‘พิธา’ เสนอ ‘3 ท.-ทรัพยากร ท้องถิ่น เทคโนโลยี’ แก้ไฟป่าภาคเหนือ

‘พิธา’ เสนอ ‘3 ท.-ทรัพยากร ท้องถิ่น เทคโนโลยี’ แก้ไฟป่าภาคเหนือ ถามรัฐบาล เรือดำน้ำ-เครื่องบินรบ-เครื่องบินดับไฟป่า อะไรสำคัญกว่ากัน

เมื่อวันที่ 7 เมษายน นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า ก่อนอื่น เหตุการณ์ไฟป่าในภาคเหนือถือว่าเป็นสถานการณ์ภัยพิบัติที่ร้ายแรงของประเทศไทยที่กระหน่ำซ้ำเติมเข้ามาในยามที่มีภัยโรคระบาดโควิด-19 วิกฤตไฟป่าครั้งนี้นอกจากจะพรากชีวิตผู้คนไปแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อประชาชนเป็นวงกว้าง ทั้งการสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติ และปัญหามลพิษฝุ่น PM2.5 ซึ่งภาคเหนือของไทยได้สร้างสถิติมีค่าฝุ่นอันตรายเกินมาตรฐานติดอันดับโลกเกิน 3 สัปดาห์แล้ว ตนจึงอยากถามว่า ระหว่างเรือดำน้ำหรือเครื่องบินรบกับเครื่องบินดับไฟป่า อะไรสำคัญกว่ากัน เราควรจะลงทุนกับอะไรก่อนเพื่อให้ประเทศชาติและประชาชนอยู่ได้?

นายพิธากล่าวว่า จากรายงานของสำนักป้องกันปราบปรามและควบคุมไฟป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พบว่า สถานการณ์ไฟป่าในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 9 จังหวัดภาคเหนือ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562-31 มีนาคม 2563 นั้นมี Hotspot หรือจุดความร้อน สะสมสูงถึง 37,343 จุด ซึ่งสูงขึ้นกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วถึง 10,660 จุด เฉพาะเดือนกุมภาพันธ์ และมีนาคมที่ผ่านมา มีจุดความร้อนสะสมกว่า 2,050 จุด และขณะนี้มีพื้นที่เสียหายสะสมอย่างน้อย 89,042 ไร่ ปัญหาไฟป่ารุนแรงและเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี คงจะถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องตระหนักถึงปัญหาและเปลี่ยนแปลงมุมมองวิธีคิดในการแก้ไขให้ถึงรากฐานอย่างจริงจัง ซึ่งเราจะแก้ปัญหาให้ได้อย่างยั่งยืนผมเสนอหลักการง่ายๆ ที่เรียกว่า 3 ท.คือ “ท. ท้องถิ่น” แนวคิดในการจัดการและปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ คือให้ผู้ที่ใกล้ชิดทรัพยากรที่สุดและใช้ประโยชน์ในทรัพยากรมากที่สุดเป็นผู้ดูแลทรัพยากรให้มากที่สุด รัฐราชการที่รวมศูนย์ต้องถอยไปเป็นผู้สนับสนุนและช่วยเหลือในสิ่งที่ท้องถิ่นไม่สามารถทำได้เท่านั้น

“ท. ทรัพยากร” กระจายอำนาจสู่ชุมชนท้องถิ่น ก็ต้องมาพร้อมกับการกระจายทรัพยากร จากข้อเท็จจริงปัจจุบันมีพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 26.97 ล้านไร่ ในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือ มีพื้นที่ได้รับจัดสรรงบประมาณเพียง 10.56 ล้านไร่ มีสถานีควบคุมไฟป่า 50 สถานี มีหมู่ดับไฟ 169 ชุด มีกำลังพล 2,535 คน มีชุดปฏิบัติการดับไฟป่า 4 ชุด 60 นาย และมีเครือข่ายการแก้ไขปัญหาไฟป่า 790 หมู่บ้าน อัตรากำลังเจ้าหน้าที่มีอยู่ไม่เพียงพอ และเข้าไม่ถึงหลายพื้นที่ ดังนั้น หน้าที่ของรัฐส่วนกลางในฐานะผู้สนับสนุนท้องถิ่นจึงจำเป็นต้องให้อำนาจและงบประมาณอย่างจริงใจ เพื่อให้ท้องถิ่นแก้ปัญหาอย่างจริงจัง และ “ท. เทคโนโลยี” ภัยพิบัติไฟป่าในสถานการณ์ปัจจุบันมีความรุนแรงเกินกว่าศักยภาพของชุมชนจะจัดการแล้ว แม้ความรุนแรงของไฟป่าจะเพิ่มขึ้นทุกปี แต่รัฐส่วนกลางดูเหมือนจะยังไม่ให้ความสำคัญกับการผลิต หรือจัดซื้อเทคโนโลยีระดับสูงในการดับไฟป่า ไม่ว่าจะเป็นเครื่องบินขนาดใหญ่ที่ทำภารกิจ firebombing ซึ่งเป็น Airtanker DC-10 ขนาดใหญ่บรรทุกน้ำในการดับไฟได้ครั้งละ 44,000 ลิตร ซึ่งมากกว่า KA-32 ที่ไทยใช้อยู่ถึง 14 เท่า รวมถึง C-130Q ที่บรรทุกน้ำได้ 15,450 ลิตร ถึงแม้กองทัพอากาศไทยจะมีเครื่องบิน BT-67 หรือกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยมีเฮลิคอปเตอร์ KA-32 อยู่บ้าง แต่ความหลากหลายของเครื่องมือเพื่อการใช้เทคโนโลยีให้สอดคล้องกับบริบทพื้นที่มีความจำเป็นมากในการแก้ปัญหา และที่สำคัญต้องมีการประสานงานกับทีมภาคพื้นดินให้ดีด้วย ที่ผ่านมาอาจมีข้ออ้างจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมากมายในการไม่จัดซื้อหรือไม่เลือกใช้วิธีการดังกล่าว แต่ตอนนี้ชัดว่านี่คือภัยพิบัติที่ส่งผลต่อสุขภาพและชีวิตของประชาชนและเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ เราจำเป็นต้องลงทุนเพื่อรับมือกับภัยพิบัติ

หัวหน้าพรรคก้าวไกลกล่าวเพิ่มเติมว่า ในสถานการณ์เฉพาะหน้า รัฐบาลต้องกล้ายอมรับว่าทรัพยากรกับเทคโนโลยีของเราอาจไม่เพียงพอที่จะจัดการภัยพิบัติขนาดใหญ่นี้ได้โดยลำพัง เราควรประสานขอความช่วยเหลือจากนานาชาติ เช่น กลุ่มประเทศในอาเซียน สิงคโปร์ จีน ออสเตรเลีย หรือนิวซีแลนด์ ซึ่งเป็นประเทศที่มีความเชี่ยวชาญ มีเทคโนโลยีการจัดการไฟป่า นี่ไม่ใช่เรื่องต้องกลัวเสียหน้าแต่เป็นเรื่องมนุษยธรรม และความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของนานาชาติท่ามกลางวิกฤต

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image