรวมทั้งประชาชนทั่วไปขอให้ระมัดระวังในการส่งต่อคลิปดังกล่าวด้วย

นายสมชัยกล่าวว่า การออกมาเตือนเรื่องนี้ไม่ใช่แค่ขู่ แต่เพื่อให้เลิกกระทำ เป็นการเอาจริงทุกเรื่อง ซึ่งการจะทำอะไรต้องเป็นไปด้วยความเที่ยงธรรม โดยขณะนี้อยู่ในระหว่างการรวบรวมข้อมูล หากพบว่าเข้าข่ายมีความผิด ก็จะส่งเรื่องให้กับพนักงานสอบสวนดำเนินการ หรือกรณีการขายเสื้อโหวตโนของขบวนการประชาธิปไตยใหม่ก็อยู่ระหว่างการดำเนินการอยู่ ขอยืนยันว่าการดำเนินการดังกล่าว กกต. ไม่สามารถรอคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญได้ เพราะตราบใดที่ศาลยังไม่วินิจฉัยต้องถือว่า พ.ร.บ.ประชามติยังมีผลบังคับใช้อยู่ กกต.ในฐานะผู้รักษาการกฎหมายก็ต้องว่าไปตามข้อเท็จจริง หากหยุดดำเนินการก็มีโอกาสที่จะถูกฟ้องฐานะเป็นเจ้าหน้าที่ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ได้

นายสมชัยกล่าวถึงกรณีการตั้งศูนย์ปราบโกงของกลุ่ม นปช. ว่า การที่ประชาชนจะรวมตัวกันในการสอดส่องการออกเสียงประชามติเป็นสิ่งที่ดี แต่ระเบียบของ กกต.ไม่ได้ส่งเสริมให้องค์กรเอกชนเข้ามาร่วมตรวจสอบประชามติเหมือนกับการเลือกตั้ง ที่ กกต. สามารถเข้าไปสนับสนุนได้เต็มที่ ดังนั้น กกต. จึงไม่สามารถไปส่งเสริมให้องค์กรเอกชนเข้ามาสังเกตการณ์การออกเสียงในหน่วยออกเสียงได้ แต่การรวมตัวกันของประชาชนที่จะสังเกตการณ์ แม้จะทำได้แต่ต้อง 1.ไม่เข้าไปในหน่วยออกเสียง 2.ไม่ขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการประจำหน่วย 3.ไม่ก่อความวุ่นวาย หรือแสดงท่าทีโน้มน้าว จูงใจ ปลุกระดม ข่มขู่ ให้ผู้มีสิทธิออกเสียงดำเนินการออกเสียงไปทางใดทางหนึ่ง ถ้ายึดในหลักการนี้ได้ การรวมตัวสอดส่องก็สามารถทำได้ อีกทั้ง กกต.ก็มีแอพพลิเคชั่นตาสับปะรด เพื่อรับแจ้งเหตุ ประชาชนก็สามารถแจ้งเข้ามาได้ ซึ่งขณะนี้ยังมีน้อยอยู่ รวมถึงถ้า นปช. อยากให้ กกต. ส่งคนไปอบรมการใช้แอพพ์ดังกล่าวก็พร้อม

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image