“ชวน” ร่ายยาวความหวังสภาผู้แทนฯ โชว์จุดยืน หนุน แก้รธน.60 บอก “ผมไม่รับแต่แรก”

“ชวน” ร่ายยาวความหวังสภาผู้แทนฯ โชว์จุดยืน หนุน แก้รธน.60 บอก “ผมไม่รับแต่แรก” ชี้ ที่มาจากตปท.ที่เขาไม่ใช้แล้ว ชี้ จุดอ่อนอยู่ที่คน จะปราบโกง แต่สร้างราชาแห่งปราชญ์ ชีวิตจริงปฏิบัติยาก

เมื่อเวลา 11.00 น.วันที่ 5 พฤศจิกายน ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ จัดงานวันธรรมศาสตร์สามัคคี ครั้งที่ 20 โดยนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ความหวังสภาผู้แทนฯภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560” ตอนหนึ่งว่า รัฐธรรมนูญทั้ง 20 ฉบับที่ผ่านมา ตนมีชีวิตตั้งแต่เกิดถึงปัจจุบันอยู่ในรัฐธรรมนูญ 18 ฉบับตั้งแต่ฉบับที่ 3 ส่วนตัวมีความปรารถนาในการเป็นนักการเมืองมาตั้งแต่ต้น และเป็นนักการเมืองมาแล้ว 50 ปี เป็นส.ส.16 สมัยอย่างต่อเนื่อง โดยไม่เคยมีที่มาจากการแต่งตั้งเลย อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของการกำหนดโครงสร้างบ้านเมือง สภาหรือองค์กรนิติบัญญัติถือเป็นองค์กรที่มีการพัฒนาตัวเองน้อยที่สุดในอดีต ที่ผ่านมา เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับไหนออกมาหลังจากการยึดอำนาจ จะมีบทเฉพาะกาลเขียนไว้ในลักษณะให้ผู้ที่กำหนดรัฐธรรมนูญฉบับนั้นได้เป็นนายกฯต่อ เช่น จอมพลถนอม กิตติขจร ได้เป็นนายกฯมีเสียงส.ส.สนับสนุนจำนวนหนึ่งแต่มีเสียงส.ว.สนับสนุนจำนวนมาก ในสมัยพล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ก็เช่นเดียวกัน

“บทเฉพาะกาลในอดีตจะมีระยะเวลาใช้ไม่นาน แต่ใช้ชั่วระยะเวลาหนึ่งเท่านั้นก็จะปล่อยให้การเมืองเป็นไปตามกระบวนการตามปกติ และไม่ได้กำหนดตำแหน่ง จึงไม่น่าแปลกใจว่า ทำไมรัฐธรรมนูญบางฉบับที่เริ่มต้นไม่ค่อยสวยนัก เช่น รัฐธรรมนูญพ.ศ.2521 แต่สามารถใช้ได้มาถึงปี 2534 ถึงมีการยึดอำนาจ และก็มีรัฐธรรมนูญหลังจากนั้นที่ใช้มาถึงปี 2540 จนมีรัฐธรรมนูญที่มีประชาธิปไตยยากที่สุด แต่สำหรับรัฐธรรมนูญปี 2560 จะมีอายุนานเท่าไหรไม่มีทางรู้”นายชวน กล่าว

นายชวน กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญที่ผ่านมาถือเป็นตัวกำหนดโครงสร้างประเทศและอํานาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อํานาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ แต่ในรัฐธรรมนูญพ.ศ.2550 ได้กำหนดเรื่องหลักนิติธรรมลงให้ชัดเจนเพื่อให้เกิดการปฏิบัติตามกฎหมาย เพราะเรียนรู้มาจากบทเรียนที่เกิดขึ้นมาจากรัฐธรรมนูญ 2540 ที่มีการละเมิดหลักนิติธรรม รัฐธรรมนูญมีความสำคัญในแง่โครงสร้างก็จริง แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นอันเป็นที่มาของการยกเลิกรัฐธรรมนูญไม่ได้มาจากจุดอ่อนของรัฐธรรมนูญ อย่าง เมื่อครั้งที่มีการร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 นายสุพจน์ ไขมุกด์ รองประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญได้เชิญตนไปพบเป็นส่วนตัวเพื่อขอความคิดเห็น โดยตนได้บอกไปว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นที่ผ่านมาไม่ใช่ความผิดของรัฐธรรมนูญ แต่เป็นเรื่องของตัวบุคคลที่ละเมิดรัฐธรรมนูญ และไม่ยึดหลักนิติธรรม ปัญหาการใช้รัฐธรรมนูญ และการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญต้องพิจารณาไปควบคู่กัน พูดง่ายๆ คือ ปราชญ์โบราณที่คิดว่าบ้านเมืองจะปกครองได้ดีต้องปกครองด้วยราชาแห่งปราชญ์ กำหนดคุณสมบัติไว้สูงมาก ซึ่งในชีวิตจริงมันหายาก เพราะการปกครองที่เหมาะสมและเป็นประโยชน์จริงๆจะต้องปกครองด้วยหลักนิติธรรม ถ้าผู้ปฏิบัติตามกฎหมายไม่ออกนอกหลักนิติธรรม จะไม่เกิดเหตุการณ์ปี 2549 และ 2557

