‘สมชาย หอมลออ’ ชี้รัฐบาลเปราะบางคือโอกาสแก้รธน. ดันตั้ง สสร. ปฏิรูปกองทัพ

เมื่อวันที่ 30 กันยายน ที่ห้องเพทาย โรงแรมรัตนโกสินทร์ ถ.ราชดำเนิน กรุงเทพฯ มีการจัดเสวนาหัวข้อ “การปฏิรูปสังคม-เศรษฐกิจ-การเมืองไทย กับการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย” โดยมีคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) และผู้แทน 30 องค์กรประชาธิปไตย และตัวแทนพรรคการเมืองต่างๆเข้าร่วม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าบรรยากาศการเสวนาเป็นไปอย่างคึกคักโดยมีการแลกเปลี่ยนความเห็นในประเด็นต่างๆอย่างต่อเนื่อง

นายสมชาย  หอมลออ ที่ปรึกษา ครป. และสมาคมนักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า
ประเทศไทยได้ผ่านวิกฤตมาหลายครั้งที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ทั้ง 14 ตุลา 6 ตุลา พฤษภา วิกฤตแต่ละครั้งเพื่อก้าวไปข้างหน้าบนหนทางประชาธิปไตยด้วยพลังของประชาชน แต่เรายังไม่ได้หยิบโอกาสนั้นมาขับเคลื่อนอย่างเต็มที่ ส่วนตัวเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์เหล่านั้นมาโดยตลอด เมื่อพิจาณาว่าเหตุใดมีโอกาสจึงผลักดันไม่ได้ ปัจจัยสำคัญคือ ความรู้ ประสบการณ์ และการดำรงรักษาไว้ซึ่งพลังในการขับเคลื่อนต่อไปยังไม่สามารถจะทำได้ เช่น หลัง 14 ตุลา เป็นต้น พลังของ ประชาชน นักศึกษา ชาวนาและกรรมกรเกิดมหาศาล แต่สุดท้ายก็ถูกตีโต้และถูกทำลายไป เมื่อ 6 ตุลาคมปี 2535 เมื่อ ครป. และกลุ่มพันธมิตรองค์กรอื่นๆ ที่โค่นล้มองค์กรที่มาจากทหาร มีโอกาสเปิดกว้างค่อนข้างมาก เกิดวิกฤต การเมืองและเศรษฐกิจ ประชาชนเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงให้ถึงรากซึ่งเปลี่ยนได้แค่บางระดับเท่านั้น นำมาสู่การตีโต้ ซึ่งแม้จะใช้เวลายาวนานกว่า 14 ตุลา แต่ตอนนี้เราก็ถอยหลังเข้าคลองไปไม่ใช่น้อย


ตอนนี้ การแก้รัฐธรรมนูญตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ได้ถูกวางกับดักจนยากที่จะแก้ไขได้ แม้จะมีความริเริ่มพยายามจากหลายฝ่าย ทั้งกลุ่มองค์กร การเมือง ภาควิชาการ แต่บางครั้งโอกาสมาโดยที่เราไม่อาจจะคาดหมายได้ อาจจะเกิดขึ้นพรุ่งนี้ เดือนหน้า หรือปีหน้า และโอกาสมักจะมาจากวิกฤตเสมอ ตอนนี้รัฐบาลค่อนข้างที่จะอ่อนแอ ไม่รวมถึงระบบราชการที่ค้ำจุนรัฐบาลชุดนี้ ซึ่งความเปราะบางอาจเป็นโอกาส รวมทั้งปัญหาเศรษฐกิจที่รุนแรง อาจเกิดโอกาสการเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ จึงอยากให้กำลังใจว่าอย่าได้ท้อแท้

Advertisement

“ปัญหาสำคัญคือ ประเด็นที่ 1 เราจะต้องสรุป ประมวล และวางแนวทางหรือเนื้อหาของการปฏิรูปไว้ ซึ่งระยะ 10 กว่าปีที่ผ่านมามีการศึกษาไว้ ไม่น้อย แต่บางประเด็นยังไม่ได้พูดถึง หรือไม่กล้าที่จะพูดถึง บางเรื่องมีการประมวลและกำหนดแนวทางปฏิรูปไว้พอสมควร ซึ่งเรื่องที่ยังไม่ได้พูดถึง เช่น การปฏิรูปกองทัพ ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่สำคัญมากเพื่อให้ประเทศก้าวต่อไปบนหนทางประชาธิปไตย

การดำเนินการนี้จะมีพลังได้ก็ต่อเมื่อประชาชนรู้สึกว่าการเรียกร้องแก้ไขรัฐธรรมนูญสนองความต้องการของเขา เขาต้องการรัฐธรรมนูญที่กินได้ ให้ชีวิตผาสุก เป็นโจทย์สำคัญที่จะเสนอต่อประชาชนเพื่อให้มีแรงสนับสนุน เมื่อประมวลจากการสรุปบทเรียนจากรัฐธรรมนูญ 2540 เห็นว่า

1.เป็นการปฏิรูปแบบครึ่งๆกลางๆ เป็นการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมโดยให้ศาลเป็นผู้ออกหมาย แทนที่จะเป็น ตำรวจ หรือพนักงานฝ่ายกฎหมาย แสดงให้เห็นว่า แม้แต่เรื่องเล็กน้อยก็ยังมีแรงเสียดทานอยู่มาก
2.บทเรียนรัฐธรรมนูญ 2540 คือ ต้องนำเอาบทบัญญัติหรือแนวคิดที่ไม่อาจบิดพริ้วได้ไปกำหนดไว้ใน รัฐธรรมนูญ โดยไม่กังวลว่ารัฐธรรมนูญจะยาวหรือสั้น ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญในการใส่ไปรัฐธรรมนูญนั้นโดยที่ไม่อาจจะปฏิเสธหรือหลีกเลี่ยงได้
3.เมื่อกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขแล้ว และสมมุติว่ารัฐธรรมนูญฉบับนั้นได้ผ่านความเห็นชอบของประชาชนและตราออกมาเป็นกฎหมายอย่างถูกต้อง หากมีบทบัญญัติออกเป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักไทย จะทำอย่างไรให้มีผลในทางปฏิบัติ โดยไม่กลับถอยหลังอีก
ประเด็นที่ 2 การขับเคลื่อนของประชาชน ต้องเดินไปและเติบใหญ่มากยิ่งขึ้น จากการต่อยอดการผลักดันในลักษณะที่จะต้องทวีคูณ ยุทธศาสตร์ คือ ในรัฐธรรมนูญจะต้องมีเงื่อนไขบางประการให้พลังของประชาชนทวีคูณมากยิ่งขึ้น ซึ่งเราได้ศึกษาในบทเรียนและจะต่อยอดพัฒนาต่อไป” นายสมชายกล่าว

นายสมชาย กล่าวด้วยว่า ประเด็นสุดท้าย เห็นด้วยกับวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยจัดตั้ง สสร. แต่แน่นอนว่านี่เป็นจุดอ่อนไหวและต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ โจทย์ข้อแรก คือ บทบัญญัติเพื่อนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะไม่ถูกบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญ ถ้าสภาร่างฯ ไม่ได้เป็นปากเสียงของประชาชน ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งในประเด็นที่ 2 คือ พลังของประชาชนในการขับเคลื่อนแก้ไขรัฐธรรมนูญ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image