‘สภาประชาชน’ จี้รัฐบาลเปิดแผนฟื้นเศรษฐกิจ หวั่นจลาจลเพราะความยากเข็ญ แนะทุกฝ่ายก้าวข้ามขั้วสี

‘สภาประชาชน’ จี้รัฐบาลเปิดแผนฟื้นเศรษฐกิจ หวั่นจลาจลเพราะความยากเข็ญ แนะทุกฝ่ายก้าวข้ามขั้วสี

สภาประชาชน – เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม สภาที่ 3 หรือสภาประชาชน ซึ่งเป็นการรวมตัวของภาคส่วนต่างๆ เพื่อประโยชน์สาธารณะ ออกแถลงการณ์ เรื่อง ข้อเสนอต่อรัฐบาลในการจัดการเศรษฐกิจพื้นฐานและบริการสาธารณะแก่ประชาชน ดังนี้

สภาที่ 3 ขอชื่นชมบุคลากรทางการแพทย์ทุกฝ่ายที่สามารถควบคุมโรคระบาดไวรัส โควิด-19 โดยเฉพาะกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค แพทย์ชนบท และ อสม. ซึ่งประเทศไทยได้วางโครงสร้างระบบสาธารณสุขที่เข้มแข็งมาอย่างยาวนาน จนได้รับการยอมรับจากนานาประเทศทั่วโลก ถือว่ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้รับประโยชน์และเดินมาถูกทาง แต่ที่ต้องระวังคือ มาตราการฉุกเฉินล็อคดาวน์ที่เกินความจำเป็น ไม่เช่นนั้น จะทำให้เศรษฐกิจซึ่งเสียหายอยู่แล้ว ไม่สามารถฟื้นฟูเยียวยากลับมาได้อีก และการที่มาตรการเยียวยาซึ่งยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ ทำให้ประชาชนลำบากยากเข็ญต่อการใช้ชีวิตประจำวันเพราะไม่มีเงินไม่มีงานทำ อาจจะนำไปสู่เหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า คือ การจลาจล ภาวะเศรษฐกิจฝืดเคืองและประชาชนที่อดอยาก

สิ่งที่รัฐบาลพึ่งสังวรระมัดระวังคือ การที่รัฐบาลจำเป็นต้องกู้เงินจำนวนมหาศาลเพื่อแก้ปัญหาทั้งในช่วงวิกฤตและเพื่อการฟื้นฟู ซึ่งภาระดังกล่าวจะตกอยู่แก่ประชาชนไปอีกนาน โดยเฉพาะจะเป็นภาระหนักแก่คนรุ่นใหม่ ดังนั้น รัฐบาลจะต้องไม่ก่อภาระเฉพาะในด้านหนี้สินให้แก่ประชาชน แต่จะต้องสร้างโอกาสให้ประชาชนในด้านหารายได้ในอนาคตด้วย

ทั้งนี้ ขอให้การกู้เงินของรัฐบาล ควรนำมาใช้เพื่อประโยชน์ของประชาชนที่กำลังเดือดร้อนจากภาวะอดอยาก ไม่ใช่เพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มทุนผูกขาดใดๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจตัดสินใช้งบประมาณ 4 แสนล้านบาทอุ้มกองทุนตราสารหนี้ของเอกชนที่ครบกำหนดและไม่มีปัญญาจ่ายคืนเมื่อครบกำหนด และกองทุนตราสารหนี้ที่ด้อยคุณภาพ ทั้งที่กลุ่มทุนมีกองทุนและงบประมาณช่วยเหลือตนเองอยู่แล้ว ซึ่งเป็นการอุ้มคนรวยฉกฉวยเงินแผ่นดินในภาวะวิกฤตและจะเป็นภาระหนี้ของลูกหลานในอนาคตหลังจากโรคระบาดไวร้ส

Advertisement

สภาที่ 3 ขอเรียกร้องให้รัฐบาลกำหนดแนวทางฟื้นฟูเศรษฐกิจให้ชัดเจนและเปิดเผยแก่ประชาชนได้แล้ว เพื่อทุกฝ่ายจะใช้เตรียมการ โดยจะต้องวางทิศทางเศรษฐกิจให้สอดคล้องกับพลวัตโลก แต่ในขณะเดียวกันต้องไม่มีการคอร์รัปชัjน วิกฤตโควิดจะทำให้ภาวะเศรษฐกิจในระยะสองปีข้างหน้าอ่อนลงมาก เนื่องจากพฤติกรรมมนุษย์ที่เปลี่ยนแปลงจะกระทบธุรกิจด้านบริการ การท่องเที่ยว และการก่อสร้าง ในขณะเดียวกัน ประชาชนทั่วโลกจะออมเงินมากขึ้นใช้จ่ายน้อยลง ดังนั้น กำลังซื้อที่ลดลงทั่วโลกจะกระทบตลาดส่งออกด้วย

จากสถานการณ์ดังกล่าวประชาชนระดับรากหญ้าจะเดือดร้อนมากที่สุด เพราะไม่สามารถจะใช้เทคโนโลยีแก้ปัญหาได้เหมือนกลุ่มอื่น รัฐบาลจึงต้องให้ลำดับความสำคัญแก่นโยบายฟื้นฟูอนาคตสำหรับกลุ่มนี้ สำหรับชุมชน สำหรับท้องถิ่น และผู้ประกอบการขนาดกลาง ก่อนการช่วยเหลือธุรกิจขนาดใหญ่ หรือการให้กลุ่มทุนใหญ่มามีส่วนในการกำหนดนโยบายสาธารณะ

