วิษณุ ปัดออกความเห็น ชี้ ตามหลักการ อธิบดีขอดูร่างคำพิพากษาได้ แต่ต้องไม่แทรกแซง

“วิษณุ” ปัดออกความเห็น ปมผู้พิพากษายะลายิงตัวตาย ชี้ ผู้บังคับบัญชาตรวจร่างคำพิพากษาได้ แต่ต้องไม่แทรกแซง

เมื่อเวลา 10.00 น.วันที่ 8 ตุลาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีผู้พิพากษาจังหวัดยะลา ใช้อาวุธปืนพกสั้นก่อเหตุพยายามฆ่าตัวตายในศาล ว่า เรื่องดังกลาว ตนไม่รู้เรื่องจริงๆ ว่าเป็นอย่างไร ขณะนี้กำลังสอบสวนอยู่ ซึ่งตนเห็นจากหนังสือพิมพ์ว่า สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม (กต.) บอกว่าจะต้องสอบสวนภายใน 15 วัน ก็ขอให้รอฟังเขาสอบ และเรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน อย่าไปพูดเลย เราไม่รู้จริง ผู้พิพากษาก็นอนเจ็บอยู่ แล้วท่านก็เป็นคนรู้จริง ต้องให้ตัวท่านเองเป็นคนบอก

เมื่อถามว่าหากพักรักษาตัวหายแล้ว จะมีความผิดหรือไม่นั้น นายวิษณุ กล่าวว่า “ไม่รู้ ผิดข้อหาอะไร ข้อหาพยายามฆ่าตัวตายหรอ” และเรื่องนี้ตนก็ไม่ทราบ เรื่องนี้ให้คนที่เขารู้เรื่อง มาทำความกระจ่างออกมา

เมื่อถามว่ามีการเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในเรื่องการเสนออัตราค่าตอบแทนของผู้พิพากษา มีการยื่นมาแล้วหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ก็ไม่เป็นไร มีก็เสนอมา และในอดีตเคยมีการเสนอมา แต่มีหลายเรื่องหลายอย่าง แต่ก็มีบางส่วนที่ได้ไปแล้ว

Advertisement

เมื่อถามย้ำว่ามีการเสนอให้ตรวจคำพิพากษาของผู้พิพากษา เนื่องจากเคยมีการแก้กฎหมายมาแล้วมีการแก้กฎหมายกลับ นายวิษณุ กล่าวว่า ปล่อยให้เป็นข้อเสนอของสำนักงานศาลยุติธรรมเขาเสนอมาก็แล้วกัน แต่ศาลยุติธรรมก็สามารถตรวจได้ คนตรวจก็คือผู้บังคับบัญชา ซึ่งสามารถตรวจได้ แต่ไม่ใช่การแทรกแซง โดยประธานศาลฎีกาก็สามารถตรวจได้ อธิบดีศาล หรือหัวหน้าศาลก็สามารถตรวจสอบได้ เช่น หากมีผู้พิพากษา 2-3 คนเป็นองค์คณะ ตำแหน่งที่ตนเอ่ยมาสามารถลงชื่อเป็นองค์คณะสมทบได้ด้วยอีก 1 คน ซึ่งเขาก็มีสิทธิที่จะตรวจ ถ้าตรวจดูแล้วใช้ได้ เขาก็ไม่ไปลงนาม แต่ถ้าตรวจดูแล้วมีปัญหา เขาก็ลงนาม ซึ่งจะทำให้เสียงข้างมากเปลี่ยน อาทิเช่น เดิมเสียง 2 ต่อ 1 พอหัวหน้าไปลงนามด้วย อาจจะเปลี่ยนเป็น 2 ต่อ 2 หรือหากถ้าเสียงเท่ากัน จะต้องใช้เสียงที่เป็นคุณ อาทิเช่น หากกรณีที่สองคนบอกว่าผิด แต่อีกหนึ่งเสียงบอกว่าไม่ผิด หัวหน้าศาลไปลงร่วมกับหนึ่งเสียงที่ไม่ผิดนั้น ก็ต้องเอาความเห็นที่เป็นคุณ คือ กลายเป็นไม่ผิดไป

“อย่างไรก็ตาม หลักอย่างนี้ เป็นหลักที่มีอยู่ทั่วโลกที่ผู้บังคับบัญชาสามารถเข้าไปลงนาม หรือไปดูสำนวนเพื่อร่วมลงนามด้วยได้ เพื่อใช้ดุลยพินิจว่าควรจะลงนามหรือไม่ แต่ไม่ใช่เข้าไปแทรกแซง ซึ่งเรื่องแบบนี้ถือเป็นเรื่องธรรมดาที่มีมานานแล้ว” นายวิษณุ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image