สปท.มติเห็นชอบ ปฎิรูปตร.แต่งตั้งโยกย้ายสารวัตร-ผบช.แล้ว ยึดอาวุโสต้องมาก่อน!

สปท.เห็นชอบรายงานปฏิรูปตำรวจ กำหนดหลักเกณฑ์แต่งตั้งโยกย้ายสารวัตร-ผบช. ยึดหลักอาวุโสและความสามารถ

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 13 มิถุนายน ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) มีนายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธานสปท.คนที่ 1 ทำหน้าที่ประธานการประชุม เพื่อพิจารณารายงานคณะกรรมาธิการ(กมธ.)ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม เรื่อง การวางแนวทางมาตรฐานการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจ โดยพล.ต.อ.วรพงษ์ ชิวปรีชา รองประธาน กมธ. กฎหมายฯ กล่าวรายงานว่า สาระสำคัญของรายงานคือ การแก้ปัญหาแต่งตั้งโยกย้ายที่ถูกวิจารณ์มาตลอด โดยให้การแต่งตั้งตำรวจระดับสารวัตรถึงระดับผู้บัญชาการให้พิจารณาเรียงลำดับตามบัญชีอาวุโส ประกอบกับความรู้ความสามารถ และความประพฤติ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 ของตำแหน่งที่ว่างส่วนอีกร้อยละ 30 หากมีเหตุผลความจำเป็นให้พิจารณาข้ามลำดับอาวุโสได้ แต่ต้องได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ(ก.ตร.) ส่วนการแต่งตั้งระดับผู้ช่วยผบ.ตร.ขึ้นไป ให้พิจารณาเรียงตามลำดับอาวุโสในบัญชี เพราะข้าราชการตำรวจที่เติบโตมาถึงระดับดังกล่าว จะเป็นผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่ราชการมาเป็นเวลานานพอสมควร มีความรู้ความสามารถทั้งสิ้น ทำให้ทุกคนมีความรู้ความสามารถและประสบการณ์ทำงานใกล้เคียงกัน

จากนั้น ที่ประชุมได้ปิดโอกาสให้สมาชิกอภิปราย โดยสมาชิกสปท.ส่วนใหญ่เห็นชอบกับรายงานดังกล่าวที่กมธ.กฎหมายฯ เสนอมา อาทิ พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ นายวันชัย สอนศิริ และนายนิกร จำนง เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อเป็นแนวทางผลักดันการปฏิรูปตำรวจให้เสร็จภายใน 1 ปีครึ่ง และให้ตำรวจมีขวัญกำลังใจในการทำงาน ไม่ต้องรับใช้ผู้มีอำนาจทางการเมือง พร้อมเสนอแนะเพิ่มเติมว่า ควรกำหนดหลักเกณฑ์การประเมินผลงานให้ชัดเจนยิ่งขึ้น และปฏิรูปตำรวจชั้นประทวนให้มีเงินเดือน สวัสดิการที่ดีควบคู่ไปด้วย

ด้าน นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกสปท. อภิปรายไม่เห็นด้วยกับรายงานของกมธ. เรื่องหลักเกณฑ์การแต่งตั้งข้าราชการตำรวจตั้งแต่ระดับผู้ช่วยผบ.ตร.ขึ้นไปที่ให้ยึดเรียงลำดับตามอาวุโสอย่างเดียว เนื่องจากควรให้ฝ่ายการเมืองมีโอกาสใช้ดุลยพินิจเลือกบุคคลที่เหมาะสมมาดำรงตำแหน่งผบ.ตร. ในฐานะที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามาต้องรับผิดชอบต่อบ้านเมือง ประชาชน และรัฐสภา จึงควรมีสิทธิเลือกบุคคลที่ตัวเองไว้วางใจ เพื่อให้ทุกอย่างเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล การไม่ให้ฝ่ายการเมืองมีสิทธิเลือก โดยให้ยึดหลักอาวุโสตายตัวเพียงอย่างเดียว ถือเป็นการจำกัดสิทธิเกินไปหรือไม่ และหากใช้ระบบอาวุโสอย่างเดียว แต่มีปัญหาด้านความประพฤติจะทำอย่างไร

Advertisement

ทั้งนี้ หลังจากที่สมาชิกสปท.อภิปรายครบถ้วนทุกคนแล้ว ที่ประชุมสปท.ลงมติให้ความเห็นชอบรายงานดังกล่าวด้วยคะแนน 138 ต่อ 4 งดออกเสียง 24 เพื่อส่งต่อให้คณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาดำเนินการต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image