โรม ปลุก ประชาชน ช่วยกันส่งเสียง กดดันส.ว.ลากตั้ง รื้อทิ้งรธน.’60

โรม ปลุก ประชาชน ช่วยกันส่งเสียง กดดัน ส.ว.ลากตั้ง รื้อทิ้งรธน.ฉบับ 60

วันนี้ (13 มี.ค.) เวลา 11.10 น.‬ที่รัฐสภา เกียกกาย คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) พร้อมด้วย เครือข่าย People Go ภาคประชาชน นิสิต และนักศึกษาหลายสถาบัน เดินเท้ามาถึงบริเวณหน้ารัฐสภา เกียกกาย โดยมี นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาหลักเกณฑ์ และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ สภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วยกมธ.จากทั้งซีกรัฐบาล และฝ่ายค้าน อาทิ นายวิเชียร ชวลิต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย นายโภคิน พลกุล นายวัฒนา เมืองสุข กมธ.สัดส่วนพรรคเพื่อไทย นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ อดีตพรรคอนาคตใหม่ นายชัยธวัช ตุลาธน นายบัณฑิต จันทรโรจน์กิจ อาจารย์คณะรัฐศาสตร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะกมธ.สัดส่วนอดีตพรรคอนาคตใหม่ นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย นายทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ ในฐานะกมธ.สัดส่วนพรรคประชาชาติ นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล กมธ.สัดส่วนพรรคชาติพัฒนา เพื่อรับข้อเสนอ โดยมีนายอนุสรณ์ อุณโณ อดีตคณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะตัวแทนครช. เป็นตัวแทนยื่นข้อเสนอต่อกมธ.

ย้อนอ่าน : อนุสรณ์ ชูธงแก้รธน.ต่อเนื่อง ชี้ แม้ช่องทางสำหรับประชาชนจะตีบตัน แต่จำเป็นต้องฝ่าไป

ด้าน นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ อดีตพรรคอนาคตใหม่ ในฐานะโฆษกคณะกมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 กล่าวภายหลังรับข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญจากกลุ่มครช. ว่า แม้การผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จะมีความเห็นหลากหลาย แต่การมีส่วนร่วมของประชาชนถือว่า เป็นเรื่องสำคัญที่สุด ดังนั้น การที่ครช. ภาคประชาชน รวมทั้งนิสิตนักศึกษา ร่วมกันเสนอความเห็นต่อกมธ.ในครั้งนี้ จึงเป็นเรื่องสำคัญเพื่อส่งเสียงเพื่อให้มั่นใจว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ทำกัน โดยอยู่บนพื้นฐานที่ประชาชนร่วมรับรู้และรับทราบ ไม่ได้ทำกันเพียงแค่ไม่กี่คนเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ตนคิดว่า อยากให้เสียงของประชาชนอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ พวกเราทุกคนจำเป็นต้องคุยกัน ฟังกัน เพราะด้วยข้อจำกัดของกระบวนการแก้ไขในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จึงต้องช่วยกัดดันส่งเสียงถึงทั้งสภา ไม่ใช้พรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง แต่ต้องรวมถึงส.ว.ด้วย เพราะแรงกดดันของประชาชนเท่านั้น จะทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดขึ้นได้

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image