‘อลงกรณ์’นำทีม สปท.พบ’มาร์ค’แจงคืบหน้าปฏิรูป’อภิสิทธิ์’แนะ2ข้อห่วงใย

‘อลงกรณ์’นำทีม สปท.พบ’มาร์ค’แจงคืบหน้าปฏิรูป ‘อภิสิทธิ์’แนะ 2 ข้อห่วงใย ชี้ร่าง รธน.ถดถอยกว่าปี 40-50 ขาดสิทธิเสรีภาพ วอนผู้มีอำนาจเปิดโอกาสประชุมพรรค ยันประชามติต้องเป็นเครื่องการันตีความยอมรับกติกาจาก ปชช.

เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน ที่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) นายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) คนที่ 1 พร้อมด้วยตัวแทนคณะกรรมาธิการชุดต่างๆ ของ สปท. อาทิ พ.ต.ต.ยงยุทธ สาระสมบัติ พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ พ.ต.อาณันย์ วัชโรทัย และนายกษิต ภิรมย์ เป็นต้น ได้เข้าพบนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคฯ นายเกียรติ สิทธีอมร คุณหญิงกัลยา โสภณพณิช นายอัศวิน วิภูศิริ รองหัวหน้าพรรค นายชวนนท์ อิทรโกมาลย์สุต อดีตโฆษกพรรค และ น.ต.สุธรรม ระหงษ์ ผู้อำนวยการพรรค เพื่อชี้แจงความคืบหน้าการปฏิรูปประเทศของ สปท. โดยนายอลงกรณ์กล่าวว่า วัตถุประสงค์ในการเข้าพบนายอภิสิทธิ์ครั้งนี้เพื่อมาชี้แจงถึงวัตถุประสงค์ 3 ประการ คือ 1.เพื่อรายงานชี้แจงความคืบหน้าของ สปท.ในการปฏิรูปประเทศ 2.เพื่อรับฟังขอเสนอแนะของพรรคการเมือง เพราะเป็นหน้าที่ของ สปท. และ 3.เพื่อสร้างบรรยากาศความร่วมมือเรื่องการปฏิรูปประเทศของ สปท. ซึ่งพรรคการเมืองถือเป็นส่วนสำคัญของภาคสังคมประชาชน สิ่งที่ สปท.ทำ ไม่ได้ทำเพื่อสืบทอดอำนาจและไม่ได้ทำเพื่อใคร ภารกิจต่างๆ ของ สปท. ไม่ได้ทำเพื่อใคร หลังจากนี้ รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก็จะเข้ามาสานต่อในการปฏิรูปเหล่านี้ให้ครอบคุม การปฏิรูปทุกด้าน

จากนั้น นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ตนติดตามงานของ สปท.มาตลอด โดยนายกษิต ภิรมย์ สปท. ได้รายงานให้ตนทราบว่ามีอะไรบ้าง และตนเป็นคนเรียกร้องการปฏิรูปมาตลอด แต่การปฏิรูปจะทำให้สำเร็จเพียงด้านเดียวก็ถือว่าเป็นเรื่องยาก เพราะต้องได้รับแรงสนับสนุนจากเจตนารมณ์พรรคการเมือง ซึ่งพรรคการเมืองต้องเป็นพรรคที่มาจากประชาชนโดยแท้จริง คือสามารถทำให้ประชาชนมีส่วนร่วม หรือสามารถบังคับพรรคการเมืองให้ดำเนินการตามที่ต้องการได้ แต่หลังจากจากรัฐประหารเราไม่เคยได้ยินหลักการที่ชัดเจนว่า เราจะปฏิรูปอย่างไร คำว่า “มั่นคง มั่งคัง ยั่งยืน” แต่นั่นคือเป้าหมายไม่ใช่หลักการ ที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรี (ครม.) และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ทำงานมา 2 ปี มีกฎหมายกว่า 170 ฉบับ ที่หนักไปในทางการขยายการเพิ่มอำนาจข้าราชการ และการตั้งหน่วยงานขึ้นมาใหม่ ตนคิดว่าสวนทางกับแนวทางการปฏิรูป เช่น การตั้งศาลทุจริต ที่ทำให้ชาวบ้านเข้าใจว่าต่อไปนี้จะไม่มีคนโกง ทั้งที่ความจริงแล้วศาลทุจริตนี้ไม่ได้ตั้งขึ้นมาเพื่อดำเนินการกับนักการเมือง แต่ใช้ดำเนินกับข้าราชการ ซึ่งกฎหมายที่เกี่ยวกับนักการเมืองจะเป็นอีกฉบับหนึ่งที่ยังดำเนินการอยู่ ซึ่ง สปท.ก็เหมือนคนขับรถที่นั่งข้างเบาะ สามารถชี้บอกทางได้ แแต่เขาจะเชื่อ สปท.หรือจะเชื่อกูเกิ้ล ก็ทำอะไรไม่ได้

