ร้องผู้ตรวจฯส่งศาลรธน.วินิจฉัยพ.ร.ก.กู้เงิน 4 แสนล้าน – พ.ร.ก.ฉุกเฉินขัดรธน.หรือไม่

“ศรีสุวรรณ” ร้องผู้ตรวจฯส่งศาลรธน.วินิจฉัยพ.ร.ก.กู้เงิน 4 แสนล้าน – พ.ร.ก.ฉุกเฉินขัดรธน.หรือไม่

เมื่อเวลา 10.30 น.วันที่ 25 พฤษภาคม ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เข้ายื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินขอให้พิจารณาและเสนอเรื่องพร้อมความเห็นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามาตรา 16 ของ พ.ร.ก.บริหารราชการสถานการณ์ฉุกเฉิน 2548 ที่กำหนดว่า ข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำตาม พ.ร.ก.นี้ไม่อยู่ในการบังคับของกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง และกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครอง และวิธีพิจารณาคดีปกครอง ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 197 หรือไม่ เนื่องจากเห็นว่า ตามพ.ร.ก.ให้อำนาจรัฐบาลในการออกข้อกำหนดจำนวนมากปัจจุบันมีการออกมามากว่า 7 ฉบับ และถ้ารวมคำสั่งของ ศบค.ด้านความมั่นคงก็ออกมาแล้วมากว่า 15 ฉบับ ส่วนใหญ่เป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน กระทบต่อการประกอบอาชีพ แต่ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบไม่สามารถใช้สิทธิโต้แย้งทางศาลได้ เพราะบทบัญญัติตามมาตรา16 จึงเป็นว่าเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ

นายศรีสุวรรณ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังขอให้เสนอศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การที่รัฐบาลอาศัยสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ออกพ.ร.ก.การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงิน และความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ.2563 โดยให้อำนาจธนาคารแห่งประเทศไทย กู้เงินไม่เกิน 4 แสนล้านบาท เพื่อมาซื้อตราสารหนี้ของภาคเอกชน ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 172 ประกอบมาตรา 140 หรือไม่ เนื่องจากเห็นว่า การซื้อขายตราสารหนี้ ผู้ชื้อย่อมรู้ดีอยู่แล้วว่า จะต้องมีเรื่องของการขาดทุนหรือกำไร และการลงทุนในตราสารหนี้มีทั้งคนไทยและคนต่างชาติ แต่รัฐบาลกลับให้ธนาคารแห่งประเทศไทยกู้เงิน 4 แสนบ้านบาท ไปซื้อตราสารหนี้ของภาคเอกชน ซึ่งล้วนก็เป็นบริษัทที่ร่ำรวย และอาจเปิดช่องให้ ธปท.เอื้อประโยชน์ต่อเอกชนบางรายได้ และยังมีการระบุว่าถ้าหาดขาดทุนอนุญาตให้กระทรวงการคลังเข้าไปอุดหนุนในวงเงินไม่เกิน 4 หมื่นล้านบาท ซึ่งเงินดังกล่าวเป็นเงินภาษีของประชาชน จึงเห็นว่าเป็นการใช้เงินอย่างไม่ถูกต้อง ประกอบกับรัฐธรรมนูญกำหนดเงื่อนไขของการออก พ.ร.ก.ว่า ต้องเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วน แต่กรณีนี้เป็นการมาซื้อตราสารหนี้ของเอกชน ที่เอกชนสามารถดำเนินการเองได้อยู่แล้ว รวมทั้งเห็นว่าถ้าออก พ.ร.ก.แม้จะต้องผ่านการพิจารณาของสภา ก็ทำได้เพียงแค่อภิปราย เห็นชอบหรือไม่ก็โหวตให้ตกไปทั้งฉบับหรือไม่เท่านั้น สภาไม่สามารถปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงเนื้อหาพ.ร.ก.ได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image