โดยเฉพาะการใช้อำนาจเข้าไปดูแลควบคุมสินค้าอุปโภคบริโภคและสาธารณูบโภคพื้นฐานเพื่อบริการสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็น ไฟฟ้า ประปา พลังงาน น้ำมันและโทรศัพท์ โดยการลดสัดส่วนการผูกขาดของเอกชน ในการผลิดไฟฟ้า ประปา ฯลฯ ซึ่งนำมาสู่การแสวงหากำไรจากค่าน้ำค่าไฟที่แพงขึ้นและไร้การควบคุม เนื่องจากรัฐเคยทำสัญญาประกันรายได้ให้นายทุนในการผลิตไฟฟ้าให้ กฟผ. และไปลดการผลิดของ กฟผ.เพื่อเอื้อประโยชน์ให้นายทุนได้กำไรจากสาธารณูปโภคพื้นฐานจนติดอันดับมหาเศรษฐกิจของไทย ซึ่งเรื่องดังกล่าวขัดกับรัฐธรรมนูญและเป็นสัญญาที่ไม่เป็นธรรม แทนที่รัฐบาลจะประกันรายได้ให้คนยากจน การลดส่วนส่วนเอกชนเพิ่มสัดส่วนของรัฐจะทำให้ประเทศไทยมีความมั่นคงเรื่องสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานมากขึ้น แทนการให้กลุ่มทุนผูกขาดประเทศไทยได้้ผลประโยชน์และกำไรในภาวะวิกฤติ

Advertisement

สภาที่ 3 เห็นด้วยกับการที่รัฐบาลจะใช้เงินกู้ในสัดส่วนอีก 4 แสนล้านบาทเพื่อทำให้คนมีงานทำและมีรายได้ โดยเน้นกิจกรรมท้องถิ่น หรือชุมชน ทั้งการเกษตร เรื่องแหล่งน้ำ และโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อท้องถิ่น แต่การที่รัฐบาลไม่จริงใจต่อการกระจายอำนาจไปท้องถิ่นและชุมชนอย่างแท้จริง ทำให้นอกจากจะเป็นการเปิดช่องให้นักการเมืองเข้าไปแทรกแซงชี้นำโครงการเพื่อประโยชน์ส่วนตนดังที่เกิดขึ้นในอดีตแล้ว ยังจะเปิดช่องทุจริตคอร์รัปชันอย่างมโหฬารอีกด้วย เนื่องจากเป็นการใช้เงินในรูปแบบพระราชกำหนดซึ่งอยู่นอกกรอบการกำกับตรวจสอบของระบบงบประมาณ เรื่องนี้จึงเป็นอันตรายแก่ประเทศชาติและประชาชน

สภาที่ 3 จึงเรียกร้องให้รัฐบาลกำหนดแนวทางฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ชัดเจน และให้ชี้แจงวิธีการที่จะกำกับควบคุมการใช้เงินให้รัดกุม เพราะหนี้จำนวนมหาศาลเช่นนี้ ถ้าหากใช้โดยไม่เกิดประโยชน์สูงสุด หรือถ้าหากมีทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวง ก็จะเป็นบ่วงเชือกที่คล้องคอประชาชนและคนรุ่นใหม่ไปอีกนาน ในขณะที่โอกาสความก้าวหน้าในชีวิตไม่ดีขึ้นเท่าเทียมกัน

“ที่ผ่านมา เราได้ยินแต่เสียงดนตรี แต่มันไม่มีเนื้อเพลง บัดนี้ ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลจะชี้นำ ทำให้ประชาชนมีความหวังข้างหน้า ถึงเวลาแล้วที่จะบรรยายทางเดินอนาคต เพราะในการศึกครั้งนี้ ข้าศึกอ่านหนังสือไม่ออก รัฐบาลจึงไม่ต้องกังวลว่าแผนการฟื้นฟูอนาคตของชาติจะรั่วไหล ท่านสามารถชี้แจงบอกประชาชนได้อย่างเต็มที่”

สภาที่ 3 ขอย้ำว่า สังคมไทยมีความจำเป็นเร่งด่วน ที่จะต้องหาวิธีจัดการให้ประชาชนเข้าใจและเชื่อมั่นในมาตรการฟื้นฟู โดยต้องรื้อยกเลิกความขัดแย้งที่มีมานานกว่าสิบปี แล้วทุกฝ่ายร่วมมือกันในศักราชใหม่ เพื่อกำหนดแนวทางร่วมกันในการฟื้นฟู ให้ตรงกับความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง และกำหนดวิธีการตรวจสอบการใช้เงินให้เป็นที่มั่นใจ รวมไปถึงการปฏิรูปสังคมเพื่อกระจายโอกาสเริ่มต้นที่ดีขึ้นแก่ประชาชน จึงเห็นว่าพลเอกประยุทธ์ซึ่งเดิมควรจะเป็นผู้ลดความขัดแย้ง แต่กลับลงไปเป็นคู่ขัดแย้งเสียเอง จำเป็นจะต้องปรับแนวทางการบริหารราชการแผ่นดินอย่างเร่งด่วน
โดยเฉพาะการแสวงหาความร่วมมือจากทุกฝ่ายก้าวข้ามขั้วและสี ก้าวข้ามรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน โดยถือหลักการวิกฤติเป็นโอกาส ไม่ใช่วิกฤติซ้อนวิกฤติแบบที่เป็นอยู่

ทั้งนี้ การกระทำการดังกล่าวจะปรากฎเป็นจริงได้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องก้าวข้ามพรรคพวกและวาระทางการเมือง ไม่เช่นนั้นหลังโควิดสังคมการเมืองก็จะเดินเข้าสู่วิกฤติการณ์ทางการเมืองที่อาจหนักหน่วงและไม่แตกต่างเท่าใดนักกับวิฤตการณ์โควิดที่เรากำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image