‘วิษณุ’ เผย ศบค.ยังไม่ถกยืด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หากจะขยายต้องนำเข้า ครม.ก่อน 30 เม.ย.นี้

‘วิษณุ’ เผย ศบค.ยังไม่พิจารณายืด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หากจะขยายต้องนำเข้า ครม.ก่อน 30 เม.ย.นี้

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 20 เมษายน ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะ ผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เป็นประธานการประชุมศูนย์ฯ โดยมีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม พล.อ.พรพิพัฒน์ เบญญศรี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.สส.) ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุม

โดยนายวิษณุ กล่าวภายหลังการประชุมถึงปัญหาการเบิกจ่ายเงินบริจาคช่วยโควิด-19 ของสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ว่า ยืนยันว่าไม่ได้มีปัญหาและไม่ต้องแก้ไขระเบียบการเบิกจ่ายอะไร แต่เป็นการแก้ไขในเรื่องอื่น อีกทั้งการประชุมวันนี้ ไม่มีการพูดถึงการขยาย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่เป็นการสรุปสถานการณ์และจำนวนผู้ติดเชื้อว่าเพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างไร รวมถึงจำนวนผู้ที่ฝ่าฝืนเคอร์ฟิว โดยนายกฯจะนำข้อมูลเหล่านี้ไปรวบรวมและพิจารณาด้วยตนเอง อย่างไรก็ตาม หากจะขยาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินก็จะต้องนำเข้าที่ประชุม ครม.ก่อน ส่วนจะเป็นเมื่อไหร่ก็ได้ก่อนวันที่ 30 เมษายน ทั้งนี้ ตามมาตรา 5 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็ระบุไว้ว่า ในกรณีจำเป็นฉุกเฉินเร่งด่วน นายกรัฐมนตรีก็สามารถประกาศไปก่อนโดยไม่ต้องเข้า ครม.ก็ได้ แล้วรีบนำเข้า ครม.ทีหลัง ซึ่งถ้าไม่ทันก็ต้องทำเช่นนั้น แต่เชื่อว่ายังไงก็ทันไม่จำเป็นต้องไปใช้วิธีนั้น เพราะสามารถบอกกันก่อนได้ไม่ต้องจู่โจม แต่ที่เขียนไว้ว่าประกาศก่อนได้นั้นหมายถึงในกรณีก่อการร้าย

เมื่อถามถึงการประกาศเรื่องการห้ามจำหน่ายสุราที่จะครบกำหนดในวันนี้ นายวิษณุกล่าวว่า เป็นเรื่องของกทม. และในส่วนของต่างจังหวัดก็เป็นอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ จึงไม่ได้เกี่ยวข้องกับ ศบค. แต่ตั้งใจว่าต่อไปหากต้องขยายหรือประกาศใดๆ ก็ควรปรับให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ เพราะขณะนี้แต่ละจังหวัดมีมาตราการไม่เหมือนกันทำให้เกิดความยุ่งยาก ยกตัวอย่างก่อนหน้านี้ การที่รัฐบาลประกาศเคอร์ฟิวทั้งประเทศในเวลา 22.00-04.00 น. แต่ผู้ว่าฯ กทม. ประกาศ 22.00-05.00 น. เพราะมีการประกาศก่อน และรัฐบาลก็ไม่ได้ไปเลิกอะไร

“ถ้ามีการทบทวนเวลาของการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินจะขยายกี่วันก็ตามทีก็ต้องปรับสู่ระบบเดียวกัน ให้หมดเวลาเลิกก็จะได้เลิกเหมือนกันผ่อนก็จะผ่อนคล้ายกัน” นายวิษณุกล่าว

Advertisement

เมื่อถามถึงเหตุการณ์การกระทบกระทั่งระหว่างหน่วยงานราชการ เช่น กรณี จ.ส.อ.พีรศักดิ์ จำปา กับผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง นายวิษณุกล่าวว่า “มีการพูดถึงแต่ไม่ได้ถึงขนาดเป็นเรื่องใหญ่ เป็นการพูดนอกรอบผ่านไมค์ให้ได้ยิน แล้วให้ปลัดกระทรวงมหาดไทยและผู้บัญชาการทหารสูงสุดไปช่วยดูในเรื่องนี้ เพราะในความเป็นจริงการขนส่งสินค้าสามารถทำในระหว่างเคอร์ฟิวได้อยู่แล้ว แต่บังเอิญเรื่องนี้มี 3 ประเด็นซ้อนขึ้นมา จึงทำให้เจ้าหน้าที่ลำบากใจ 3 ประเด็นคือ 1.เป็นการขนส่งในเวลาเคอร์ฟิว 2.เป็นการขนส่งข้ามจังหวัดจากพัทลุงไปตรัง และ 3.ปรากฏว่าไม่ได้เป็นการขนส่งสินค้าในความหมายที่เราเข้าใจ แต่เป็นการเอาเครื่องแกงเครื่องเทศอะไรต่อมิอะไรขนขึ้นไป มันไม่ใช่ความหมายการขนส่งสินค้าที่ยกเว้น เช่น ขนปลากระป๋องเป็นพันไปส่งที่ห้างหรือตลาด แต่อันนี้มันไม่ใช่ และถามว่าปลายทางคือที่ไหนก็ไม่ชัดเจน ซึ่งนายกฯ ก็ได้สั่งการว่าควรมีการผ่อนผันผ่อนคลาย เพื่อให้พวกขนส่งช่วยจัดระเบียบและปรับให้เข้ากับหลักเกณฑ์ ให้เป็นระเบียบแบบแผน ไม่เช่นนั้นก็จะทำให้เกิดการแอบอ้างกันขึ้น”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image