10 ตุลา วันยุติโทษประหารสากล เครือข่ายฯ จี้ยกเลิก แนะใช้ ‘จำคุกตลอดชีวิต’ แทน ยันไม่มีผลป้องปรามอาชญากรรม

เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม เวลา 13.00 น. ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เครือข่ายยุติโทษประหารชีวิต ประกอบด้วยสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มูลนิธิสันติภาพและวัฒนธรรม สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน สมาคมแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลประเทศไทย มูลนิธิผสานวัฒนธรรม จัดงานเสวนาเพื่อยุติโทษประหารชีวิตในประเทศไทย ในโอกาสวันยุติโทษประหารชีวิตในประเทศไทย ภายใต้การสนับสนุนจากสถานทูตฝรั่งเศส

ดร.ลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์ ผู้แทนเครือข่ายยุติโทษประหารชีวิต กล่าวว่า ประเทศไทยคุ้นเคยกับโทษประหารชีวิต ที่เป็นบทลงโทษทางกฎหมายในระบบยุติธรรมของไทยมานานหลายศตวรรษ จนกลายเป็นความเชื่อ ค่านิยม และบรรทัดฐานทางสังคม แต่มีองค์กรหลายแห่งเรียกร้องให้ยกเลิกโทษประหารชีวิต ทั้งในทางกฎหมายและในทางปฏิบัติ นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนจำนวนมากต้องการเห็นโทษประหารชีวิตสิ้นสุดลง และแทนที่ด้วยโทษจำคุกตลอดชีวิต วันที่ 10 ตุลาคมของทุกปีเป็นวันต่อต้านโทษประหารชีวิตแห่งโลก เครือข่ายยุติโทษประหารชีวิต จึงจัดงานเสวนายุติโทษประหารชีวิต เพื่อเปิดพื้นที่ให้เกิดการเรียนรู้เรื่องโทษประหารชีวิตในประเทศอาเซียนและประเทศไทย รวมถึงการสร้างความตระหนักรู้ถึงความเหมาะสมในการยุติโทษประหารชีวิต

ฌัก ลาปูฌ เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย กล่าวว่า หลายประเทศยังมีการใช้โทษประหารโดยปราศจากการอภิปรายในที่สาธารณะ ซึ่งบางครั้งเพราะขาดประชาธิปไตย ขณะที่ผู้เกี่ยวข้องทางการเมืองยังนำโทษประหารมาใช้อย่างสม่ำเสมอ ฝรั่งเศสต่อต้านการนำโทษประหารมาใช้ทุกวาระเป็นพันธกิจแน่วแน่และต่อเนื่องของเรา การต่อต้านโทษประหารชีวิตเป็นภารกิจทางอารยธรรมที่เกี่ยวข้องกับพวกเราทั้งหมด

Advertisement

ต่อมาเวลา 13.20 น. เป็นการเสวนาเรื่อง “ยุติโทษประหารชีวิตในมุมมองสากล” ดำเนินรายการโดย ณัฏฐา มหัทธนา

กิโยม สิมง นักกฎหมายจากประเทศฝรั่งเศส กล่าวว่า การลงโทษด้วยโทษประหารไม่ใช่สิ่งที่เป็นประโยชน์ แม้ว่าสิงคโปร์หรือไทยจะบอกว่าเป็นสิ่งที่ควรเอามาใช้ เพราะกฎหมายต้องเข้มงวดเพื่อทำให้ประชาชนกลัว แต่การทำเช่นนี้คนไม่ได้กลัว แต่ทำให้ประชาชนชาชินมากกว่า

