สมาคมสื่อตปท.แถลงการณ์กรณี จนท.คุมตัวนักข่าวเบลเยียม ร้องรัฐไทย ‘สื่อไม่ควรถูกข่มขู่’

เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม จากกรณีที่ อนุรักษ์ เจนตวนิชย์ หรือ ‘ฟอร์ด เส้นทางสีแดง’ ออกมาโพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า นักข่าวชาวเบลเยียม ถูกตำรวจนอกเครื่องแบบ 5 นาย บุกจับที่เกสต์เฮ้าส์ ในช่วงเช้าตรู่ของวันที่ 3 ตุลาคม หลังจากมาสัมภาษณ์ ฟอร์ด เรื่องการถูกทำร้ายในการรณรงค์เลือกตั้งและรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญ

โดย นายอนุรักษ์ ยังได้ระบุอีกว่า ตำรวจนอกเครื่้องแบบ 5 นาย ดักรอคริสที่เกสต์เฮาส์ และรวบตัวไปสถานีตำรวจที่ไม่เปิดเผย เป็นเวลานานกว่า 5 ชั่วโมง และห้ามมิให้นักข่าวชาวเบลเยียมรายนี้ เข้ามาทำข่าวเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของนักกิจกรรมอีกเป็นครั้งที่ 2 และถูกข่มขู่ว่าหากยังทำข่าวการเมืองหรือติดต่อสัมภาษณ์ฟอร์ดอีก จะไม่ได้รับความปลอดภัยระหว่างพักอาศัยอยู่ในประเทศไทย โดยห้ามแจ้งข่าวต่อสาธารณะผ่านทางเฟซบุ๊ก จนกระทั่งได้รับการปล่อยตัว ซึ่งทาง ฟอร์ดได้แจ้ง Human right watch และนักข่าวต่างประเทศ

สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย (FCCT) ออก แถลงการณ์ กรณีการควบคุมตัวคริส โดยระบุว่า ทางสมาคมสื่อในประเทศไทย รู้สึกไม่สบายใจที่ คริส ยานเซนส์ นักข่าวชาวเบลเยียม ถูกตำรวจตรวจคนเข้าเมืองกักตัวไว้เมื่อช่วงเช้าของวันพฤหัสบดี และแทรกแซงการทำงานของเขา โดยไม่ให้สัมภาษณ์กับนักเคลื่อนไหวชาวไทย

Advertisement

แถลงการณ์ยังระบุอีกด้วยว่า นายคริส ยานเซนส์ ปัจจุบันปฏิบัติหน้าที่ประจำอยู่ที่กรุงพนมเปญ ถูกพาตัวออกจากโรงแรมโดยเจ้าหน้าที่ 5 คน และถูกนำไปยังสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ที่สวนพลู โดยเขาได้ร้องขอให้นำสัมภาระทั้งหมดไปกับเขา

ระหว่างการถูกควบคุมตัว เจ้าหน้าที่ได้แนะนำให้เขาสัมภาษณ์ ฟอร์ด-อนุรักษ์ เจนตวนิชย์ โดยบอกว่าอาจชี้นำให้ผู้สื่อข่าวทำเรื่องที่ผิดกฎหมาย และให้เขาเดินทางออกจากประเทศไทยทันที แต่ตั๋วเครื่องบินของเขาเป็นแบบเลื่อนไม่ได้ และรีฟันไม่ได้ ซึ่งเขาจะเดินทางกลับในวันที่ 12 ตุลาคมนี้ตามกำหนดเดิม เขาจึงได้รับอนุญาตให้อยู่ในประเทศไทยต่อไป โดยมีเงื่อนไขว่าจะไม่พบกับ นายอนุรักษ์ หากสัมภาษณ์นายอนุรักษ์ จะต้องพบกับปัญหา

“นับเป็นเรื่องน่ากังวลอย่างยิ่ง เมื่อผู้มีอำนาจพยายามจะควบคุมผู้สื่อข่าวต่างประเทศว่าควรหรือไม่ควรสัมภาษณ์ใคร พวกเขามีสิทธิเต็มที่ที่จะสัมภาษณ์ใครก็ตามที่เขาเชื่อว่าไม่สมดุล แต่การสกัดกั้นนักข่าวมืออาชีพ ไม่ให้สัมภาษณ์ใครสักคนเป็นการรุกล้ำสิทธิของสื่อมวลชน ความคิดที่ว่าสื่ออาจถูกชักจูงให้ทำผิดกฎหมายหากสัมภาษณ์นักกิจกรรม เรียกได้ว่าเป็นเรื่องที่ไร้สาระ รัฐบาลไทยควรจะอนุญาตให้สื่อต่างประเทศ รายงานประเด็นทางการเมือง โดยไม่ต้องเผชิญกับการข่มขู่ใดใดหรือการใช้ข้ออ้างเรื่องการดำเนินคดีทางกฎหมาย”

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image