ปธ. กสม. เผย เตรียมเดินหน้าขอคืนสถานะ A ของ กสม. ไทย หลังถูกลดสถานะ ตั้งแต่ปี 59

เมื่อวันที่ 26 มกราคม นายวัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เปิดเผยถึงการเข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการว่าด้วยการประเมินสถานะของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ปี 2563 (2020 National Human Rights Institutions Accreditation Workshop) จัดโดยกรอบความร่วมมือระหว่างสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (Asia Pacific Forum of National Human Rights Institutions : APF) ว่า สืบเนื่องจากกสม.ในฐานะสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของไทยมีความประสงค์ขอคืนสถานะ A หลังจากถูกลดสถานะเป็น B ตั้งแต่ต้นปี 2559 จึงได้รับเชิญจาก APF ให้เข้าร่วมสัมมนาเชิงปฏิบัติการดังกล่าว เพื่อทำความเข้าใจถึงหลักเกณฑ์ที่จะใช้ในการประเมินสถานะโดยคณะอนุกรรมการประเมินสถานะ (Sub-Committee on Accreditation : SCA) เช่น ความเป็นอิสระและความคุ้มกันในการปฏิบัติหน้าที่ โครงสร้างองค์กร การดำเนินการของสถาบันฯ ภายใต้อำนาจหน้าที่ของกฎหมายจัดตั้ง บทบาทของสถาบันฯ ในการให้คำปรึกษาแก่รัฐบาลในการเข้าเป็นภาคีตราสารด้านสิทธิมนุษยชน การให้คำปรึกษาแนะนำแก่รัฐบาลเพื่อให้รัฐบาลได้บรรลุผลตามข้อเสนอแนะของรายงานทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศ (UPR) และรายงานคณะกรรมการประจำอนุสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนที่เป็นภาคี เป็นต้น โดยการประชุมครั้งนี้ มีสมาชิกสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจากประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกอีก 9 แห่ง ได้แก่ มองโกเลีย เกาหลี ซามัวร์ นิวซีแลนด์ มาเลเซีย อิรัก อุซเบกิสถาน คูเวต และปาเลสไตน์ ที่จะขอรับการประเมินสถานะ หรือการทบทวนสถานะในปี 2563 ร่วมประชุมด้วย

สำหรับการดำเนินงานเกี่ยวกับการขอคืนสถานะ A ของ กสม. ไทยในขณะนี้ กสม. ได้ส่งเอกสารแสดงความสอดคล้องกับมาตรฐานในการปฏิบัติหน้าที่ (Statement of Compliance) ไปยัง SCA ตั้งแต่กลางเดือนตุลาคม 2562 และในช่วงเวลาเดียวกันเมื่อได้รับทราบรายงานการโต้แย้งของภาคประชาสังคมเกี่ยวกับการดำเนินงานของ กสม. จาก SCA แล้ว กสม. ไทยก็ได้ทำหนังสือชี้แจงประเด็นที่ไม่ถูกต้อง ทั้งในเรื่องข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายไปยัง SCA หลังจากนี้ กสม. จะได้เตรียมเอกสารเพื่อชี้แจงในข้อกังวลและข้อเท็จจริงที่อาจไม่ถูกต้อง ส่งกลับไปยัง SCA ทั้งนี้ คาดว่ากระบวนการสัมภาษณ์ประกอบการประเมินสถานะจะมีขึ้นในช่วงปลายเดือนมีนาคม 2563

นายวัส กล่าวต่อว่า การเข้าร่วมประชุมครั้งนี้ทำให้ กสม. มีความเข้าใจเกี่ยวกับประเด็นเนื้อหาที่จะต้องจัดเตรียมสำหรับกระบวนการทบทวนสถานะได้อย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยในระหว่างกระบวนการทบทวนสถานะ กสม. จะต้องแสดงให้คณะอนุกรรมการประเมินสถานะ เข้าใจถึงหน้าที่และอำนาจตามกฎหมายจัดตั้ง รวมทั้งความน่าเชื่อถือในฐานะสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติต่อการดำเนินงานทั้งด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนที่สอดคล้องกับหลักการปารีสด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กสม. เคยได้รับสถานะ A ตั้งแต่ปี 2547 – 2558 และถูกลดสถานะเป็น B เมื่อต้นปี 2559 ด้วยเหตุผลหลัก 3 ข้อ ซึ่งไม่สอดคล้องกับหลักการว่าด้วยสถาบันแห่งชาติเพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน (หลักการปารีส) ข้อแรกเป็นเรื่องกระบวนการการสรรหาและการแต่งตั้ง กสม. ซึ่ง SCA เห็นว่า บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องขาดหลักประกันการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมในกระบวนการสรรหาและการได้มาซึ่ง กสม. ที่มีความหลากหลาย ข้อสอง คือการไม่สามารถตอบสนองต่อเหตุการณ์ที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนได้อย่างทันท่วงทีในกรณีการจัดทำรายงานการชุมนุมทางการเมืองอันมีปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนเมื่อปี 2553 และข้อสามซึ่งเป็นข้อสุดท้าย คือ การขาดบทบัญญัติของกฎหมายที่ชัดเจนในการให้ความคุ้มกันแก่ กสม. ว่าไม่ต้องรับผิดทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางปกครอง เนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต

Advertisement

การได้รับสถานะ A ของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หมายถึงการที่สถาบันฯ ปฏิบัติหน้าที่สอดคล้องกับหลักการปารีส ทำให้สามารถร่วมแสดงความคิดเห็นในการประชุมและยื่นเอกสารต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN Human Rights Council) และในการประชุมประเมินสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศโดยสหประชาชาติ (Universal Periodic Review : UPR) ส่วนสถานะ B หมายถึง สถาบันฯ ที่ปฏิบัติหน้าที่สอดคล้องกับหลักการปารีสเพียงบางส่วน โดยมีสถานะเป็นเพียงผู้ร่วมสังเกตการณ์ในการประชุมต่าง ๆ และไม่สามารถแสดงความคิดเห็นได้ ขณะที่ สถานะ C คือ สถาบันฯ ที่ไม่มีสถานะใด ๆ เนื่องจากไม่ได้ปฏิบัติตามหลักการปารีส

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image