“เราควรให้ความหมายว่าคำว่า ‘โทษ’ คืออะไร แล้วโทษนั้นควรขยายออกไปไหม เราสามารถลงโทษผู้กระทำผิดโดยทำให้เขาไม่มีสิทธิเสรีภาพแม้แต่จะมีชีวิตต่อไปได้หรือเปล่า และถ้าเขาตายแล้ว เราก็จะไม่ได้ลงโทษเขาต่อ นอกจากนี้หากใช้การประหารแล้วยาเสพติดหายไปได้มันก็คงหายไปนานแล้ว แต่ปัจจุบันก็ยังมีอยู่ โทษประหารไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุด รัฐไม่ได้พิจารณาปัญหาอย่างถูกต้อง” กิโยมกล่าว

Advertisement

ฮานน์ โซฟี เกรฟ กรรมาธิการคณะกรรมการสากลต่อต้านโทษประหารชีวิต กล่าวว่า ประเทศที่นำโทษประหารมาใช้ใหม่ไม่ได้ทำให้อัตราการก่ออาชญากรรมลดลง เมื่อยกเลิกโทษประหารก็ไม่ได้ทำให้อัตราก่ออาชญากรรมเพิ่มขึ้น การใช้โทษประหารจึงไม่ได้มีผลในการป้องปรามอาชญากรรม

“ไม่นานนี้ผู้พิพากษาทางใต้ของไทยยิงตัวเอง ไม่ทราบว่าท่านอยู่ใต้ความกดดันใดหรือไม่ แต่ท่านอยู่ในประเทศที่ผู้พิพากษาเป็นผู้ตัดสินประหารทำให้ท่านต้องมีความตึงเครียดมาก การเป็นผู้พิพากษาที่ต้องตัดสินโทษประหารกับคนอื่นไม่ได้ต่างจากการทำหน้าที่ของเพชรฆาตที่พาคนไปแขวนคอ สิ่งนี้ไม่ได้ทำให้ผู้พิพากษารู้สึกดี มีผู้พิพากษาหลายท่านที่เคยตัดสินโทษประหารชีวิตลาออกจากงานเพราะไม่ได้รู้สึกดี ในโลกนี้หากเราต้องการเพิ่มศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ให้มนุษย์มีความเจริญเติบโตงอกงามและให้สังคมมีความกลมเกลียวเราต้องยกเลิกโทษประหารชีวิต” ฮานน์กล่าว

ราจีฟ นารายัน ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบาย คณะกรรมการสากลต่อต้านโทษประหารชีวิต กล่าวว่า เมื่อก่อนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศมองโกเรียไม่ดีนัก แต่ตั้งแต่ปี 2008 มีประธานาธิบดีมองโกเลียในขณะนั้นเชื่อในการยกเลิกโทษประหารชีวิต จนยุติการใช้โทษประหารสำเร็จปี 2014 เป็นตัวอย่างที่ภาวะผู้นำทางการเมืองทำให้ยกเลิกโทษประหารได้ แม้ว่าประธานาธิบดีคนต่อมาจะพยายามนำโทษประหารกลับมาใช้

“โอกาสที่พวกเรามีคือการดำเนินการกับนานาชาติเพื่อผลักดัน เราต้องการภาคประชาสังคมและสื่อที่มีอิสระและเสรีภาพ เพื่อผลักดันโน้มน้าวให้ผู้กำหนดนโยบายยกเลิกการใช้โทษประหารชีวิต และจำเป็นต้องพูดคุยกับสาธารณชนด้วย” ราจีฟกล่าว

ดร.น้ำแท้ มีบุญสล้าง อัยการจังหวัด สำนักงานอัยการคดีเยาวชนและครอบครัวจังหวัดกาญจนบุรี กล่าวว่า ประเทศไทยมี 55 ฐานความผิด ที่ใช้โทษประหาร แต่พบว่าเราสามารถลดฐานความผิดบางอย่างที่ไม่ใช่อาชญากรรมรร้ายแรงที่สุดได้ เช่น การวางเพลิงเผาทรัพย์ หรือคดียาเสพติด

