ชัชชาติ ปีนท้ายรถขยะ อบต.พันท้ายฯ ตามติดวงจรขยะ 3ตัน ตั้งแต่ถังหน้าบ้าน ยันโรงกำจัด

ชัชชาติ ปีนท้ายรถขยะ อบต.พันท้ายฯ ตามติดวงจรขยะ 3ตัน ตั้งแต่ถังหน้าบ้าน ยันโรงกำจัด 

วันนี้ (13 ธ.ค.) นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯกทม. ได้โพสต์ข้อเขียน เรื่องการจัดการขยะเป็นเรื่องสำคัญสำหรับทุกเมือง หลังจากได้ลงดูงานจัดการขยะของ อบต.พันท้ายนรสิงห์ จังหวัดสมุทรสาคร ใจความว่า

“เมื่อวานผมได้ไปดูงานจัดการขยะของ อบต.พันท้ายนรสิงห์ จังหวัดสมุทรสาคร ที่เลือกที่นี่เพราะมีการกำจัดขยะที่น่าสนใจและสามารถดูงานได้ทั้งระบบ

ระบบการจัดการขยะ อาจจะประกอบด้วยสามขั้นตอนหลักคือ

Advertisement

1. การทิ้งขยะจากแหล่งต่างๆ เช่น ครัวเรือน ตลาด โรงเรียน โรงงาน (อันนี้พวกเราทุกคนมีส่วนในขั้นตอนนี้)
2. การจัดเก็บขยะ โดยมีหน่วยงานจัดเก็บรวบรวมจากแหล่งทิ้งขยะต่างๆ ส่วนใหญ่ที่เราเห็นคือรถเก็บขยะที่มาเก็บขยะตามบ้าน
3. การกำจัดขยะ ซึ่งอาจมีหลายทางเลือก เช่น การฝังกลบ การเผา การคัดแยกเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ

ขั้นตอน 1-2 ของที่ อบต.พันท้ายนรสิงห์ มีลักษณะเหมือนกับของ กทม. โดยจะมีรถเก็บขยะวิ่งเก็บตามแหล่งทิ้งขยะ โดยเก็บอาทิตย์ละสองวัน ค่าเก็บขยะบ้านละ 40 บาทต่อเดือน
ส่วนขั้นตอนที่ 3 นั้น แตกต่างจากของ กทม. โดยของ กทม. ในปัจจุบัน ขยะส่วนใหญ่ถูกจัดการโดยการฝังกลบ ส่วนของที่ อบต.พันท้ายนรสิงห์ ขยะจะถูกส่งไปที่ศูนย์คัดแยกขยะ เพื่อนำขยะที่ใช้ได้กลับมาใช้ใหม่ ในรูปของการ Recycle, เชื้อเพลิง หรือปุ๋ยหมัก เหลือที่ต้องนำไปฝังกลบเพียง 3-4% เท่านั้น

ผมได้ลองไปดูงานทั้งสามขั้นตอนของการจัดการขยะ เลยขอนำมาเล่าให้พวกเราฟังเผื่อจะเป็นประโยชน์ครับ

Advertisement

ขั้นตอน 1-2 นั้น จะมีรถขยะที่มีเครื่องอัดขยะวิ่งไปตามจุดต่างๆ และมีพนักงานเก็บขยะท้ายรถเอาขยะจากจุดต่างๆมาใส่รถขยะ ผมลองทำหน้าที่คนเก็บขยะไปกับน้องอีกสองคน ออกตั้งแต่ 7 โมงเช้า เก็บตามตลาด หมู่บ้าน โรงเรียน สิ่งที่พบคือ

– ขยะเกือบทั้งหมดที่มาจากครัวเรือนไม่ได้คัดแยก พนักงานท้ายรถจะแยกขยะเท่าที่ทำได้ เช่น แยกขวดพลาสติก ขวดแก้ว กระป๋องอลูมิเนียมไว้ในถุงดำที่แขวนข้างรถ หรือถุงที่วางบนหลังคารถ เพื่อขายเป็นรายได้เสริม
(น้องที่มาด้วยได้ค่าแรงวันละ 325 บาท ขายขยะที่แยกได้เพิ่มอีกวันละประมาณ 50 บาท)

– ขยะที่ทำการคัดแยกมาจากต้นทางนั้น ถ้าพนักงานท้ายรถไม่สามารถนำไปขายได้หรือลำบากในการแยกขนไปกับรถ จะถูกเทรวมกับขยะส่วนใหญ่

