‘วิษณุ’ ยก ‘คดีจำนำข้าว’ ผลงานดีเด่น’ป.ป.ท.’ รับ คะแนนโปร่งใสต่ำ ขอเวลารัฐบาลแก้ตัว

‘วิษณุ’ ยก ‘คดีจำนำข้าว’ เป็นผลงานดีเด่นของ ‘ป.ป.ท.’ ลั่น ‘การทุจริต’ ขัดหลักปชต.-กม. โตเป็นเนื้อร้าย สร้างความเกลียดชังเพื่อนร่วมชาติ-ปท. ยอมรับ ‘คะแนนความโปร่งใสต่ำ’ ขอเวลาให้รัฐบาลแก้ตัว

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 24 มกราคม ที่ห้องจูปิเตอร์ อาคารชาเลนเจอร์ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี จ.นนทบุรี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในงานวันครบรอบการสถาปนา 12 ปี สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) และมอบนโยบายการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ

นายวิษณุ กล่าวในตอนหนึ่งว่า ในอดีตประเทศไทยเคยยกวันที่ 25 มกราคม ให้เป็นวันกองทัพไทย เพราะเชื่อว่าเป็นวันที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงทำยุทธหัตถี แต่ต่อมาก็ได้มีการคำนวณวันใหม่จึงพบว่า วันที่มีการทำยุทธหัตถีจริงๆ คือวันที่ 18 มกราคม ทางกองทัพจึงได้เปลี่ยนวันกองทัพไทยมาเป็นวันที่ 18 มกราคมแทน แต่กระนั้นวันที่ 25 มกราคม ยังถือเป็นวันสำคัญของประเทศไทย เพราะวันที่ 25 มกราคม พ.ศ.2485 ไทยประกาศเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น หรือที่เรียกว่า วันร่วมวงไพบูลย์ ต่อมาเมื่อญี่ปุ่นแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 ไทยเราก็มีความสามารถที่จะประกาศว่าไทยไม่แพ้ แต่ญี่ปุ่นแพ้ เพราะการประกาศสงครามและร่วมดื่มน้ำปฏิญาณต่อพระแก้วมรกตนั้นเป็นโมฆะ เรื่องนี้เราถนัดอยู่แล้ว

นายวิษณุ กล่าวถึงบทบาทการทำงานด้านการตรวจสอบการทุจริต ว่า รัฐธรรมนูญให้อำนาจในการจัดการเรื่องทุจริตต่างๆ แก่หน่วยงานที่ชื่อว่า คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แต่ทาง ป.ป.ช. ไม่สามารถจัดการเรื่องการทุจริตได้ทั้งหมดทุกเรื่อง และการป้องกันและปราบปรามการทุจริตไม่ได้มีเพียงแค่ไปจับคนมาฟ้อง ติดคุก ติดตะราง แต่ต้องทำการศึกษาวิจัยและหามาตรการที่จะขู่หรือเตือนให้เกิดจิตสำนึก และต้องร่วมมือกับพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ ต่อให้มี 10 ป.ป.ช. ก็คงจะไม่สามารถแบกรับงานไว้ทั้งหมดได้ จึงจำเป็นต้องมีหน่วยงานอย่าง ป.ป.ท. มาช่วยแบ่งเบาภาระงาน คือ ป.ป.ช. เป็นพระเอก และ ป.ป.ท. เป็นพระรอง ถือดาบกันคนละข้างจัดการการทุจริต

Advertisement

นายวิษณุ กล่าวว่า รัฐบาลขอบคุณ ป.ป.ท. ที่ทำหน้าที่ตลอดระยะเวลา 12 ปีเป็นอย่างดี เพราะสถิติการฟ้องกลับเจ้าหน้าที่ ป.ป.ท. มีจำนวนน้อยหรือจนแทบไม่มีคดีเลย อีกอย่างที่รัฐบาลรู้สึกขอบคุณการทำหน้าที่ของ ป.ป.ท. ที่เป็นผลงานดีเด่น เช่น โครงการทุจริตจำนำข้าว ซึ่งหลายคนอาจจะมองว่าช้า แต่ก็มีอะไรคืบหน้าจนสามารถส่งฟ้องและดำเนินคดีเรียกทรัพย์คืนในทางแพ่งให้ชดใช้ได้หลายราย นอกจากนี้ยังมีผลงานการปราบทุจริตในเรื่องค่าอาหารกลางวัน และเรื่องเงินทอนวัดหรือพระ ภารกิจสำคัญที่ทางรัฐบาลมอบให้แก่ ป.ป.ท. มี 3 ประการคือ 1.การป้องกัน : การรณรงค์ และประชาสัมพันธ์ปลูกจิตสำนึกต้านโกง 2.การปราบปราม : การดำเนินคดี และ 3.การสร้างความสัมพันธ์กับเครือข่ายพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ

นายวิษณุ กล่าวอีกว่า ในระดับนานาชาติจะมีตัวชี้วัดการทุจริตคือ Corruption Perceptions Index : CPI ของ Transparency International : TI หรือ องค์กรชี้วัดความโปร่งใสนานาชาติ ที่มีหน้าที่ตรวจสอบประเทศที่เข้าร่วมโครงการยอมให้ตรวจสอบ เมื่อปีก่อนไทยได้คะแนน 36 คะแนนจากคะแนนเต็ม 100 คะแนน อยู่ในอันดับที่ 99 ถ้านับจาก 50 คะแนนก็ถือว่าสอบตก แต่ถ้านับเป็นอันดับก็เป็นอันดับที่ 99 ล่าสุดก็ประกาศผลออกมาว่าค่า CPI ของไทยประเมินจากปี 2562 ไทยได้ 36 คะแนนจาก 100 คะแนน อยู่ในอันดับที่ 101 รักษาอันดับไม่ได้ เพราะถูกเวียดนามเบียดแซงไป แต่เรายังมีเวลาที่จะกระเตื้องขึ้นได้

“การทุจริตเป็นภยันตรายร้ายแรงต่อประเทศ และเป็นภยันตรายร้ายแรงต่อตัวเราด้วย เราเป็นเจ้าหน้าที่ถ้าเราไปทุจริต เราอาจจะไม่รู้สึกว่าเราเดือดร้อนเพราะเราเป็นฝ่ายได้ประโยชน์ แต่เมื่อเจ้าหน้าที่อื่นทุจริต เราจะรู้ว่าเดือดร้อน เพราะฉะนั้นก็อกเขาอกเรา ใจเขาใจเรา การทุจริตเป็นทั้งความไม่เป็นธรรมในสังคม การทุจริตขัดทั้งหลักสิทธิมนุษยชน ขัดหลักประชาธิปไตย ขัดหลักนิติธรรม หลักกฎหมายด้วยประการทั้งปวง การทุจริตทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำต่ำสูง ทำให้เกิดความน้อยเนื้อต่ำใจ ทำให้เกิดความรู้สึกรังเกียจ ความรังเกียจนี้อาจจะรังเกียจเพื่อนร่วมชาติ จนขยับไปถึงรังเกียจประเทศชาติ จึงเป็นต้นเหตุสำคัญประการหนึ่งที่จะต้องป้องกันปราบปรามและแก้ไข จึงอยากฝากภารกิจนี้ไว้ต่อสำนักงาน ป.ป.ท. ด้วย” รองนายกรัฐมนตรี กล่าว

Advertisement

////////

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image