“รสนา” อัด ส.ว.ขาดประชุม ชี้ งานสภาเป็นงานศักดิ์สิทธิ์ ต้องซื่อตรงต่อประชาชน

เมื่อวันที่ 27 พ.ค. นางสาวรสนา โตสิตระกูล อดีตส.ว.และว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯกทม. โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊ก แสดงความเห็นเรื่อง การประชุมสภาเป็นงานศักดิ์สิทธิ์ของสมาชิกรัฐสภาที่แสดงความซื่อตรงต่อประชาชน อันไม่อาจละเมิดได้? ระบุว่า

ตามที่มีข่าวว่าสมาชิกวุฒิสภาขาดประชุมและไม่ได้มาลงมติจำนวนมากนั้น เป็นประเด็นที่เกิดขึ้นทั้งในรัฐสภา และวุฒิสภาทุกสมัย อยู่ที่ประธานในแต่ละสภา แต่ละสมัยจะมีความเข้มงวดในการปฏิบัติตามข้อบัญญัติในรัฐธรรมนูญหรือไม่

สมัยที่ดิฉันเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.)มีเช็คชื่อ และลงบันทึกว่าสมาชิกแต่ละคนขาดประชุมไม่ลงมติกี่ครั้งในแต่ละเดือน และมีการหักเงินเดือนเมื่อขาดการลงมติเกินจำนวนที่กำหนด ซึ่งไม่ทราบว่าข้อกำหนดดังกล่าวนำไปใช้กับสภานิติบัญญัติแห่งชาติในรัฐบาลยุคคสช.ด้วยหรือไม่

การเช็คชื่อสมาชิกที่ลงมติ ถือว่าเป็นการปฏิบัติตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ และการหักเงินเดือนของสมาชิกที่ขาดประชุมขาดการลงมติก็เป็นสิ่งที่เหมาะสม และเป็นธรรมต่อภาษีของประชาชน ใช่หรือไม่

Advertisement

รัฐธรรมนูญ 2560 ยังคงบทบัญญัติเรื่องการขาดประชุมของสมาชิกวุฒิสภาว่าต้องไม่เกิน 1ใน4 ของสมัยประชุม120วัน มิเช่นนั้นอาจทำให้ขาดสมาชิกภาพได้เลย
ดังที่บัญญัติไว้ดังนี้

มาตรา 111 สมาชิกภาพของสมาชิกวุฒิสภาสิ้นสุดลง เมื่อ

(๕) ขาดประชุมเกินจํานวนหนึ่งในสี่ของจํานวนวันประชุมในสมัยประชุมที่มีกําหนดเวลา ไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยยี่สิบวันโดยไม่ได้รับอนุญาตจากประธานวุฒิสภา

Advertisement

ประเด็นนี้มักมีข้อเลี่ยงได้คือการได้รับอนุญาตจากประธานวุฒิสภา หากเป็นสภาผู้แทนราษฎร ก็จะขึ้นอยู่กับประธานรัฐสภา ดังที่สมัยหนึ่งมีส.ส ที่ขาดประชุมและอ้างว่าประธานรัฐสภาให้สส.ลาประชุมเกิน1ใน4ของจำนวนวันประชุมเพื่อไปทำงานประชาธิปไตย(ขององค์กรจัดตั้งหนึ่ง?)ได้ เป็นต้น

ในกรณีของสมาชิกวุฒิสภาก็เช่นกัน หากขาดประชุมเกิน1 ใน4 ของสมัยประชุม ตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ 2560 ก็ต้องพ้นจากสมาชิกภาพนั้น แต่อาจจะมีข้ออ้างแบบเดียวกับกรณีของส.ส ยุคก่อนที่ขาดประชุมเกินจำนวน1ใน4ว่าได้รับอนุญาต จากประธานรัฐสภา

สำหรับดิฉันเห็นว่า สมาชิกรัฐสภาทั้งสองสภา ต้องปฏิบัติหน้าที่เข้าประชุมสภา ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญอย่างเคร่งครัด จะใช้อภิสิทธิ์ อิทธิพลหรือข้ออ้างอื่นใดมากลบเกลื่อนไม่ได้ เพราะนี่คือบรรทัดฐานที่สำคัญของรัฐสภา และเป็นการแสดงความซื่อตรงต่อประชาชนของสมาชิกรัฐสภา อันเป็นหนึ่งในจริยธรรมหลักของผู้นำบ้านเมืองในข้อ”อาชชวะ ความซื่อ ตรง(Integrity)คือ ความซื่อตรงทรงสัตย์ ไร้มารยา ปฏิบัติภารกิจโดยสุจริต มีความจริงใจ ไม่หลอกลวงประชาชน “ (คำอธิบายของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ปอ.ปยุตฺโต)

แต่อย่างไรก็ตาม การที่ประธานวุฒิสภาจะใช้อำนาจของตนเองอนุญาตให้ลานั้น ก็สมควรต้องพิจารณาให้พอเหมาะ พอสม ที่ไม่ขัดต่อหลักความซื่อตรงและความรู้สึกของวิญญูชน ใช่หรือไม่ !?

รสนา โตสิตระกูล
27 พ.ค 256โ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image