‘พงศกร’ เตือน ประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคง ซ้ำเติมปัญหาความรุนแรง เปิดทางใช้อำนาจประกาศ ‘เคอร์ฟิว’

เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พล.ท.พงศกร รอดชมภู รองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดน ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึง การออกประกาศราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ “ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) รักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551” ที่ให้อำนาจแก่กองอํานวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ในการปฏิบัติงานในพื้นที่ 9 อำเภอ ของ 4 จังหวัดชายแดนใต้ ทั้งยังสั่งห้ามออกจากเคหสถานตามเวลาที่กำหนด หรือพื้นที่ที่เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน ว่า พ.ร.บ.นี้ออกตามคำสั่ง คสช. 51/2560 ที่ให้อำนาจแก่ กอ.รมน. เป็นอำนาจของกฎอัยการศึก แต่ถูกนำมาใส่ในคำสั่งคสช.ฉบับนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่จะต้องทบทวนกันหมด

อธิบายอย่างง่ายๆ คือ เป็นการนำอำนาจพิเศษไปแทรกอยู่ใน พ.ร.บ.ความมั่นคง ซึ่งอาจจะทำให้คนเข้าใจผิด ทั้งที่อำนาจพิเศษนี้ควรจะถูกนำมาใช้ในช่วงวิกฤตสงครามเท่านั้น

“สรุปแล้วประกาศล่าสุดนี้ เป็นการให้อำนาจในการประกาศเคอร์ฟิว ขึ้นอยู่กับว่าจะเลือกประกาศเมื่อไหร่ ในระยะตั้งแต่ 1 ธันวาคม 2562 ถึง 30 พฤศจิกายน 2563 ถือเป็นการทำงานแบบผิดฝาผิดตัว เพราะหากรัฐบาลจะประกาศตามกฎอัยการศึกก็ควรประกาศออกมาอย่างชัดเจน” รองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ กล่าว

โดยทั่วไปเคอร์ฟิวจะใช้ในกฎอัยการศึก แต่เขานำอำนาจนี้มาใส่ไว้ใน พ.ร.บ.ความมั่นคง ผ่านการใช้คำสั่งคสช. 51/2560 ซึ่งต้องทบทวนกันต่อไป เพราะจะทำให้เกิดความเข้าใจผิด ส่วนนี้ก็ต้องไปรื้อคำสั่งตาม มาตรา 44 ซึ่งหลัง กมธ.ทหาร ที่ตนเป็นประธานได้เรียก กอ.รมน.เข้ามาชี้แจง จนถึงตอนนี้กฎหมายพิเศษทั้ง 3 ฉบับที่ประกาศใช้ในพื้นที่ชายแดนใต้ คือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ร.บ.ความมั่นคง และกฎอัยการศึก ยังคงมีผลบังคับใช้อยู่

Advertisement

ส่วนที่กระทรวงกลาโหมออกมาปฏิเสธว่า ประกาศฉบับนี้ไม่ได้เป็นผลสืบเนื่องจากเหตุการณ์กราดยิง ที่ป้อมชรบ. บ้านทางลุ่ม หมู่ 5 ต.ลำพะยา อ.เมืองยะลา จ.ยะลา จนมีผู้เสียชีวิต 15 รายนั้น พล.ท.พงศกร เปิดเผยว่า หากไม่เกี่ยวข้องจริง แล้วจะประกาศคำสั่งออกมาทำไม ถ้าประกาศใช้ในพื้นที่นั้น คุณจะให้เหตุผลในการประกาศว่าอย่างไร เพราะการประกาศเคอร์ฟิว หมายความว่าพื้นที่นั้นมีศึกสงคราม ดังนั้นจึงเป็นการนำพื้นที่เข้าไปเสี่ยงว่าจะมีการใช้กำลังการปะทะกัน ซึ่งปกติควรเป็นหน้าที่ของตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง

การประกาศย้ำเตือนว่า กอ.รมน. มีอำนาจนั้น จะยิ่งทำให้สถานการณ์เลวลง ทั้งนี้รัฐต้องพยายามทำให้ประชาชนไม่รู้สึกว่าถูกตรวจสอบ และสามารถจับคนร้ายได้ทันทีหลังเกิดเหตุ แต่ครั้งนี้เข้าไปตรวจสอบจนวุ่นวาย แต่จับคนร้ายไม่ได้ แม้ล่าสุดอาจจะจับผู้ต้องสงสัยได้ ก็ต้องถามว่าเป็นผู้ก่อเหตุจริงหรือไม่ หน้าที่สำคัญคือ ต้องจับให้ได้รวดเร็วที่สุด แต่ทำงานล่าช้าเช่นนี้แสดงว่าเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยชุดนี้ทำงานไม่ดีพอ

Advertisement

ส่วนประเด็นที่พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในฐานะรอง ผอ.รมน. ไม่ค่อยออกมาแสดงความเห็นต่อเหตุการณ์นี้นั้น พล.ท.พงศกร เปิดเผยว่า ความเป็นจริงเหตุการณ์นี้อยู่ในขอบเขตหน้าที่ของพล.อ.ประยุทธ์ ผอ.รมน. กับ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ซึ่งนายกฯ เคยประกาศเมื่อปี 2559 ว่าจะจบปัญหาความขัดแย้งภายใน 6 เดือน แต่จนถึงตอนนี้เหตุการณ์ก็ยังไม่สงบ

พล.ท.พงศกร กล่าวถึง กรณีที่นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ประกาศจะดำเนินคดีกับคนที่แชร์ข่าวเฟคนิวส์ประกาศเคอร์ฟิวในพื้นที่จังหวัด 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่า ตนแนะนำว่าเอาเวลาไปทำเรื่องอื่นดีกว่า เพราะเมื่อประกาศเคอร์ฟิวในราชกิจจานุเบกษา ตนถามว่าหากคนแชร์ข่าวราชกิจจานุเบกษาถือว่าเป็นการแชร์ข่าวปลอมหรือ ถ้าคุณบอกว่าราชกิจจาฯ เป็นเฟคก็ต้องไปจับคนออก ซึ่งก็คือ รัฐบาล ฉะนั้นเมื่อไม่ใช่ข่าวปลอม ก็สามารถแชร์ข่าวได้ แต่การแสดงความเห็นส่วนตัวก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image