วิษณุ ติงพรรคร่วม ต้องคุมเสียงในสภา ไม่เห็นด้วยกมธ.ม.44 อ้างแต่ละคณะพิจารณาได้

“วิษณุ” ติงพรรคร่วม-รัฐบาล มีหน้าที่คุมเสียงในสภา อย่าโทษคนอื่น ไม่เห็นด้วยตั้งกมธ.เช็คบิล ม.44 เหตุสามารถส่งให้กมธ.แต่ละคณะพิจารณาได้ดีกว่า

เมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 29 พฤศจิกายน ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงการยื่นญัตติขอแต่งตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญเพื่อศึกษา ปัญหาและแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า เขากำลังจะตั้งอยู่แล้ว เมื่อถามว่านโยบายของรัฐบาลระบุให้ดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญภายใน 1 ปี นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ใช่ แต่เขียนว่าเป็นนโยบายเร่งด่วน แต่ถึงอย่างไรก็ต้องตั้งอยู่แล้ว ไม่ต้องกังวล แต่จะศึกษาเสร็จหรือไม่นั้นตนไม่รู้ ส่วนจะใช้เวลาศึกษาเท่าไหร่ก็แล้วแต่คณะกรรมาธิการชุดดังกล่าว เพราะเมื่อศึกษาเสร็จเเล้วก็ต้องนำมารายงานต่อสภาใหญ่ เพื่อให้ความเห็นชอบ กมธ.ทุกคณะทำงานแทนสภา เมื่อทำงานเสร็จแล้วก็ต้องมารายงานให้สภา ทราบ คล้ายกับเป็นการกลั่นกรองให้ก่อน

ผู้สื่อข่าวถามว่าสามารถนำญัตติเรื่องนี้ขึ้นมาพิจารณาก่อนได้หรือไม่ เพราะเวลานี้ติดเรื่องการแต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาผลกระทบจากการกระทำประกาศและคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และการใช้อำนาจของหัวหน้าคสช. ตามมาตรา 44 นายวิษณุ กล่าวว่า ก็ให้พิจารณาเสร็จไปเป็นเรื่อง เพราะถ้าข้าม ญัตติเก่าจะตกไปทันที ตามข้อบังคับการประชุมสภา ในระหว่างมีญัตติหนึ่ง ห้ามเสนอญัตติอื่นแทรกเข้ามา ยกเว้นมีการขอปิดประชุมหรือขอนับคะแนน ซึ่งส.ส.ต้องไปพูดคุยทำความเข้าใจกันเอง ถ้าจะยกญัตติเรื่องการตั้งคณะกรรมการศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ขึ้นมาก่อน ญัตติที่ขอให้ตั้งกรรมาธิการ ศึกษาผลกระทบจากมาตรา 44 ก็จะตกไป

เมื่อถามว่า การเสนอญัตติตั้งกรรมาธิการวิสามัญศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถือว่าเข้าสู่กระบวนการที่ต้องทำภายใน 1 ปีแล้วใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ใช่ และที่จริงควรทำก่อนหน้านี้แล้ว แต่มีญัตติที่อยู่ระหว่างรอการพิจารณาหลายเรื่อง รวมถึงมีญัตติที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับปากท้องของประชาชนซึ่งมีความสำคัญมากกว่า ก็ถูกนำมาพิจารณาก่อน และเวลานี้ถือว่าเหมาะสมในการศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่จะแก้ไขอะไรบ้างนั้น ตนยังตอบไม่ถูก เพราะพูดกันไปคนละเรื่อง ถ้าให้รัฐบาลคิดก็คิดได้ แต่คงไม่ตรงกับสิ่งที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) รวมถึงนายปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ (อนค.) คิด ในเมื่อแต่ละคนคิดไม่เหมือนกัน ก็ต้องไปพูดคุยกันในกรรมาธิการ