“อาชญากรรมในสังคมมีที่มาจากหลายสาเหตุ แต่เราโยนว่าสาเหตุเป็นเพราะโทษยังไม่แรงพอ ทั้งที่เรามีโทษประหารชีวิตอยู่แล้ว ที่จริงคือวิธีบังคับใช้กฎหมายต่างหากที่ไม่มีประสิทธิภาพ คนมีอำนาจสามารถให้เจ้าหน้าที่ชั้นต้นบิดเบือนพยานหลักฐานหรือทำลายพยานหลักฐานได้ เรียกกันว่า ‘สอบสวนแบบทำลายพยานหลักฐาน’ เพื่อช่วยคนรวย นักการเมืองที่มีอิทธิพล และเจ้าหน้าที่รัฐ ประเทศไทยมีระบบการสอบสวนโดยหน่วยงานเดียว ลบกล้องวงจรปิดได้ กล้องเสียได้ เพราะกล้องนั้นอยู่ในมือคนเพียงคนเดียว ประเทศไทยจึงต้องการระบบการสอบสวนที่ทำลายพยานหลักฐานไม่ได้”
ดร.น้ำแท้กล่าว

จากนั้นเวลา 15.00 น. เป็นการเสวนาเรื่อง “ความจำเป็นและอุปสรรคในการยุติโทษประหารชีวิตในประเทศไทย” ดำเนินรายการโดย ณัฏฐา มหัทธนา

สมชาย หอมลออ ทนายความสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า การยกเลิกโทษประหารชีวิต นอกจากจะคุ้มครองสิทธิของผู้อาจตกเป็นจำเลยในคดีอาญา ยังเป็นการคุ้มครองสิทธิของผู้คนอื่นในสังคม รวมถึงคนที่สนับสนุนการใช้โทษประหาร คนที่สนับสนุนความรุนแรงด้วย

“บางคดีเกิดขึ้นในสถานการณ์พิเศษที่มีการใช้กฎอัยการศึกและพรก.ฉุกเฉินเช่นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งให้อำนาจควบคุมตัวที่ค่ายทหาร 7 วันโดยไม่ต้องขออนุญาตศาล จากนั้นส่งตัวไปศูนย์ซักถาม คุมตัวตามพรก.ฉุกเฉินครั้งละ 7 วัน จนครบ 30 วัน ระหว่างนั้นจะมีการซักถามที่เจ้าหน้าที่เรียกว่า ‘กรรมวิธี’ ที่องค์กรสิทธิมนุษยชนพบว่าคือการทรมานเพื่อให้ได้ข้อมูล เช่น คำรับสารภาพหรือคำซัดทอด แล้วให้ลงชื่อยืนยันว่าไม่มีการทรมานสมชายกล่าว

รศ.อัจฉราพรรณ จรัสวัฒน์ อดีตประธานหลักสูตรสาขาวิชาอาชญาวิทยาและงานนยุติธรรม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์โลกเห็นด้วยกับการยกเลิกโทษประหารเพราะให้ความสำคัญของความเป็นมนุษย์และสิทธิที่จะดำรงตนของมนุษย์ แต่ข้อจำกัดของมนุษย์มี 3 เรื่องใหญ่ 1.ความเคยชินที่ฟังตามกันมา บอกว่าคดีรุนแรงต้องประหารให้หมด ทั้งที่ไม่ใช่ทางออกในทางอาชญาวิทยา 2.ทุกคนกลัวการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรม 3.ความไม่รู้

“เราต้องสร้างความตระหนักและประกาศว่าต้องการยุติโทษประหาร โดยต้องมีข้อเสนอในทุกรูปแบบ เช่น ถ้าไม่ใช้โทษประหารจะใช้สิ่งไหนทดแทน, ฉายภาพความสำคัญของความเป็นมนุษย์ ทำให้เป็นวาระแห่งชาติ มีแนวร่วมในการรณรงค์และหากองทุน, ให้ความสำคัญต่อบทบาทภาคประชาสังคม ประชาชน ชุมชน สร้างความเข้าใจเรื่องความเป็นธรรมทางสังคมและความเข้าใจทางกฎหมาย, สร้างเครือข่ายที่กว้าง หาบุคคลต้นแบบที่ถูกโทษประหารและลดโทษจนได้ออกไปทำประโยชน์ให้ชุมชน, นำประเด็นที่ยุติแล้วมาวิเคราะห์”
รศ.อัจฉราพรรณกล่าว