Advertisement

นายชวน กล่าวว่า ส่วนตัวไม่คิดว่า จะมาเป็นประธานสภาฯ แต่ในเมื่อเป็นช่วงสุดท้ายที่พรรคประชาธิปัตย์ได้เสียงไม่มาก ซึ่งโดยปกติแล้วเขาไม่ให้ตำแหน่งประธานสภาฯ เพราะประธานจะอยู่ที่พรรคใหญ่ที่สุด แต่เที่ยวนี้สำหรับนายชวนเขายกเว้นให้ และไม่คิดโควต้า ถ้าคิดโควต้า แล้วไปแย่งเพื่อนสมาชิกในพรรค ส่วนตัวก็คงจะไม่มาเป็น เพราะเป็นการเอาเปรียบเพื่อน และในที่สุดคนที่จะเป็นประธานจริงๆเขายอมรับว่า ถ้าเป็นตนเขายอมรับ ฉะนั้น เลยตัดสินใจบอกว่า ให้ทำงานร่วมกัน ทำให้สภาให้เป็นมาตรฐานเป็นที่ยอมรับ เป็นตัวอย่างของการเคารพกฎหมาย ตนได้บอกสมาชิกสภาเสมอว่าต้องวางมาตรฐานของสภาให้เป็นที่ยอมรับให้ได้ และยังบอกกับนายกฯเสมอว่า ต้องมาสภาและมาตอบกระทู้ เว้นแต่ท่านจะมีเหตุผล หรือถ้าคณะกรรมาธิการเรียกให้มาชี้แจง ก็ขอให้ท่านให้ความร่วมมือ และขอร้องไปยังคณะกรรมาธิการให้เข้าใจว่า คนมาชี้แจงไม่ได้เป็นจำเลยหรือเป็นผู้ต้องหา ต้องมีความพอดีถึงจะทำให้อยู่ด้วยกันได้ ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือดีพอสมควร

นายชวน กล่าวอีกว่า รัฐธรรมนูญ 2560 นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ประกาศว่า เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแก้คอร์รัปชั่น แต่จริงๆมันไม่ใช่ แม้รัฐธรรมนูญกำหนดโครงสร้างและเงื่อนไข แต่หากผู้ปฏิบัติละเมิดและไม่ปฏิบัติ ผลที่อยากให้เกิดขึ้นมันก็จะไม่เกิด รัฐธรรมนูญของไทยรับมาจากต่างประเทศมาก แต่เจ้าของเมื่อมาเห็นก็บอกว่าปัจจุบันไม่ได้ใช้แล้ว เช่น ทูตเยอรมันมาพบและบอกว่า เคยมีประสบการณ์ มีพรรคการเมืองเกิดขึ้นมากมาย มีเสียงไม่กี่เสียงก็ได้เป็นส.ส. แต่ปัจจุบันได้ยกเลิกไปแล้ว ส่วนของเราที่มีพรรครัฐบาล 15-16 พรรค และฝ่ายค้าน 7 พรรค ไม่ได้เป็นปรากฎการณ์ที่ได้เห็นมากนัก ตนเป็นหนึ่งในคนที่ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ถ้าจะมีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญก็เป็นสิ่งที่ควรจะทำ แต่สิ่งแรกที่ควรจะทำ คือ อย่าเพิ่งไปหักด้ามพร้าด้วยเข่า ล้มให้หมดพังให้หมด มันไม่เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง เราต้องมาคุยกันว่าประชาธิปไตยในความปรารถนาของเราคืออะไร เราควรจะมีสภากี่สภา มีวุฒิสภาไหม วุฒิสภาควรมีบทบาทอะไร ควรมาจากระบบแต่งตั้งหรือเลือกตั้งอย่างไร เพราะหน้าที่แต่ละคนไม่เหมือน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image