นายอภิสิทธิ์กล่าวต่อว่า ดังนั้น ตนจึงขอฝากข้อห่วงใยใน 2 ประการ คือ 1.ทุกอย่างที่ทำอยู่ทั้งหมดไม่มีอะไรใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญ การปฏิรูปอะไรก็ตามสุดท้ายต้องส่งไม้ต่อให้กับคณะกรรมการที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ เช่น การปฏิรูปตำรวจ ตนเห็นด้วยกับร่างนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่แยกการสืบสวนออกจากกรมตำรวจ แต่ในร่างนี้เมื่อเทียบกับปี 40-50 มีความถดถอยชัดเจน เพราะถ้าร่างรัฐธรรมนูญก้าวหน้าจะมีภาคประชาชนและฝ่ายต่างๆ ออกมาขานรับ แต่ครั้งนี้ปฏิกิริยาตรงข้าม สิ่งสำคัญคือ สิทธิเสรีภาพถูกลดทอน ทำให้เกิดข้อวิตกว่า สุดท้ายแล้วจะตอบสนองการปฏิรูปจากภาคประชาชนได้อย่างไร ที่ผ่านมามีอดีตสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มาปรับทุกข์กับตนว่า แผนที่นำเสนอไปผู้มีอำนาจเลือกทำแต่สิ่งที่อยากทำคือ อยากทำอะไรก็หยิบมา ส่วนใหญ่เป็นการขยายองค์กร เพิ่มอำนาจหน่วยงาน ยิ่งทำให้งบประมาณบานปลาย

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า 2. ถ้าการเมืองยังไม่ดีขึ้นการปฏิรูปทุกอย่างจะเป็นไปได้ยาก ดังนั้น เราต้องการการเมืองที่มีเสถียรภาพ โปร่งใส หากเรายังมีความขัดแข้งเรื่องกติกาสูงสุดของประเทศ โดยเฉพาะกระบวนการทำประชามติต้องไปดูประเทศที่เขาทำว่า เขาทำไว้อย่างไรบ้าง การทำประชามติคือ ความหวังให้ประชาชนรับรองเห็นชอบกระบวนการนั้นๆ ถ้าการทำประชามติเกิดขึ้นในลักษณะที่ว่า ใครขยับทำอะไรแล้วไม่แน่ใจว่าจะผิดกฎหมายหรือไม่ และวันนี้ยังไม่เห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญจะช่วยอะไรได้หรือไม่ กรณีมาตรา 61 วรรคสอง ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ขณะเดียวกัน มีการใช้กลไกรัฐเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการทำประชามติของรัฐธรรมนูญ ซึ่งหากผลออกมาว่าประชาชนยอมรับจะสร้างความชอบธรรมอย่างไร เนื่องจากมีการใช้กลไกรัฐ จึงห่วงว่าอาจเกิดความขัดแย้งตามมา แต่ถ้ารัฐธรรมนูญไม่ผ่านจะเป็นประเด็นทางการเมือง เชื่อว่าจะเป็นเรื่องใหญ่จนกระทบต่อทิศทางการปฏิรูปประเทศอย่างแน่นอน

Advertisement

“การปฏิรูปพรรคการเมืองไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ถ้าพรรคการเมืองไม่สามารถประชุมได้ ถ้าเรามีโอกาสมีโอกาสเพียง 3 เดือนก่อนเลือกตั้ง รองประธาน สปท.คงทราบดีว่า พรรคการเมืองเขาจะปฏิรูป หรือหาเสียงกัน ถ้าอยากให้มีการปฏิรูปพรรคผู้มีอำนาจต้องให้พรรคประชุม ผมไม่ขอไปปราศรัยอะไร ขอแค่ประชุมเพื่อปฏิรูปองค์กรตัวเอง นี่จะเป็นจุดทดสอบว่า ถ้าใกล้ถึงวันเลือกตั้งแล้วประชาชนถามว่า พรรคการเมืองจะปฏิรูปอย่างไร แล้วพรรคการเมืองตอบได้ ถือว่าสำเร็จ แต่ถ้าพรรคการเมืองยังหาเสียงแบบการใช้นโยบายประชานิยมที่มีผลต่อคะแนนเสียง ก็จะย้อนกลับมาเหมือนเดิม ผมอยากบอกว่า อย่างไรเสียบ้านเมืองเราหนีไม่พ้นความเป็นประชาธิปไตย หนีไม่พ้นระบบตัวแทนที่ต้องมาจากประชาชนอย่างแท้จริง” รองหัวหน้าพรรค ปชป.กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image