โครงร่างตำนานคน : ชวน หลีกภัย ประกายแห่งความหวัง

ชวน หลีกภัย

ในช่วงกว่า 10 ปีมานี้ ไม่เพียงแต่ประเทศถูกนำให้ย้อนกลับสู่ระบบเผด็จการ แล้วร่างกติกาโครงสร้างอำนาจคืนสิทธิทางการเมืองที่เท่าเทียมให้ประชาชนเพียงเศษเสี้ยว แต่ที่หนักหนาสาหัสคือสถานะของ “รัฐสภา”

“รัฐสภา” ในความหมายของหนึ่งในอำนาจอธิปไตย อันมีหน้าที่หลักคือ “คานอำนาจ” กับฝ่ายอื่น

“รัฐสภา” ในความหมายเป็น “ตัวแทนอำนาจประชาชนในบริบทของสิทธิที่เท่าเทียม”

ด้วยไม่เพียงเป็น “รัฐสภา” ที่กำหนดโครงสร้างใหม่ ให้ “วุฒิสภา” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของรัฐสภา มี “สมาชิกมาจากการแต่งตั้งของกลุ่มอำนาจ” แทน “มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน”

Advertisement

กลายเป็น “สภา” ที่ทำหน้าที่ “รับใช้อำนาจ” แทน “คานอำนาจ”

ไม่เพียงเท่านั้น เพราะแม้กระทั่ง “สภาผู้แทนราษฎร” ซึ่งเป็นส่วนเดียวที่เหลืออยู่ของการยึดโยงกับประชาชน ผ่านการเลือกตั้ง

ยังปรากฏว่ากติกาการเลือกตั้งถูกออกแบบให้เอื้อต่อโอกาสของกลุ่มผู้กำหนดกติกามากกว่า

Advertisement

ทว่าการสลายกลไกของสิทธิที่เท่าเทียม แม้จะดูเลวร้ายต่อประชาธิปไตยแล้ว กลับยังไม่จบแค่นั้น

ไปลึกมากกว่านั้นคือ ความเป็นไปที่กระทบต่อภาพลักษณ์ของนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนที่ส่งผลให้ผู้คนเกิดความรู้สึกนึกคิดว่า “นักการเมืองจากการเลือกตั้งของประชาชน เป็นเผ่าพันธุ์ที่ขัดขวางการพัฒนาประเทศ เพราะเข้ามาเพื่อแสวงประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้อง ไร้สำนึกเพื่อส่วนรวม”

เรื่องราวเหล่านี้สร้างความเกลียดชังต่อ “นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง” ให้เกิดขึ้น

สำหรับคนทั่วไปที่มีภารกิจต้องจัดการเรื่องราวต่างๆ ให้ชีวิตตัวเอง หากไม่ฝึกสติให้ต่อเนื่องมั่นคงเพียงพอ ย่อมเคลิ้มคล้อยไปตามภาพของ “นักการเมือง” แบบที่เป็นไปตามกระแส

ทั้งหมดทั้งสิ้นข้างต้นนั้น เป็นปัญหาใหญ่ต่อการฟื้นคืนจิตสำนึกให้กลับมาศรัทธาในระบอบประชาธิปไตย

ซึ่งเป็นเรื่องน่าเศร้า

อย่างไรก็ตาม วาสนาประชาธิปไตยไทยยังไม่ถึงคราวอับจนนัก เพราะในยามที่ดูมืดมิดที่สุด ก็ยังมีประกายความหวังบางอย่างเกิดขึ้น

ก่อนหน้าการเลือกตั้งครั้งล่าสุด ไม่มีใครคิดหรอกว่า ชวน หลีกภัย จะได้กลับมาดำรงตำแหน่ง “ประธานสภาผู้แทนราษฎร” ซึ่งเป็น “ประธานรัฐสภา” ตามกฎหมาย

และกลายเป็นโอกาสที่ดีของการฟื้นศรัทธาในระบบรัฐสภาขึ้นมาได้บ้าง เพราะแม้ช่วงแรกๆ ของการเข้าสู่ตำแหน่ง ไม่มีใครหวังอะไรมากนัก เพราะประวัติศาสตร์บางช่วงตอน ไม่ส่งเสริมเชื่อมั่นแบบนั้น

ทว่า ท่าทีของ “ประธานรัฐสภา” ในหลายเรื่องที่ผ่านมา

สะท้อนว่า ชวน หลีกภัย หนักแน่นพอที่จะรักษาหลักการไว้ ด้วยการแสดงออกอย่างชัดเจนว่ายืนหยัดกับการเชิดชูบทบาทของ “รัฐสภา”

และด้วยท่าทีอย่างนี้เอง ที่อย่างน้อยก็ทำให้เกิดความหวังได้บ้างว่า ชะตากรรมของ “นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน”

ยังมีโอกาสที่จะฟื้นคืนสู่ศรัทธาประชาชนได้บ้าง

แม้ในยามยุคสมัยเช่นนี้

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image