“ช่อ”อัดยับ รัฐแจ้งข้อมูลเตือนภัยกระจัดกระจาย ปชช.สับสน หนีไม่ทัน ช่วยเหลือล่าช้า

“ช่อ” เลคเชอร์ รัฐบาลสอบตกช่วยน้ำท่วมอุบลฯ – มี 4 เรื่องรอสอบซ่อม ชี้ แจ้งข้อมูลเตือนภัยกระจัดกระจาย ปชช.สับสน หนีน้ำไม่ทัน ใช้ “ระบบราชการ” ความช่วยเหลือล่าช้า อัด “สทนช.” อุตส่าห์มี “บิ๊กป้อม” นั่งหัวโต๊ะ แต่ล้มเหลวแก้น้ำท่วม-น้ำแล้ง

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 16 กันยายน ที่พรรคอนาคตใหม่ น.ส.พรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรคอนาคตใหม่(อนค.) เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำท่วมหลังลงพื้นที่ว่า เมื่อวันที่ 15 กันยายนที่ผ่านมา ตนพร้อมด้วยนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และนายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ได้ลงพื้นที่จ.อุบลราชธานี เพื่อเยี่ยมและรับฟังปัญหาประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากน้ำท่วม ซึ่งถือว่ารุนแรงที่สุดในรอบ 41 ปี ของจ.อุบลราชธานี ระดับน้ำสูงกว่า 5-6 เมตร

โดยข้อสรุปหลังรับฟังปัญหาของชาวอุบลราชธานี คือ รัฐบาลมีเรื่องสอบตก 4 เรื่อง และมีเรื่องต้องสอบซ่อม 4 เรื่อง เรื่องที่สอบตก มีดังนี้ 1.ขาดการเตือนภัยพิบัติที่ชัดเจนแน่นอน เมื่อครั้งที่น้ำท่วมจ.มหาสารคาม และ จ.ร้อยเอ็ด คนที่อุบลราชธานีก็เตรียมพร้อมแล้วว่าน้ำจะท่วมในอีก 2 สัปดาห์ คนในพื้นที่บอกกับตนว่า เก็บข้าวของไม่ทัน ได้มาเพียงเอกสารสำคัญติดตัวเท่านั้น เป็นที่น่าสงสัยว่าเหตุใดจึงเก็บของไม่ทัน ซึ่งชาวบ้านบอกว่า การเตือนภัยของหน่วยงานรัฐแตกกระจายไม่รวมศูนย์ โดยเฉพาะพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม บอกอีกทาง โฆษกรัฐบาลบอกไปอีกทาง ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ก็ให้ข้อมูลอีกทางหนึ่ง ซึ่งสุดท้ายแล้วเป็นข้อมูลที่ถูกต้อง แต่ประชาชนเลือกที่จะเชื่อข้อมูลจากรัฐบาล เพราะเป็นหน่วยงานที่เหนือกว่า ทำเกิดความเข้าใจผิดแก่พี่น้องประชาชน

น.ส.พรรณิการ์ กล่าวว่า 2.การขาดการช่วยเหลือที่กระจายอำนาจ ทำให้การช่วยเหลือล่าช้า คนที่เข้ามาช่วยเหลือส่วนมากมาจากภาคเอกชน เช่น นักธุรกิจในพื้นที่อุบลราชธานี และประชาชนทั่วประเทศ แต่ความจริง ความช่วยเหลือต้องมาจากรัฐบาลเป็นหลัก หมายความว่ารัฐบาลรวมศูนย์ในสิ่งที่ไม่ควรจะรวมศูนย์ และกระจายในสิ่งที่ไม่ควรกระจาย เช่น การกระจายการเตือนภัยที่สร้างความวุ่นวาย สับสน แต่การส่งความช่วยเหลือกลับทำแบบรวมศูนย์ ตนคิดว่าในภาวะภัยพิบัติไม่ควรใช้ระบบราชการที่ยืดเยื้อเช่นนี้ 3.การขาดการบริหารจัดการน้ำในระยะยาวอย่างไม่มีประสิทธิภาพ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำมีหลายกรมหลายกระทรวง ขนาดมีการตั้งหน่วยงานอย่างสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ซึ่งมีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี นั่งหัวโต๊ะคอยสั่งการ ที่มีความตั้งใจที่จะนำปัญหาการบริหารจัดการน้ำมารวมอยู่ที่เดียว น้ำท่วมที่อุบลราชธานีครั้งนี้เป็นข้อพิสูจน์ว่าสทนช. ทำงานล้มเหลว ทั้งการบริหารจัดการน้ำท่วม และน้ำแล้ง และ 4.การบริหารจัดการขวัญกำลังใจของประชาชน แน่นอนว่า พล.อ.ประยุทธ์ ไม่สามารถอยู่กับประชาชนได้ทุกที่ แต่ในห้วงเวลาที่เกิดภัยพิบัติ นายกฯ ไม่ได้สร้างความรู้สึกว่านายกฯ สนใจหรือใส่ใจประชาชนมากพอ สิ่งที่ต้องทำคือจะเยียวยาและช่วยเหลือประชาชนอย่างไร แต่รัฐบาลไม่มีทีท่าที่จะทำเรื่องนี้

Advertisement

น.ส.พรรณิการ์ กล่าวอีกว่า ส่วนเรื่องที่รัฐบาลต้องสอบซ่อม คือ 1.เยียวยาฟื้นฟูหลังน้ำลด เช่น จ.ร้อยเอ็ด และจ.มหาสารคาม รัฐบาลได้ให้ความชัดเจนกับประชาชนหรือยังว่าจะแก้ไขและเยียวยาอย่างไร 2.การส่งความช่วยเหลือไปยังพื้นที่น้ำขังในระยะยาว จ.อุบลราชธานีจะท่วมต่ออีกประมาณ 1 เดือนแน่นอน ในภาวะน้ำท่วมระยะยาวแบบนี้จะเกิดโรคระบาด และขาดแคลนน้ำดื่ม อาหาร และยารักษาโรค รัฐบาลต้องแสดงออกที่จะช่วยเหลือให้ชัดเจน 3.การวางแผนบริหารจัดการน้ำ และการวางแผนผังเมืองใหม่ เพื่อป้องกันน้ำท่วม เพราะน้ำท่วมที่จ.อุบลราชธานี ชาวบ้านบอกตรงกันว่า พื้นที่ที่เคยท่วมเล็กน้อย กลับท่วม 2-3 เมตร สาเหตุมาจากมีการถมที่และสร้างเมืองขวางทางน้ำ ซึ่งเกิดขึ้นแบบนี้ในหลายพื้นที่ และ 4.พื้นที่ที่น้ำท่วมไปแล้ว ยังมีสิทธิท่วมอีกรอบ และพื้นที่ที่ยังไม่ท่วมอาจจะเกิดน้ำท่วมได้ รัฐบาลต้องเตรียมรับมืออีกครั้ง ทั้งการประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนแก่ประชาชน และการตั้งศูนย์อพยพที่จะไม่ต้องย้ายซ้ำซ้อน ตนเชื่อว่าประชาชนคนไทยทั้งประเทศกำลังรอตรวจข้อสอบ และวิธีการแก้ไขปัญหาจากรัฐบาลอยู่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image