“รัฐบาล” เร่งจ่ายเงินช่วยผู้เสียชีวิต 27 ราย เว้นคนรายคู่กรณี 3 ราย เริ่ม 15 ก.พ.นี้

“รัฐบาล” เร่งจ่ายเงินช่วยผู้เสียชีวิต 27 ราย เว้นคนรายคู่กรณี 3 ราย-ผู้บาดเจ็บ 58 คน เหตุการณ์ยิงโคราช เริ่ม 15 ก.พ.นี้ พร้อมยกหนี้ 4 ธนาคารรัฐแก่คนตาย

เมื่อเวลา 14.00 น.วันที่ 13 กุมภาพันธ์ ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานประชุมคณะกรรมการติดตามมาตรการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ที่จังหวัดนครราชสีมา โดยมี นายเทวัญ ลิปตภัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีและตัวแทนหน่วยงานเกี่ยวข้องเข้าร่วม ใช้เวลากว่า 2 ชั่วโมง

จากนั้นเวลา 16.20 น.นายวิษณุ ให้สัมภาษณ์ว่า ในที่ประชุมได้พิจารณาหลักเกณฑ์ ในการจ่ายเงินเยียวยาจากกองทุนผู้ประสบภัยจากเหตุคนร้ายกราดยิงประชาชน นอกจากนั้นยังมีการบูรณาการความช่วยเหลือของแต่ละหน่วยงาน ทั้งการจ่ายเงินตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ของกระทรวงการคลัง กระทรวงยุติธรรม และระเบียบอุดหนุนผู้ประสบภัยของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยในส่วนของกองทุนช่วยเหลือผู้ประสบภัยตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี จะมีการประชุม เพื่อสรุปการจ่ายเงินช่วยเหลือให้กับผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต รวมถึงผู้ที่ได้รับผลกระทบในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ เวลา 13.00 น.ที่ชั้น 2 อาคารสำนักงานข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ถนนพิษณุโลก กรุงเทพฯ โดยมี นายเทวัญ ลิปตภัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการกองทุนฯ เป็นประธานประชุม และเมื่อได้ข้อสรุปแล้ว คาดว่าจะจ่ายเงินได้ตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์เป็นต้นไป โดยเงินจำนวนนี้เป็นไปตามระเบียบราชการ ซึ่งเป็นการไปเติมจากเงินช่วยเหลือของหน่วยงานอื่นๆ ที่เข้าไปช่วยเหลือตามสิทธิ

นายวิษณุ กล่าวว่า สำหรับการจ่ายเงินช่วยเหลือผู้เสียชีวิต จำนวน 27 ราย จาก 30 ราย และผู้บาดเจ็บ 58 ราย โดยไม่ครอบคลุมผู้เสียชีวิต 3 ราย ประกอบด้วย ผู้ก่อเหตุ และคู่กรณี จำนวน 2 ราย ที่ต้องรอดูสำนวนการสอบสวนในทางคดีก่อน ซึ่งผู้เสียชีวิตจะแบ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ 3 นาย และตำรวจอาสา 1 รายในขณะปฏิบัติหน้าที่ รายละ 1 ล้านบาท นอกจากนั้น ยังทราบว่ามีเงิน 7-8 กองทุนที่ได้จ่ายช่วยเหลือไปแล้ว รายละ 3 ล้านบาท เช่น กองทุนหลวงพ่อคูณ เงินบำเหน็จในทางราชการ และการเลื่อนชั้นยศตามระเบียบ เป็นต้น ส่วนพลทหาร จำนวน 1 รายที่เสียชีวิต จะมีสวัสดิการของกองทัพ เช่น เรื่องของประกันชีวิต และสวัสดิการอื่นตามสิทธิที่มีในการช่วยเหลือ  ในส่วนผู้เสียชีวิตรายอื่น ก็จะได้เงินเยียวยารายละ 1 ล้านบาท รวมถึงจะมีเงินช่วยเหลือในส่วนของหน่วยงานอื่นๆ เข้าไปช่วยสมทบด้วย ทั้งเงินช่วยเหลือตามพ.ร.บ.สงเคราะห์ผู้ประสบภัย เนื่องจากการช่วยเหลือราชการ การปฎิบัติงานของชาติ หรือการปฏิบัติหน้าที่ตามมนุษยธรรม ของกระทรวงการคลัง พ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ.2544 ของกระทรวงยุติธรรม และระเบียบอุดหนุนผู้ประสบภัย กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ จำนวนตั้งแต่หลักหมื่นบาทขึ้นไป

