กกต.เปิดเวทีภาคใต้ถกร่างรธน.-ประชามติ แกนนำปชป.กปปส.-ผู้ว่าฯ –นักการเมืองท้องถิ่น ตบเท้าเข้าร่วมคึกคัก

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 11 มิถุนายน ที่สโมสรรื่นฤดี ค่ายวชิราวุธ อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดประชุมชี้แจงเรื่อง “ร่างรัฐธรรมนูญ ประชามติ และประชาชน” เป็นครั้งที่ 2 ต่อจากเวทีแรกซึ่งจัดขึ้นที่สโมสรทหารบก กทม. เมื่อช่วงกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา โดยการประชุมครั้งนี้มีผู้แทนจาก 4 ฝ่ายเข้าร่วม ประกอบด้วยผู้แทนจากคณะรัฐมนตรี คือ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี และนายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้แทนจากคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) คือ นายประพันธ์ นัยโกวิท และนายปกรณ์ นิลประพันธ์ ผู้แทนจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นายกล้านรงค์ จันทิก นายสมชาย แสวงการ ส่วนผู้แทนของ กกต.ประกอบด้วยนายสมชัย ศรีสุทธิยากร และนายธีรวัฒน์ ธีรโรจน์วิทย์ กรรมการ กกต.

ขณะที่ผู้มาร่วมฟังในห้องประชุมจาก 14 จังหวัดภาคใต้ จำนวน 600 คน ประกอบด้วยผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้บังคับการตำรวจภูธร ประธานกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัด สมาชิกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตัวแทนพรรคการเมืองซึ่งส่วนใหญ่เป็นอดีต ส.ส.และแกนนำจากพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) อาทิ นายวิทยา แก้วภราดัย อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และแกนนำ กปปส. นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และประชาชนทั่วไปเข้าร่วมงานจำนวนมาก

จากนั้นได้เปิดโอกาสให้ตัวแทนของแต่ละฝ่ายได้ชี้แจงถึงเหตุผลของการดำเนินการ

นายประพันธ์ นัยโกวิท กรธ.กล่าวว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้รับรองสิทธิประชาชนเพื่อให้สามารถนำไปปฏิบัติได้จริงโดยไม่ต้องร้องขอ หลายประเด็นจึงถูกกำหนดให้เป็นหน้าที่ของรัฐ ขณะที่ระบบการเลือกตั้งก็ได้ให้ความสำคัญกับคะแนนเสียงประชาชน คือ ทุกคะแนนเสียงจะมีความหมาย ส่วนการมีส่วนร่วมของประชาชนเราก็ได้กำหนดมาตรการรองรับด้านต่างๆ ไว้อย่างเต็มที่

Advertisement

ขณะที่นายกล้านรงค์ จันทิก สนช.กล่าวชี้แจงถึงการที่ สนช.กำหนดให้มีคำถามเพิ่มเติมโดยระบุให้ ส.ว.ร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีในช่วง 5 ปีแรกได้ ว่า ต้องการเน้นความสำคัญของการปฏิรูปประเทศและแผนยุทธศาสตร์ชาติที่อยากให้เกิดขึ้นและได้ผลสมตามเจตนารมณ์ของร่างรัฐธรรมนูญ โดยไม่ได้มีเจตนาอื่นแต่อย่างใด

นายชินวรณ์ บุญยเกียรติ อดีตส.ส.ประชาธิปัตย์ ถามว่า ไม่ว่ารัฐธรรมนูญฉบับใดก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนได้ ยอมรับว่าการร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้อยู่ภายใต้สถานการณ์พิเศษ เมื่อรัฐธรรมนูญเปลี่ยนพฤติกรรมคนไม่ได้ ก็ควรทำให้ประชาชนได้รับรู้มากที่สุด ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของกกต.ที่จะต้องทำให้ประชาชนเข้าใจจุดแข็งของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ขณะที่รัฐบาลก็ต้องทำความเข้าใจประเด็นคำถามพ่วงเพื่อให้ประชาชนเข้าใจเช่นกัน อีกทั้งไม่อยากให้มองประชาชนเป็นจำเลยโดยเฉพาะในเรื่องการแสดงความคิดเห็นที่ปล่อยให้ประชาชนพูดแล้วกกต.มาชี้ถูกชี้ผิด ดังนั้น ขอให้กกต.มีความชัดเจนว่าประชาชนสามารถแสดงความเห็นใดได้บ้าง หากประชาชนเข้าใจ เชื่อว่าศูนย์ปราบโกงประชามติจะหมดไป

ขณะที่ประชาชนจากจังหวัดพัทลุง ถามว่า ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีจะยึดโยงประชาชนหรือให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมได้อย่างไร และควรเป็นยุทธศาสตร์ชาติที่ร่างโดยสภาที่ประชาชนเลือกมาหรือไม่ และการมี ส.ว.สรรหานั้นจะยึดโยงกับประชาชนได้อย่างไร

Advertisement

ทั้งนี้ นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขานุการกรธ.กล่าวชี้แจงว่า รัฐธรรมนูญเป็นกลไกที่ใช้กับประชาชนทุกคน ดังนั้นรัฐธรรมนูญจึงได้กำหนดให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมด้านต่างๆ โดยหลักการสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ กรธ.พยายามทำเพื่อส่วนรวมไม่ได้ทำเพื่อคนใดคนนั้น ขณะที่ส.ว.ตามร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ในบทถาวรได้กำหนดให้ประชาชนที่มีคุณสมบัติตรงตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้สามารถเข้ามาสมัครเพื่อคัดเลือกกันเองเป็นส.ว.ได้ โดยกระบวนการนี้ส.ว.จะไม่ได้มาจากการแต่งตั้ง มีแต่บทเฉพาะกาลเท่านั้นที่ส.ว.จะมาจากการแต่งตั้งจากคสช.ซึ่งตรงตามที่ทางรัฐบาลและฝ่ายต่างๆ ต้องการให้มีส.วมาดำเนินการให้กระบวนการทุกอย่างในช่วงระยะเวลาเปลี่ยนผ่านเป็นไปด้วยความเรียบร้อย

ส่วนนายสมชาย แสวงการ สนช.ชี้แจงว่า มีความจำเป็นต้องมียุทธศาสตร์ชาติ เพื่อให้ประเทศเป็นเอกราช มั่นคง ปลอดภัย และยั่งยืน เป็นภารกิจที่ส.ส. ต้องทำร่วมกับส.ว. เพื่อให้ร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปต้องผ่านหมด ช่วงที่การพิจารณาคำถามพ่วงนั้น สนช.ก็มีความกังวลว่าตั้งคำถามแล้วจะมีความสับสนหรือไม่ แต่เมื่อพิจารณาเหตุผลจากที่สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ส่งมาด้วยก็เห็นว่าจำเป็น ส่วนร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ รวมถึงคำถามพ่วงจะผ่านหรือไม่ อยู่ที่ประชาชนทั้งประเทศต้องตัดสินใจร่วมกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image