นิพิฏฐ์ แนะ ร่วมกันคิดวิธีตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจตุลาการในระบอบปชต.

เมื่อวันที่ 6 ต.ค. นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี และรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แสดงความเห็นเรื่อง การแทรกแซงคำพิพากษามีจริงหรือไม่ ระบุว่า

ผมไม่อยากให้การยิงตัวเองของผู้พิพากษาหายไปกับสายลมแสงแดด แม้ไม่เท่าการอัตตวินิบาตกรรมของสืบ นาคะเสถียร ที่นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงในเรื่องสัตว์ป่าและป่าไม้ แต่เชื่อว่าต้องมีการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบของกระบวนการยุติธรรมบ้าง การยิงตัวเองของผู้พิพากษาน่าจะมีประเด็นหลักประเด็นเดียว คือ มีการแทรกแซงดุลยพินิจในการตัดสินคดีของผู้พิพากษาหรือไม่ การแทรกแซงนี้หมายถึงการแทรกแซงโดยอธิบดี(ตามที่เป็นข่าว) ในทางกฎหมายแล้วไม่สามารถแทรกแซงได้ แต่ในทางปฏิบัติ ผมจะกล่าวว่าแทรกแซงได้ ผมก็อาจถูกฟ้องได้ ผมไม่กล่าวก็แล้วกัน แต่ผู้พิพากษาที่ท่านยิงตัวเองท่านอ้างว่าท่านถูกแทรกแซง ทำให้ไม่มีอิสระในการตัดสินคดี ผู้อ่านจะเชื่อใครก็ใช้ดุลยพินิจเอาเอง อธิบดีผู้พิพากษามีอำนาจ ตรวจสำนวนและให้คำแนะนำผู้พิพากษาในเขตอำนาจของตัวเองได้ ปัญหาว่าเส้นแบ่งระหว่างการ “การแนะนำ” กับ”การแทรกแซง” มันมีเป็นเส้นแบ่งบางๆกั้นอยู่เท่านั้น ข้ามฟากไปนิดเดียวก็เป็นการแทรกแซงแล้ว ที่เข้าใจผิดกันเยอะคือ หลายคนบอกว่า จะแทรกแซงหรือแนะนำอย่างไรผู้พิพากษาก็มีอิสระอยู่แล้วไม่จำต้องทำตาม แต่ผู้พิพากษาก็คือมนุษย์ปุถุชนนี่แหละ เมื่อมีชั้นการบังคับบัญชา มีอาวุโส มีหรือที่ผู้พิพากษาจะไม่เกรงใจผู้บังคับบัญชา แต่นั่นก็ขึ้นอยู่กับบุคคลิกของอธิบดีแต่ละท่านด้วยว่าท่านมีเส้นแบ่งระหว่างการแนะนำกับการแทรกแซงอย่างไร

ผมค่อยกล่าวเรื่องการแนะนำ กับ การแทรกแซง อีกครั้งในภายหลังอีกครั้ง

ในอำนาจตุลาการ มีปัญหาอยู่อย่างหนึ่งที่พยายามคิดกันมานานแต่ยังคิดไม่ออก คือ”การตรวจสอบและการถ่วงดุล” ว่าอำนาจตุลาการจะมีการตรวจสอบหรือถ่วงดุลตามระบอบประชาธิปไตยได้อย่างไร ขณะนี้ เป็นเพียงการตรวจสอบกันภายในวงตุลาการเท่านั้น แต่การตรวจสอบตามระบอบประชาธิปไตยกล่าวได้ว่ายังไม่มี

Advertisement

ที่ยังไม่มีการตรวจสอบถ่วงดุลเพราะเราไม่ไว้วางใจฝ่ายนิติบัญญัติหรือฝ่ายบริหารให้ตรวจสอบฝ่ายตุลาการ เพราะต้องยอมรับความจริงว่านักการเมือง(ส่วนหนึ่ง)ที่อยู่ในฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ สีเทา ถึงดำและดำมาก พวกเหล่านี้มีแต่อวยและยกยอปอปั้นฝ่ายตุลาการ หากหวังให้คนเหล่านี้มานั่งร่วมวงปฏิรูปในการถ่วงดุลย์อำนาจตุลาการ รับรองเละกว่าเดิม ครั้นจะหวังให้นักวิชาการในแวดวงนิติศาสตร์เมืองไทยทำหน้าที่ให้ความเห็น ก็ต้องถามกลับว่าเราเคยได้ยินนักวิชาการเมืองไทยรับใช้ความยุติธรรมบ้างหรือไม่(อาจมีแต่มีน้อย) ส่วนใหญ่มีแต่รับใช้ผู้มีอำนาจเสียเป็นส่วนใหญ่มิใช่หรือ

อย่าให้การยิงตัวเองของผู้พิพากษากลายเป็นเรื่องการเมือง มิฉะนั้น ในอนาคตเวลาขึ้นศาลเราอาจต้องตั้งข้อคัดค้านผู้พิพากษาว่าไม่เอาผู้พิพากษาท่านนี้เพราะท่านฝักใฝ่การเมืองที่อยู่ตรงกันข้ามกับเรา มันจะยุ่งกันใหญ่ เรามาคิดวิธีตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจตุลาการในระบอบประชาธิปไตยกันดีกว่า/(ค่อยว่ากันต่อครับ)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image