เรืองไกร ร้องกกต. สอบคุณสมบัติ”อุตตม” พร้อมจี้สอบ”ไพบูลย์” หมดสิทธิสมัครพปชร.

เรืองไกร ร้องกกต. สอบคุณสมบัติ”อุตตม ” เหตุเป็นหนึ่งในคกก.อนุมัติเงินกู้กรุงไทยให้กฤษดานคร –พร้อมจี้สอบ”ไพบูลย์” ขาดสมาชิกภาพหมดสิทธิสมัคร สังกัดพปชร.เหตุไม่ใช่คำสั่งศาลรธน. ให้ยุบพรรคประชาชนปฎิรูป

เมื่อ‪เวลา 10.00 น.‬ วันที่ 10 กันยายน ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตสมาชิกพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) เข้ายื่นหนังสือถึงกกต.เพื่อขอให้ตรวจสอบความเป็นรัฐมนตรีของนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สิ้นสุดลง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 (4) ประกอบมาตรา160 (4) หรือไม่ เมื่อวันที่30 สิงหาคม ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้มีคำพิพากษาในคดีธนาคารกรุงไทยปล่อยเงินกู้ให้กับกฤษดามหานคร ซึ่งแม้ตามคำพิพากษาจะระบุว่านายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯไม่มีความผิดแต่ในเนื้อของคำพิพากษามีข้อเท็จจริงที่เป็นข้อยุติว่านายอุตตม ศาลได้วินิจฉัย และตัดสินว่าพฤติการณ์ของคณะกรรมการบริหารอนุมัติสินเชื่อของธนาคารกรุงไทย ที่มีนายอุตตม เป็นหนึ่งในคณะกรรมการบริหาร ซึ่งได้อนุมัติสินเชื่อจำนวน 9.9 พันล้านบาทให้กับกฤษฎานคร คณะกรรมการบริหารมีเจตนาฝ่าฝืนประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย และมีเจตนาช่วยเหลือให้กฤษดามหานครได้รับสิ้นเชื่อ และแม้ว่าในการรับรองรายงานการประชุมในครั้งถัดมาจะมีเพียงแค่กรรมการ 3 คน แต่ไม่มีนายอุตตม ร่วมรับรองประกอบกับในการประชุมหลังจากนั้นนายอุตตม ได้เข้าร่วมประชุม และได้รับทราบรายงานความคืบหน้าโครงการที่มองว่าการดำเนินการดังกล่าวเป็นเพียงแค่การรีไฟแนน โดยไม่มีข้อท้วงติงใดๆและเมื่อธนาคารแห่งประเทศไทยเข้าไปตรวจสอบ รวมทั้งมีการดำเนินคดีของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ซึ่งไม่ได้ดำเนินคดีกับนายอุตตม แต่คำพิพากษาของศาลล่าสุดได้พิจารณาแล้วว่าคณะกรรมทั้ง 5 คนฝ่าฝืนไม่สุจริต ตนจึงอยากให้กกต.ตรวจสอบ เพราะน่าจะเข้าข่ายความผิดของรัฐธรรมนูญมาตรา 160 (4) ผู้ซึ่งเป็นรัฐมนตรีจะต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ อย่างไรก็ตาม นอกจากกกต.แล้วตนยังเชื่อว่าส.ส.จะเข้าชื่อเพื่อตรวจสอบคุณสมบัติของนายอุตตมด้วย

นายเรืองไกร ยังขอให้กกต.ตรวจสอบว่านายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตหัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูป ขาดสมาชิกภาพการเป็นส.ส.หลังกกต.มีมติให้พรรคประชาชนปฏิรูปสิ้นสภาพ ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว เนื่องจากตนเห็นว่าการสิ้นสภาพส.ส.มีได้ 2 แบบ คือตามมาตรา 91 ในกรณียุบเลิกพรรค และในมาตรา 92 กรณีถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรค ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (10) ส.ส.จะขาดความเป็นสมาชิกภาพเมื่อขาดการเป็นสมาชิกพรรคการเมือง โดยกรณีนายไพบูลย์ อ้างว่ามี‪เวลา 60 วัน‬ กรณีดังกล่าวเป็นกรณีที่ศาลมีคำสั่งยุบพรรค แต่กรณีของนายไพบูลย์เป็นการยุบเลิกพรรค ประกอบกับการสิ้นสภาพพรรคที่กฎหมายกำหนดให้ยังต้องดำรงสถานะการเป็นหัวหน้าพรรคเพื่ออยู่ปิดบัญชี การที่นายไพบูลย์จะสมัครเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ยังไม่ทราบว่าพรรคพปชร.จะรับเป็นสมาชิกหรือไม่ และคะแนนของพรรคประชาชนปฏิรูป รวมถึงลำดับส.ส.บัญชีรายชื่อ จะลำดับอย่างไร เข้าข่ายการได้มาซึ่งอำนาจการปกครองที่มิชอบด้วยหรือไม่ ดังนั้นในวันนี้ข้อเท็จจริงได้เกิดขึ้นแล้วตนจึงอยากให้กกต.พิจารณาและส่งเรื่องดังกล่าวให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย หากพรรคพปชร.รับนายไพบูลย์ ไว้เป็นสมาชิกพรรค ตนก็จะเดินหน้าตรวจสอบอีกครั้ง

นอกจากนี้ นายเรืองไกร ยังเข้าให้ถ้อยคำต่อเจ้าหน้าที่ กกต.กรณีขอให้กกต.ตรวจสอบความเป็นสมาชิกภาพส.ส.สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ เนื่องจากเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์ หรือสื่อมวลชนใดๆ

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image