‘สมชัย’โพสต์รอสะสาง 5 ‘ปม’ปัญหาหน้ากากอนามัยส่งออก

เมื่อวันที่ 3 เมษายน นายสมชัย ศรีสุทธิยากร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการเมืองและการพัฒนา มหาวิทยาลัยรังสิต ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการ( กมธ.)ป.ป.ช. สภาผู้แทนราษฎร โพสต์แสดงความเห็นปัญหาการส่งออกหน้ากากอนามัย ระบุว่า ปมที่ยังต้องคลาย แม้ว่า กมธ.ปปช. ที่พลเอกเสรีพิศุทธ์ เป็นประธานจะยังไม่สามารถจัดประชุมในช่วงนี้ แต่การทำงานที่ผ่านมาทำให้ได้ปมที่ต้องฝากทุกฝ่ายได้ติดตาม ดังนี้

1. ก่อนหน้า ประกาศห้ามส่งออกหน้ากากอนามัยโดยคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ที่มี รมต. พาณิชย์เป็นประธาน เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2563 ประมาณ 1 สัปดาห์ มีการเร่งส่งออกหน้ากากอนามัยนับร้อยตัน (มากกว่า 100,000 กิโลกรัม)นั้น เกิดจากมีการรั่วไหลของข้อมูลการประชุมของทางราชการไปสู่เอกชนหรือไม่ เป็นการตั้งใจนำข้อมูลภายในเอื้อประโยชน์ธุรกิจโดยมีประโยชน์ส่วนตัวของข้าราชการหรือนักการเมืองที่เข้าไปเกี่ยวข้องหรือไม่

2. การที่ประกาศ กกร.ฉบับที่ 2 เรื่องการห้ามส่งออกหน้ากากอนามัยเกินกว่า 500 ชิ้น ลงนามโดย รมต. พาณิชย์ เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2563 แต่กลับประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2563 ใช้เวลาประกาศเพื่อให้มีผลใช้บังคับถึง 16 วัน มาตรา 24 ของ พรบ.ราคาสินค้าและบริการ 2542 ระบุไว้ว่า ประกาศ กกร. มีผลเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นเรื่องความล่าช้าที่เกิดจากข้อขัดข้อง หรือความบกพร่อง ความอ่อนหัดในการบริหารราชการ หรือเป็นความตั้งใจเพื่อเอื้อประโยชน์ของผู้ใด

3. การอนุญาตให้มีการส่งออกหน้ากากอนามัย โดย กกร. หลังประกาศ กกร.ฉบับที่ 2 (4 ก.พ. 2563) มีการอนุญาตให้กับเอกชนรายใด และด้วยเหตุผลใด เพราะตัวเลขการส่งออกที่กรมศุลกากร ในเดือน กุมภาพันธ์ 2563 ยังมีตัวเลขส่งออกหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ 22.3 ตัน หน้ากากอนามัยประเภทอื่น 195 ตัน รวม 217.3 ตัน (ยังไม่นับการส่งออกที่เกิดขึ้นในเดือนมีนาคม 2563)

Advertisement

4. การจัดสรรหน้ากากอนามัย 1.2 ล้านชิ้นต่อวัน ที่กรมการค้าภายในแจ้งว่า จัดสรรให้องค์การเภสัชส่งต่อให้โรงพยาบาล 7 แสนชิ้นต่อวัน และกรมการค้าภายในแจกจ่ายผ่านร้านค้า ร้านขายยา ร้านสะดวกซื้อ และร้านธงฟ้า 5 แสนชิ้นต่อวัน แต่ภายหลัง ปลัดกระทรวงพาณิชย์ได้แถลงยกเลิก โดยชี้แจงว่ามีปัญหาตั้งแต่ต้นทาง (ข่าว 20 มีนาคม 2563) จำเป็นต้องมีการสอบสวนว่า อะไรคือปัญหาตั้งแต่ต้นทาง ไม่ใช่ขอให้ลืมๆกันไป แล้วเริ่มต้นกันใหม่ ดังที่ รองนายกรัฐมนตรีท่านหนึ่งพูด

5. ตัวเลขกำลังการผลิตที่แท้จริงของโรงงานแต่ละแห่งคือเท่าใดแน่ เนื่องจาก รัฐบาลเคยพูดถึงตัวเลข 100 ล้านชิ้นต่อเดือน (รมต.พาณิชย์ 30 มกราคม 2563) 1.2 ล้านชิ้นต่อวัน หรือ 36 ล้านชิ้น (อธิบดีกรมการค้าภายใน 9 มีนาคม 2563) หรือ 2.3 ล้านชิ้นต่อวัน หรือประมาณ 70 ล้านชิ้นต่อเดือน (ปลัดกระทรวงพาณิชย์ 30 มีนาคม 2563) การเพิ่มขึ้นของกำลังผลิตภายหลัง เป็นจากการเจรจาของรัฐบาลเพื่อให้เอกชนเพิ่มกำลังผลิต หรือเดิมผลิตได้แล้วแต่รายงานต่ำกว่ากำลังการผลิตจริง และส่วนที่ไม่รายงาน นำไปใช้ประโยชน์ทางธุรกิจ โดยมีข้าราชการหรือนักการเมืองได้รับประโยชน์หรือไม่

ทุกเรื่องบันทึกไว้ ให้ทำงานต่อครับ

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image