รัฐยันดูแลชาวสวนยางอีสาน เตือนนักการเมือง-สื่อหยุดใช้วาทกรรมแบ่งแยกปชช.

พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ขณะนี้มีความพยายามของนักการเมืองบางกลุ่มที่จะสร้างความเข้าใจผิดและจุดชนวนความขัดแย้งขึ้นในสังคม ด้วยการใช้วาทกรรมแบ่งแยกประชาชนโดยการกล่าวหาว่า รัฐบาลช่วยเหลือดูแลประชาชนแบบไม่เท่าเทียมกัน โดยเฉพาะกรณีการรับซื้อยางพาราจากเกษตรกรภาคใต้ แต่ละเลยไม่รับซื้อจากภาคอีสาน

“ท่านนายกฯย้ำว่า รัฐบาลนี้เข้ามาบริหารราชการแผ่นดินเพื่อดูแลพี่น้องประชาชนอย่างเสมอภาค ลดความเกลียดชัง หยุดยั้งความขัดแย้ง มีมาตรการต่างๆ ที่ออกมาช่วยเหลือคนทั้งประเทศ ไม่ว่าจะเป็นพี่น้องเกษตรกร ข้าราชการ นักธุรกิจและประชาชนในเขตชุมชนเมือง เช่น โครงการ ส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบลตำบลละ 5 ล้าน การสนับสนุนเงินให้กับกองทุนหมู่บ้านเกรด A และ B กองทุนละ 1 ล้านบาท และเพิ่มเติมให้อีกทุกกองทุน กองทุนละ 500,000 บาท เพื่อใช้จัดทำโครงสร้างที่สำคัญทางการเกษตรในชุมชน อาทิ ลานตากพืชผลทางการเกษตร การสนับสนุนเครื่องจักรกลทางการเกษตร รองรับการรวมแปลงเกษตร เป็นแปลงใหญ่ ของพี่น้องเกษตรกร การควบคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น การจัดทำโครงสร้างพื้นฐานทาง ด้านคมนาคม ขนส่งทุกประเภท ทั้งในเขตชุมชนเมืองและเชื่อมต่อระหว่างจังหวัด การสนับสนุนธุรกิจเอสเอ็มอีให้มีความเข้มแข็ง ฯลฯ ขณะเดียวกัน ต้องแก้ไขปัญหาของประเทศอย่างยั่งยืน ซึ่งรวมถึงเรื่องการแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำที่มีการพูดคุยปรึกษาหารือกับตัวแทนพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางมาอย่างต่อเนื่อง และส่วนใหญ่เข้าใจดี

“มาตรการรับซื้อยาง กก.ละ 45 บาทของรัฐบาล เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการผลิตถือเป็นการช่วยเหลือชาวสวนยางทั่วประเทศในระยะสั้น เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้า ซึ่งแม้ว่าจะเริ่มรับซื้อในพื้นที่ภาคใต้ก่อนเพราะตรงกับช่วงฤดูกรีดยาง แต่ชาวสวนยางในภาคอีสานที่ปิดกรีดยางในขณะนี้ก็ยังสามารถเข้าร่วมโครงการได้เมื่อเปิดกรีดอีกครั้งกลางเดือน ก.พ. เพราะรัฐบาลจะรับซื้อไปจนถึง มี.ค.59”

พล.ต.สรรเสริญกล่าวต่อว่า คอลัมนิสต์ของ นสพ.บางฉบับ ที่จงใจเขียนโจมตีรัฐบาลว่า มีแต่โครงการเพื่อคนเมือง แต่ไม่มีโครงการเพื่อชาวนาโดยเฉพาะการสร้างระบบชลประทานเพื่อการเพาะปลูก ก็ถือเป็นการแบ่งแยกประชาชนเช่นกัน และนำเสนอโดยขาดข้อมูลที่ถูกต้อง

Advertisement

“ท่านนายกฯ และรัฐบาลวางแผนบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ ป้องกันปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้ง ครอบคลุมการอุปโภคบริโภค การเกษตร อุตสาหกรรมและการรักษาระบบนิเวศน์ ไม่ใช่เพิ่มพื้นที่ชลประทานเพียงอย่างเดียว เพราะมีข้อจำกัดด้านระดับความสูงของพื้นที่ และแต่ละพื้นที่มีการปลูกพืชที่ใช้น้ำมากน้ำน้อยแตกต่างกัน เช่น ข้าว ผลไม้ ฯลฯ รวมทั้งปริมาณน้ำฝนที่ไม่สามารถควบคุมได้ทั้งในเขตและนอกเขตชลประทาน

แต่สิ่งที่สำคัญเร่งด่วนในขณะนี้ คือ การส่งเสริมสนับสนุนให้มีการสร้างแหล่งน้ำขนาดเล็กกระจายไปทุกพื้นที่ ส่งเสริมให้เกษตรกรรวมกลุ่ม ปลูกพืชหลักพืชเสริมให้เหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศ เพิ่มเติมด้วยการเลี้ยงสัตว์ ปลูกฝังนิสัยการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่าให้กับประชาชนควบคู่กันไป

รัฐบาลขอให้นักการเมืองหยุดใช้วาทกรรมแบ่งแยกประชาชนเพื่อสร้างคะแนนนิยมเหมือนที่ผ่านมา และขอวิงวอนสื่อมวลชนและพี่น้องเกษตรกรโปรดใช้วิจารณญาณ ไม่ตกเป็นเครื่องมือสร้างความขัดแย้งทั้งระหว่างรัฐบาลกับประชาชน หรือประชาชนด้วยกันเอง โดยรัฐบาลยืนยันว่าจะไม่ทอดทิ้งเกษตรกรที่เดือดร้อน และจะทำทุกวิถีทางเพื่อแก้ไขปัญหานี้ให้สำเร็จลุล่วงในระยะยาว”

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image