Advertisement

นายวิษณุ กล่าวว่า สำหรับผู้บาดเจ็บ จำนวน 58 ราย แบ่งเป็น บาดเจ็บสาหัส 29 คน ซึ่งตามกฎหมายการคลัง และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี มีหลักเกณฑ์ไว้ที่คนละ 200,000 บาท ส่วนบาดเจ็บไม่สาหัส หรือเล็กน้อย 29 คน ซึ่งเราจะพิจารณาจ่ายสูงสุดคนละไม่เกิน 100,000 บาท นอกจากนั้น ยังมีการเยียวยาด้านจิตใจ โดยกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จะมีมาตรการช่วยเหลือ เนื่องจากมีความเป็นห่วงเรื่องการนำเสนอผ่านสื่อ นับตั้งแต่เหตุการณ์ที่จังหวัดลพบุรี มาถึงจังหวัดนครราชสีมา เพราะเกรงจะมีพฤติกรรมเลียนแบบ จึงต้องมีมาตรการในการเฝ้าระวัง รวมถึงการเสนอการจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อฟื้นฟูด้านจิตใจ ความเป็นอยู่ของชาวโคราช ขณะที่ด้านการค้า จะมีการพิจารณาปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้แก่ผู้ประกอบการที่ได้รับกระทบเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่

นายวิษณุ กล่าวว่า สำหรับการช่วยเหลือด้านทรัพย์สินของห้างเทอร์มินัล 21 ที่ได้รับความเสียหายราว 10 ล้านบาท รวมถึงร้านค้าภายในห้าง เช่น ฟู้ดแลนด์ ตลอดจนรถยนต์ที่ได้รับความเสียหาย ทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้ตรวจสอบข้อมูลต่างๆ และมีตัวเลขอยู่แล้ว ทั้งกรมธรรม์ที่คุ้มครองเรื่องชีวิต สุขภาพ ทรัพย์สิน โดยจะไปเร่งรัดให้จ่ายโดยเร็ว ไม่มีการฉ้อโกง นอกจากนั้นทางสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน จะพิจารณาสิทธิของแรงงานที่ต้องสูญเสียรายได้ และสิทธิพึงจะได้รับ เพื่อเร่งเบิกจ่ายช่วยเหลือโดยเร็ว ขณะที่ผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บที่มีภาระหนี้สินกับธนาคารของรัฐ 4 แห่ง ได้แก่ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ธนาคารกรุงไทย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารออมสิน จะยกหนี้ให้กับกรณีผู้เสียชีวิต ส่วนผู้บาดเจ็บจะลดดอกเบี้ย 0.01% ซึ่งจะมีกำหนดเวลาต่างกันของแต่ละธนาคาร ทั้งนี้ มาตรการช่วยเหลือทั้งหมดจะรายงานให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบในวันที่ 18 กุมภาพันธ์นี้ พร้อมกับจะแจ้งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาทราบว่าผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บและผู้ได้รับผลกระทบจะได้รับสิทธิในประเภทใดบ้างต่อไป อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าการเยียวยาในส่วนของภาครัฐเป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริจาคและการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย พ.ศ.2542 ซึ่งเคยใช้ในการเยียวยาเหตุราชประสงค์ และผู้ประสบภัยจากพายุใต้ฝุ่นโพดุล-คาจิกิ

 

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image