“โรม” หวั่น รัฐบาลให้กอ.รมน.ทำโพล หวังใช้เป็นข้ออ้าง คงพ.ร.ก.ฉุกเฉินต่อ

รังสิมันต์ โรม ส.ส.พรรคก้าวไกล หวั่น รัฐบาลให้กอ.รมน.ทำโพล หวังใช้เป็นข้ออ้าง คงพ.ร.ก.ฉุกเฉินต่อ

เมื่อวันที่ 11 พ.ค. นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.พรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊ก แสดงความเห็นเรื่อง โพล กอ.รมน. เพื่อถามความเห็นประชาชน หรือเพื่ออ้างใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินต่อไป? ระบุว่า

จากข่าวที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า ศบค. สั่งการให้ กอ.รมน. เตรียมจัดทำโพลสำรวจความคิดเห็นประชาชนว่าสมควรยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 หรือไม่นั้น

ผมอ่านข่าวแล้วก็ได้แต่สงสัย สงสัยว่าแล้ว ศบค. ไม่มีข้อมูลที่ใช้ประกอบการตัดสินใจเลยหรือว่าสมควรเลิกใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินแล้วหรือยัง?

เราต้องระลึกอยู่เสมอว่าการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินนั้นเป็นการบังคับใช้ “สภาวะยกเว้น” ที่ซึ่งการใช้สิทธิเสรีภาพถูกจำกัดลง การดำเนินชีวิตตามปรกติถูกรบกวนหรือสกัดขัดขวาง ความเดือดร้อนเสียหายย่อมเกิดกับผู้คนไม่มากก็น้อย ประชาชนไม่สมควรอยู่ภายใต้สภาวะเช่นนี้ตลอดไปหรือยาวนานเกินความจำเป็น เราจึงควรกลับสู่สภาวะปรกติโดยเร็วที่สุดเมื่อเหตุของสภาวะยกเว้นได้หมดไปแล้ว

Advertisement

ซึ่งสิ่งที่จะชี้ให้เห็นว่าเหตุของสภาวะยกเว้นยังมีอยู่หรือไม่ก็คือข้อมูล ในที่นี้หมายถึงข้อมูลเกี่ยวกับการระบาดของไวรัส COVID-19 ภายในประเทศ ที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อตามแถลงของ ศบค. ตลอด 1 เดือนที่ผ่านมาอยู่ในระดับที่ต่ำ โดยเฉพาะ 2 สัปดาห์หลังสุดมีเพียง 2 วันที่ยอดผู้ติดเชื้อรายวันถึงหลักสิบแต่ก็ไม่เกิน 20 คน ในแง่พื้นที่ล่าสุดก็มีถึง 55 จังหวัดที่ไม่เคยพบผู้ติดเชื้อหรือไม่พบมาแล้ว 28 วัน ข้อมูลเหล่านี้ล้วนชี้ว่าสถานการณ์การระบาดในประเทศไทยอยู่ในเกณฑ์ที่ควบคุมได้ด้วยศักยภาพของระบบสาธารณสุขไทยและความทุ่มเทของเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ทุกท่าน

และในขณะที่ ศบค. แถลงข้อมูลเหล่านี้ออกมาด้วยความภาคภูมิใจ (พร้อมกับย้ำตลอดว่าการ์ดอย่าตกๆ) ศบค. ได้เคยเก็บข้อมูลอีกด้านหนึ่งมาพิจารณาบ้างหรือไม่ว่ามีผู้ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเป็นจำนวนเท่าไร มีร้านค้าต้องปิดตัวกี่ร้าน? มีคนต้องตกงานกี่คน? มีเงินเหลืออยู่ในกระเป๋าชาวบ้านโดยเฉลี่ยกี่บาท? มีการฆ่าตัวตายเพราะพิษเศรษฐกิจแล้วกี่ราย? และจะต้องมีผู้ได้รับความเสียหายอีกกี่คนอีกกี่บาทหากรัฐบาลยังดึงดันที่จะใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินต่อไป?

มากไปกว่านั้น ผมยังสงสัยอีกว่าทำไมเจ้าภาพในการทำโพลต้องเป็น กอ.รมน.? ทำไมหน่วยงานที่รับภารกิจปฏิบัติการมวลชนเพื่อตอบสนองเป้าหมายของกองทัพจึงสมควรได้รับความไว้วางใจให้เป็นผู้รวบรวมความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อเรื่อง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน?

Advertisement

สุดท้ายแล้วโพลนี้จะเป็นเพียงสิ่งที่รัฐบาลจะใช้อ้างเพื่อคง พ.ร.ก.ฉุกเฉินไว้ต่อไป ใช่หรือไม่?

สุดท้ายแล้วที่ยังต้องใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินต่อไป ไม่ใช่ด้วยเหตุผลด้านการควบคุมโรคเป็นหลัก แต่เพราะกลัวการรำลึกเหตุการณ์ทางการเมืองช่วงเดือนพฤษภาคม กลัวรอยร้าวภายในพรรคของตัวเอง กลัวกระแส Mob From Home จะเติบโตจนเกินการควบคุม ใช่หรือไม่?

ผมเห็นว่ารัฐบาลจะต้องพิจารณายกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินได้แล้ว แม้การกลับสู่สภาวะปรกติโดยสมบูรณ์จะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่หากไม่รีบทำเสียแต่เนิ่นๆ ความเสียหายจะยิ่งหนักขึ้นไปอีก และแม้ว่าจะไม่มี พ.ร.ก.ฉุกเฉินแล้ว แต่มาตรการควบคุมโรคก็ยังสามารถดำเนินต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นการคัดกรองผู้เข้าออกประเทศโดยละเอียด การพัฒนาระบบติดตามและเฝ้าระวัง หรือการตรวจเชิงรุกที่พยายามทำกันอยู่ เหล่านี้สามารถทำได้หากรัฐบาลจริงจังมากพอ

และโปรดอย่าได้เอาการสำรวจความคิดเห็นมาใช้เป็นเครื่องมือเพื่อคงอำนาจของตัวเองไว้ต่อไป เพราะคนเขาดูออก การถามประชาชนว่าอยากอยู่ใต้สภาวะยกเว้นต่อไปหรือไม่ก็เหมือนกับถามประชาชนว่าอยากเป็นทาสต่อไปหรือไม่ อยากอยู่ใต้อำนาจเผด็จการต่อไปหรือไม่ เราไม่พึงถามประชาชนในคำถามเหล่านี้ เพราะเราต่างรู้กันดีว่าประชาชนไม่สมควรตกอยู่ในสภาพแบบนั้น หรือหากยังอยู่ก็ต้องหลุดพ้นออกมาโดยเร็วที่สุด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image