‘สุรชัย’ ชี้ หากคำถามพ่วงผ่าน ไม่กระทบการทำงานของรบ.แน่นอน

“สุรชัย” ชี้ คำถามพ่วงถ้าปชช.ไม่เห็นด้วยก็ตกไปเท่านั้นเอง ยัน หากผ่านไม่กระทบการทำงานของรบ.เพราะพรรคการเมืองต้องรู้จักปฏิรูปตัวเอง ไม่ยึดนโยบายพรรคแต่ให้ยึดหน้าที่ของรัฐในการทำงาน

เมื่อเวลา 15.30 น. วันที่ 22 มิถุนายน ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช. อภิปรายเกี่ยวกับเรื่องคำถามพ่วง ในการทำประชามติ ว่า รธน.ฉบับนายมีชัย ฤชุพันธุ์ สร้างให้วุฒิสภาเป็นผู้ติดตาม ตรวจสอบ เร่งรัด การปฏิรูปประเทศ และให้ครม.มารายงานความคืบหน้าของการปฏิรูปประเทศต่อรัฐสภาทุกๆ 3 เดือน และการปฏิรูปต้องเริ่มต้นภายใน 1 ปี และต้องบรรลุผลภายใน 5 ปี นับตั้งแต่ประกาศใช้รธน. เพื่อเป็นหลักประกันในการเดินหน้าการปฏิรูปประเทศ รัฐบาลที่เกิดขึ้นหลังการเลือกตั้งต้องรับผิดชอบเรื่องนี้ นำโดยนายกฯ เราก็มานั่งคิดว่าจะทำอย่างไรให้รัฐบาล รัฐสภา และสปท. ทำงานร่วมกัน เราจึงคิดว่าให้มีบทเฉพาะกาลขึ้นมาในระยะเวลาสั้นช่วงหนึ่งจะดีไหม คือช่วง 5 ปีแรกที่มีรัฐสภา โดยให้นายกฯมาจากที่ประชุมรัฐสภา คือมาจากส.ส. และส.ว. เราคิด แต่เราไม่บังอาจเป็นคนตัดสินใจ จึงเป็นที่มาให้เราส่งคำถามไปให้กกต. เพื่อให้ประชาชนตัดสินใจ ทั้งนี้ ยืนยันว่า คำถามนี้ไม่เกี่ยวกับนายกฯคนนอก หรือนายกฯคนใน คนที่จะเสนอชื่อนายกฯได้ตามรัฐธรรมนูญคือจะต้องเป็นส.ส. และต้องอยู่ในรายชื่อ 3 รายชื่อที่พรรคการเมืองต้องยื่นให้กกต.เท่านั้น เราคิดว่าคำถามพ่วงที่เราเสนอให้พี่น้องประชาชนตัดสินใจนั้นจะเป็นกลไกที่จะทำให้ประเทศเดินไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ได้ แต่หากพี่น้องประชาชนไม่เห็นด้วย คำถามที่ถามก็ตกไปเท่านั้นเอง แล้วเดินหน้าไปตามโรดแมปของประเทศ

เมื่อถามว่า หากการเลือกนายกฯเปลี่ยนแปลงไปไม่เกี่ยวกับพรรค หรือให้สภาเลือกนายกฯ นายกฯอาจจะไม่ใช่เสียงข้างมากของรัฐบาล จะส่งผลต่อการบริหารประเทศหรือไม่ นายสุรชัย กล่าวว่า รธน.นี้เปลี่ยนแปลงหลายอย่างที่มีอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับเดิมๆ ที่มานายกฯก็เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการให้พรรคกการเมืองเสนอชื่อคนที่คิดว่าจะเป็นนายกฯ 3 คน หลังเลือกตั้งทุกพรรคมีสิทธิเสนอชื่อนายกฯได้แต่ต้องมีที่นั่งในสภาไม่น้อยกว่า 15% และต้องได้รับเสียงสนับสนุนจากส.ส.ไม่น้อยกว่า 10% จากส.ส.ทั้งหมดในสภา ตนมีความเห็นส่วนตัวว่า พรรคการเมืองที่เข้ามาหลังการเลือกตั้งเมื่อรัฐธรรมนูญนี้ผ่านจะต้องปฏิรูปตัวเองในเรื่องของการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายในการทำงาน ถือเอาหน้าที่รัฐตามหมวดหน้าที่ของรัฐ หรือยุทธศาสตร์ชาติในการทำงาน ไม่ใช่ถือเอานโยบายของพรรคในการทำงานแบบในอดีต พรรคการเมืองไหนจะมาเป็นรัฐบาลก็แล้วแต่ต้องมาแถลงนโยบายต่อรัฐสภา แล้วนโยบายที่จะมาแถลงนั้นต้องสอดคล้องกับหน้าที่ของรัฐ ยุทธศาสตร์ชาติ ไม่เอานโยบายของพรรคการเมืองเป็นหลักแล้ว พอทุกอย่างถูกกำหนดในเปลี่ยนแปลงวิธีคิด วิธีทำงานใหม่ ตนจึงไม่กังวลตามที่ท่านถาม เพราะการรักษาฐานเสียง หรือรักษานโยบายของพรรคตนเองจะไม่เกิดขึ้นแบบในอดีต

เมื่อถามว่า รธน.นี้มีทั้งผู้เห็นด้วย และไม่เห็นด้วย จะเป็นไปได้หรือไม่ที่จะจัดให้มีการดีเบต นายคำนูญ สิทธิสมาน สปท. กล่าวว่า ตนเข้าใจว่า การลงประชามติต้องมีการให้ข้อมูลกับพี่น้องประชาชนอย่างรอบด้าน ก็กำลังทำอยู่ แต่ช่วงนี้เป็นการอบรมครู ก. ข. และค. จากนี้ไปเป็นกระบวนการผ่านสื่อ โดยนโยบายของกกต.เปิดโอกาสให้ช่องต่างๆ จัดรายการ และเชิญผู้ที่มีมุมมองต่างๆ ที่หลากหลายมาพูดคุยได้ ส่วนการจัดเวทีรัฐบาลก็จัดให้อยู่แล้ว แต่ก็ต้องคำนึงถึงสถานการณ์บ้านเมืองในปัจจุบัน เพราะเรามีความขัดแย้งมานาน การจะจัดรายการอะไรก็ก็ต้องคำนึงถึงสถานการณ์บ้านเมืองได้ สิ่งที่กกต.ดำเนินการน่าจะเพียงพอ และไม่ได้จำกัดสิทธิเสรีภาพแต่ประการใด แต่สิ่งที่จะผิดคือเรื่องเนื้อหาสาระ ที่รธน.เขียนอย่างนี้ แต่ท่านเอาไปพูดอีกอย่างหนึ่ง เป็นต้น

Advertisement

67

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image