Advertisement

ผู้สื่อข่าวถามถึงเหตุการณ์การประชุมสภาล่มติด 2 ครั้งติดต่อกัน จะเป็นปัญหาต่อไปกรณีที่รัฐบาลจะเสนอกฎหมายสำคัญสำคัญอื่นๆ ในอนาคตหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า สมัยที่นายชวนหลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นนายกรัฐมนตรีนั้น ท่านเคยพูดและตนเห็นด้วยว่าไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลเสียงข้างมาก หรือเสียงข้างน้อย หน้าที่รักษาองค์ประชุมให้ครบนั้นเป็นหน้าที่ของพรรคร่วมรัฐบาล ฝ่ายค้านจะเดินออกเดินเข้าห้องประชุม ถือเป็นสิทธิและหน้าที่ของเขา การรักษาองค์ประชุมให้ครบเป็นเรื่องของรัฐบาล เมื่อถามย้ำว่ากรณีที่สภาฯ ล่มถือเป็นข้อบกพร่องของรัฐบาลหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ขอพูดในจังหวะนี้ เดี๋ยวสื่อมวลชนเอาไปพาดหัวข่าว เครื่องเสียงส.ส.เป็นหน้าที่ของรัฐบาล แต่บางคนจะไม่คิดว่าเป็นอาจไม่คิดว่าเป็นหน้าที่แล้วก็ไปโทษฝ่ายนั้นฝ่ายนี้

เมื่อถามอีกว่าจะต้องมีผู้แสดงความรับผิดชอบในเรื่องนี้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า แล้วแต่เรื่องถ้าเป็นเรื่องใหญ่ ก็ต้องรับผิดชอบ แต่ถ้าเป็นเรื่องปกติธรรมดา ก็ไม่ต้องไปรับผิดชอบอะไรมากกว่านี้ เช่น เรื่องการเสนอกฎหมายที่จะต้องมีการแสดงความรับผิดชอบ แต่กรณีนี้เป็นเรื่องการเสนอญัตติธรรมดาและยังเป็นมติที่ฝ่ายค้านเสนอด้วย ที่จริงตนเคยเห็นแต่ส.ส.พรรครัฐบาลเดินออกจากห้องประชุม

เมื่อถามว่ากรณีที่จะให้มีการศึกษาผลกระทบจากมาตรา 44 ที่จริงแล้วเหลือเพียงไม่กี่ฉบับใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า เหลือไม่กี่ฉบับ และตนไม่เห็นด้วยกับการตั้งกรรมาธิการวิสามัญศึกษาผลกระทบจากมาตรา 44 เพราะเรื่องที่เหลือสามารถส่งไปให้กรรมาธิการสามัญพิจารณาได้ แต่ละคณะยกขึ้นมาพิจารณาเป็นรายฉบับ และจะได้ผลดีกว่าด้วยซ้ำ อาทิ ถ้าเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ก็สามารถส่งให้คณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งจะพูดได้ลึก และดีกว่าพูดไปกรรมการวิสามัญชุดนี้ชุดเดียว

Advertisement

เมื่อถามว่าเหตุผลที่จะไม่ให้มีการตั้งกรรมาธิการ นี้เนื่องจากไม่อยากให้มีการเรียกพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม (กห.) และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ไปชี้แจงใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า จะเรียกก็ไม่เป็นไร เพราะกรรมาธิการชุดไหนก็เรียกได้ ที่จริงเรื่องของมาตรา 44 ก็สะสางไปหลายฉบับเกือบจะหมดแล้ว และรัฐบาลที่ให้ตั้งกรรมการสะสางประกาศคณะปฏิวัติ คือรัฐบาลของนายชวน และยกเลิกไปจำนวนมาก อีกทั้ง ในสมัยรัฐบาลประยุทธ์ 1 ได้ยกเลิกกฎหมายที่ล้าสมัยไปจำนวนมาก ซึ่งรวมถึงประกาศเก่าๆของคณะปฏิวัติรวมอยู่ด้วย ส่วนคำสั่ง คสช.ที่บางฉบับดูจะยังเหลืออยู่ เพราะไปแก้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) บางฉบับ เช่น พ.ร.บ.ฉบับหนึ่งมี 40 มาตรา แล้วออกคำสั่งคสช.มาแก้ไข 5 มาตรา เมื่อแก้เสร็จก็กลืนไปอยู่ในนั้น ถ้ายกเลิกทันที ก็จะเกิดช่องว่างใน 5 มาตราที่แก้ไข บทบัญญัติ 5 มาตรานั้นหายไป และเกิดผลกระทบกับพระราชบัญญัตินั้นทั้งฉบับ ทำให้ต้องคงคำสั่งคสช.ฉบับนั้นเอาไว้ แต่บางฉบับก็หมดไปพร้อมกับ คสช. โดยไม่ต้องยกเลิก แต่บางฉบับที่ยังอยู่ เพราะยังต้องปฏิบัติตามเรื่องแต่งตั้งโยกย้าย พักงาน อบต. อบจ. และเมื่อสับสนคนเหล่านี้หมดแล้วคำสั่งตรงนั้นก็จะหมดสิ้นไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image