‘ศิริกัญญา’ เปิดรายงาน สตง.ชำแหละ กสทช. ‘ฐากร’ โต้ทันควัน ทำงบตามระเบียบ

ศิริกัญญา เปิดรายงาน สตง. จัดหนัก ชำแหละการทำงาน กสทช. ซัด ใช้วิธีตั้งงบ ชงเองกินเอง ทำงานไร้คุณภาพ ถูกคสช.แทรกแซง แนะหาระบบตรวจสอบจากองค์กรภายนอก “ฐากร” โต้ทันควัน ทำงบตามระเบียบ กลั่นกรองหลายขั้นตอน

เมื่อเวลา 13.50 น. วันที่ 7 พฤศจิกายน มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณารับทราบรายงานของผู้สอบบัญชีและงบการเงินสำหรับปีสิ้นสุด วันที่ 31 ธันวาคม 2559 และรายงานการประเมินผลการใช้จ่ายเงินและทรัพย์สินสำหรับปี 2554 ของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) โดย น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ อภิปรายว่า จากการอ่านรายงานของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ทั้ง 2 เล่ม สิ่งที่เราพบทำให้ช็อกเป็นอย่างมาก สำหรับการตรวจสอบก็เป็นมาตราฐานทั่วไป แต่ว่าสำหรับเล่มสีชมพูถือเป็นมาตราฐานใหม่ ที่เป็นไปตาม พ.ร.บ. กสทช. คือรายงานการประเมินผลการใช้จ่ายเงินและทรัพย์สิน ของสำนักงานกสทช.

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ตนเห็นว่าเป็นการทำในรูปแบบของผู้ตรวจสอบบัญชี ที่ยังไม่ได้ทำตาม พ.ร.บ.สตง. มาตรา 69 ว่าเป็นไปตามวัตถุประสงค์หรือไม่ กล่าวในภาพรวมคือ กสทช. มีการใช้งบประมาณเป็นจำนวนมาก โดยขาดการตรวจสอบประสิทธิภาพการใช้งาน ตนขอเปรียบเทียบกับองค์กรที่ทำงานคล้ายกันของประเทศอังกฤษ ที่ได้งบประมาณมากำกับดูแลในกิจการโทรคมนาคม ที่มีขนาดใหญ่กว่าประเทศไทย ประมาณ 8 เท่า ด้วยงบประมาณ 110 ล้านปอนด์ ต่อปีในปี 2559 หรือประมาณ 4,400 ล้านบาทเท่านั้น ส่วน กสทช. ของไทยใช้งบประมาณ 5,600 ล้านบาทในปี 2559 ล่าสุดในปี 2561 ใช้งบประมาณ 5,800 ล้านบาท นับว่าใช้งบมากเกินไป

ดังนั้น อาจจะมีการแก้ไขกฎหมายที่ว่าด้วยรายได้จากค่าธรรมเนียม ใบอนุญาตการประกอบกิจการ ที่กำหนดใน พ.ร.บ. กสทช. ที่กำหนดไว้ว่าไม่เกินร้อยละ 2 อาจจะกำหนดปรับลดในส่วนนี้ เพื่อให้รายได้ค่าธรรมเนียมส่งเข้าคลังได้โดยตรง ไม่ต้องหักไว้เข้า กสทช.

Advertisement

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวอีกว่า อีกหนึ่งปัญหาคือ การใช้งบประมาณแบบชงเองกินเอง ที่ให้อำนาจสำนักงาน กสทช. ในการจัดทำงบประมาณ และให้บอร์ดกสทช. มีหน้าที่อนุมัติงบได้ ซึ่งขาดการตรวจสอบซึ่งกันและกัน ดังนั้นควรจะต้องปรับแก้ไขกฎหมายให้ผ่านกระบวนการการตรวจสอบ และการอนุมัติจากสภาผู้แทนราษฎรด้วย เช่น อาจจะให้ครม. ออกพ.ร.ก. หรือ พ.ร.บ. ของ กสทช. แล้วให้สภาฯ ตรวจสอบอีกครั้ง
ในความเป็นอิสระของกสทช. ทำให้ก่อนหน้านี้สตง. ไม่มีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบกสทช. ข้อเสนออีกอย่างคือ หากสตง. ไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบได้อย่างละเอียด เราจึงอาจจะเสนอให้แก้กฎหมายอนุญาตให้องค์กรจากภายนอกเข้ามาตรวจสอบ (Third Party) เพื่อเป็นการสร้างมาตรฐานใหม่ เช่น การจ้างบริษัทเอกชน Big 4 เข้ามาตรวจสอบ และให้ความเห็น