– ขยะที่มีปัญหาจริงๆคือขยะเปียก เช่น เศษอาหารที่เหลือ น้ำแกง ซึ่งมีไม่มาก (ที่เห็นในวันนี้น่าจะสัก 10-20%) แต่มีกลิ่นเหม็น เพราะไม่ได้เก็บทุกวัน เกิดการบูดเน่า และเมื่อถูกอัดรวมกับขยะทั้งหมด ทำให้ขยะแห้งกลายเป็นขยะเปียก มีกลิ่นเหม็น และกลายเป็นขยะสกปรกทั้งหมด

– ปริมาณขยะแต่ละบ้านแตกต่างกัน บางบ้านที่ทำอาหารขายจะมีขยะเปียกเยอะมาก แต่ทุกบ้านจ่ายค่าเก็บขยะเท่ากัน (ที่นี่คือ 40 บาทต่อเดือน)

– เกร็ดเล็กๆคือ ถ้าเลือกถังขยะหน้าบ้าน อย่าเลือกแบบที่ปากถังเล็กกว่าตัวถัง เพราะเวลาคนเก็บขยะเท เทได้ยากเพราะขยะจะติดที่ปากถัง ต้องเอามือโกยออก

ปัญหาที่ต้องคิดต่อของสองขั้นตอนนี้คือ

– ขยะทั้งหมดต้องเข้าสู่ระบบ ไม่ให้ทิ้งเรี่ยราด ต้องมีถังขยะเพียงพอ การจัดเก็บที่ทั่วถึง

– การแยกขยะ ถ้าจะแยกขยะ ต้องแยกต่อเนื่องทุกขั้นตอนจนจบ ไม่ใช่แยกแล้วเอามารวมแล้วเอาไปแยกอีกที

– การจัดการขยะเปียก ถ้าสามารถแยกขยะเปียกได้ จะทำให้การจัดการขยะง่ายและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

– คนที่สร้างขยะมาก ควรจะต้องเสียค่าใช้จ่ายมากกว่าคนที่สร้างขยะน้อย เพื่อสร้างแรงจูงใจในการลดขยะ

จากนั้นขยะที่เก็บได้ ส่วนที่ขายได้จะถูกนำไปขายก่อน (โดยคนเก็บ) ส่วนที่เหลือจะถูกนำไปสู่ขั้นตอนที่ 3 คือการกำจัดขยะ

ขยะของที่ อบต. พันท้ายนรสิงห์จะถูกส่งต่อไปที่โรงงานกำจัดขยะที่อยู่ห่างออกไปประมาณ 40 กม. โดยขยะจะถูกนำลงเข้าสู่ระบบสายพานเพื่อทำการคัดแยก
โดยจะแยกขยะออกเป็น

1. Recycle ได้ เช่น ขวดแก้ว กระป๋องอลูมิเนียม เหล็ก เพื่อนำกลับไปใช้ใหม่
2. พลาสติกเกรดต่างๆ เพื่อนำไปทำเชื้อเพลิง โดยถุงพลาสติกมีปริมาณมากถึง 40% ของขยะทั้งหมด
3. ขยะอินทรีย์ที่ย่อยสลายได้ เพื่อนำไปทำสารปรับปรุงดินหรือปุ๋ยหมัก (โรงงานนี้ผลิตปุ๋ยหมักได้ประมาณวันละ 60 ตัน)
4. ขยะที่ใช้ไม่ได้ นำไปฝังกลบ (เหลือประมาณ 3-4% ของขยะทั้งหมด)

เมื่อวานผมอยู่กับรถขยะแค่สามชั่วโมง เก็บขยะมาได้เกือบสามตัน และขยะเกือบทั้งหมดที่เก็บ เราเสียเงินซื้อมาทั้งนั้น ขยะไม่ได้จบแค่การที่เราทิ้งมันลงถังขยะ แต่ต้องดูวงจรชีวิตของขยะทั้งระบบว่ามันเริ่มต้นและสิ้นสุดอย่างไร กลับคือสู่ธรรมชาติอย่างไร สิ่งที่ดีที่สุดคือการลดการสร้างขยะ หรือถ้าจำเป็นต้องหาแนวทางในการจัดการที่กระทบกับสิ่งแวดล้อมและอนาคตให้น้อยที่สุดครับ”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image