เวลา 16.20 น. โคทม อารียา อ่านถ้อยแถลงของเครือข่ายยุติโทษประหารชีวิต ระบุว่า ด้วยเหตุที่มีความจำเป็นที่จะปกป้องสังคมจากอาชญากรรมร้ายแรง ตลอดจนเยียวยาผู้ที่ได้รับความเสียหายจากอาชญากรรมต่างๆ สังคมจึงมีกระบวนการยุติธรรมเชิงโทษทัณฑ์ (retributive justice) ได้แก่ การตัดสินโทษทางอาญา การราชทัณฑ์ เป็นต้น และมีกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (restorative justice) ได้แก่ การชดเชยผู้เสียหายและการคืนความสมานฉันท์สู่สังคม

“โทษสูงสุดและเด็ดขาดทางอาญาคือโทษประหารชีวิต แต่มีข้อศึกษาทางอาชญาวิทยาว่า โทษประหารชีวิตไม่ใช่ปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการป้องกันอาชญากรรมและป้องปรามผู้ที่จะกระทำความผิดให้ยับยั้งชั่งใจก่อนลงมือกระทำการ ประเทศส่วนใหญ่ (ประมาณ 106 ประเทศ) ได้ยุติโทษประหารชีวิต อีกหลายประเทศ (ประมาณ 28 ประเทศ) มีการตัดสินลงโทษแต่ไม่มีการบังคับโทษประหารชีวิต (moratorium) โดยที่สถิติอาชญากรรมร้ายแรงในประเทศเหล่านี้ไม่ได้เพิ่มขึ้นแต่อย่างใด ประเทศที่เหลือ (ประมาณ 56 ประเทศ) มีการตัดสินและการบังคับโทษประหารชีวิต

“การลงโทษประหารชีวิตไม่เปิดโอกาสการกลับตัวกลับใจของผู้ถูกลงโทษ อีกทั้งกรณีการตัดสินคดีที่มีข้อผิดพลาดด้านพยานหลักฐานก็ไม่สามารถคืนความยุติธรรมได้ ในประการสำคัญการประหารชีวิตเป็นการลิดรอนสิทธิในชีวิตซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ และการปลิดปลงชีวิตน่าจะขัดกับหลักคำสอนของหลายศาสนา”

ทางเครือข่ายมีข้อเรียกร้องต่อผู้มีอำนาจหน้าที่และต่อสังคมดังนี้

1. ขอให้มีการศึกษาเรื่องบทลงโทษทางอาญา (โดยเฉพาะโทษจำคุกตลอดชีวิตและโทษประหารชีวิต) วิธีการป้องกันอาชญากรรม และการเยียวยาผู้เสียหายจากอาชญากรรมร้ายแรง
2. ขอให้พิจารณายุติโทษประหารชีวิตซึ่งจะแทนที่ด้วยโทษจำคุกตลอดชีวิต โดยแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาหมวดโทษ มาตรา 18 เป็น “โทษสำหรับลงแก่ผู้กระทำความผิดมีดังนี้ 1. จำคุก 2. กักขัง 3. ปรับ 4. ริบทรัพย์สิน” และขอให้ยกเลิกข้อความในมาตรา19 “ผู้ใดต้องโทษประหารชีวิต ให้ดำเนินการด้วยวิธีฉีดยาหรือสารพิษให้ตาย”
3. ในระหว่างที่ยังไม่มีการแก้ไขกฎหมายในเรื่องนี้ ขอให้พักการบังคับโทษประหารชีวิต

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image