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า ที่น่าสนใจคือ กระบวนการใช้จ่ายงบประมาณของกสทช. และรัฐบาลคสช. มีความไม่ขอบมาพากล เพราะตามประกาศคสช. ฉบับที่ 80/2557 ที่ออกมาแก้ไขพ.ร.บ. กสทช. โดยการแก้ไขมาตรา 52 (6) เพื่อจะล้วงเอาเงินจากกองทุนวิจัยและพัฒนาฯ โดยวัตถุประสงค์ข้อ 6 นั้นระบุว่า ส่งเสริมและสนับสนุนกด้านงบประมาณให้กระทรวงการคลังยืมเงินกองทุนฯ เป็นการแก้ไขพ.ร.บ. อย่างอุกอาจ ต่อมาก็ออกอีกคำสั่งว่าเงินที่ยืมไปไม่ต้องคืนกองทุนฯ ตนคิดว่าเป็นการผลัดกันเกาหลังระหว่าง กสทช. และรัฐบาลคสช. ที่ไม่ค่อยน่าภาคภูมิใจมาก เป็นการสะท้อนการขาดการตรวจสอบภายในและภายนอก และในรายงานของ สตง. มีการเบิกจ่ายที่ผิดปกติ ยกตัวอย่างการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลของพนักงานคนหนึ่ง ที่ต่อมาพบว่าใบเสร็จเบิกจ่ายเป็นของปลอม มีการเบิกเงินรวม 12 ล้านบาท จากการเบิกจ่ายทั้งสิ้น 285 ครั้ง สิ่งที่อยากจะทราบคือได้ดำเนินการตรวจสอบอย่างไร

ในช่วงสุดท้าย น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า ที่มาของ กสทช. ก็มีปัญหา เพราะเป็นกลไกที่คนดีเข้ามาสรรหา ให้คนดีมาแต่งตั้ง แล้วให้คนดีมาถอดถอน ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน นอกจากนี้ยังได้รับเงินเดือนไม่น้อย โดยบอร์ดปกติได้เงินเดือน 269,000 บาทต่อเดือน ส่วนประธานบอร์ดได้เงิน 350,000 บาทต่อเดือน ตนตั้งข้อสังเกตว่า ท่านได้ทำงานคุ้มค่าและมีศักดิ์ศรีหรือไม่ เพราะพบว่าถูกแทรกแซงจากคสช. ซึ่งให้กสทช. เข้ามากำกับดูแลสื่อ เป็นเครื่องมือให้กลุ่มโทรคมนาคม และทีวีดิจิตอล สามารถยืดหนี้และคืนใบอนุญาตให้ ตนคิดว่าต้องมีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย และการตรวจสอบกสทช. ต่อไป

Advertisement

ด้าน นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. ชี้แจงว่า พ.ร.บ.กสทช. พ.ศ.2560 ได้มีการแก้ไขวิธีการทางการเงิน และจัดตั้งงบต่างไปรายงานในปี 2559 เพราะกสทช.ไม่ได้มีอำนาจในการทำงบประมาณแล้ว ตั้งแต่รายงานฉบับปี 2560 เป็นต้นไป งบต่างๆ จะต้องผ่านอนุกรรมการที่มีผู้แทนจากสำนักงบประมาณ และหลายหน่วยงานร่วมกันพิจารณา ก่อนส่งต่อให้คณะกรรมการดีอีพิจารณาอีกครั้งด้วย อีกหลักเกณฑ์ใหม่ การจะเบิกจ่ายงบเหลื่อมปีก็ทำไม่ได้แล้ว อย่างไรก็ตาม การจัดทำงบใช้จ่ายของกสทช.เพื่อการใช้จ่ายของกสทช.นั้น ต้องต้องงบใน 2 เรื่องสำคัญ คือ งบใช้จ่ายของสำนักงาน กับ งบที่ต้องจัดสรรให้หน่วยงานอื่นตามกฎหมาย ซึ่งตนได้ชี้แจงต่อ คณะกรรมการดีอี การตั้งบของกสทช.จากนี้ ไม่ควรนำงบที่ต้องจัดสรรให้หน่วยงานอื่นมาร่วมเป็นงบประมาณของกสทช. เพราะมิเช่นนั้น กสทช.จะมีงบต่อปีสูงถึง 5,600 ล้านบาท ซึ่งดูสูง แต่สำนักงานไม่ได้ใช้งบนี้ทั้งหมด

“งบประมาณที่เราต้องจัดสรรหน่วยงานอื่นตามกฎหมาย อาทิ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ปีละ 500 ล้าน จัดสรรเข้าเข้ากองทุนดีอี จัดสรรให้กองทุนพัฒนาเทคโนโลยีด้านการศึกษา เป็นต้น ดังนั้นเมื่อมีการจัดตั้งงบก็ควรแยกรายการอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการใช้จ่ายของสำนักงานมารวม ซึ่งจะสร้างความชอบกับสำนักงานในการเสนองบประจำของสำนักงาน งบลงทุน งบที่เป็นไปตามกฎหมายอื่นที่บังคับให้เราจัดสรรงบประมาณมีอยู่เท่าไหร่ ซึ่งจะต้องแยกส่วนกันให้ชัดเจน” นายฐากร กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image